‘ชีวิตคนตัวเล็กในกระแสเปลี่ยนผ่าน’ ตีโจทย์การพัฒนาใหม่ เพราะไม่ควรมีใครต้องอยู่อย่างสิ้นหวัง

101 PUB

10 May 2024

จากพื้นที่ว่างเปล่ากลับกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม จากแม่น้ำที่เคยไหลผ่านกลายสภาพเป็นเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาที่เกิดจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทำให้ท้องถิ่นหลายแห่งเปลี่ยนสภาพไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม

ไม่มีใครปฏิเสธว่าประเทศต้องมีการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการพัฒนาในหลายๆ ครั้งนำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่นจำนวนมหาศาล พร้อมไปกับการเข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ดีขึ้นและการกระจายความเจริญออกจากหัวเมืองใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายครั้ง การพัฒนากลับพัดเอาความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ รวมถึงวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมที่เคยรุ่มรวยของท้องถิ่นให้เลือนหายไปภายใต้กระแสธารการเปลี่ยนผ่าน

คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่การพัฒนา แต่อยู่ที่ว่าฟากฝั่งนโยบายและภาครัฐได้หลงลืมใครไปหรือไม่ระหว่างการพัฒนา ตาข่ายทางสังคมที่เกิดขึ้นกว้างพอไหมในการโอบรับคนทุกคนเข้ามา

กล่าวให้ถึงที่สุด เป็นไปได้หรือไม่หากเราจะวางแนวนโยบายการพัฒนาที่ไม่ได้ถูกสั่งการมาจากหอคอยงาช้าง แต่เป็นการพัฒนาที่สามารถโอบอุ้มประชาชนทุกคน มองเห็นชีวิตและลมหายใจ รวมถึงตระหนักถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวของท้องถิ่นเสมอ

101 ชวนย้อนมองกระแสธารการพัฒนา ‘คน ชุมชน ท้องถิ่น’ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งหาแนวทางเพื่อมองไปข้างหน้า ว่าเราควรมีแนวนโยบายการพัฒนาอย่างไรในยุคกระแสเปลี่ยนผ่าน เพื่อร่วมวางแนวทางการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและครอบคลุมที่สุดอย่างแท้จริง ผ่านบทสนทนาจากผู้คนหลากหลายวงการ ประกอบด้วย เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Centre พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเก็บความจากงานเสวนา Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #10: ‘คน ชุมชน ท้องถิ่นในกระแสเปลี่ยนผ่าน’

งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สิบและเป็นเวทีสุดท้ายในซีรีส์เสวนาสาธารณะ Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ ซึ่งเป็นเวทีเสวนาสาธารณะที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากคนในแวดวงที่หลากหลาย เพื่อร่วมกำหนดโจทย์ใหม่ประเทศไทยและระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ จัดโดย 101 PUB และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ร่วมอ่านอดีตเพื่อพิจารณาอนาคต ทบทวนกระแสธารการพัฒนาใหม่ เพื่อจัดวางบทบาทและแนวทางการพัฒนาที่มุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนและครอบคลุมอย่างแท้จริง ในบรรทัดถัดจากนี้

การจะแก้ปัญหาให้ได้ควรมองไกลถึง ‘ทางเลือก’ ข้อเสนอเชิงนโยบาย – เดชรัต สุขกำเนิด

การพัฒนาท้องถิ่นเป็นหนึ่งในประเด็นที่พรรคการเมืองหรือฟากฝั่งนโยบายพยายามหยิบยกและนำเสนอมาโดยตลอด ทว่าในหลายครั้ง ข้อเสนอเชิงนโยบายกับความต้องการจริงๆ ของคนท้องถิ่นกลับไม่ค่อยสอดคล้องกัน หรือซ้ำร้ายคือไปกันคนละทางอย่างสิ้นเชิง

แต่ข้อค้นพบจากการลงพื้นที่ของ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Centre ชี้ให้เห็นว่า โจทย์ของคนท้องถิ่นกับโจทย์ในทางการเมือง รวมไปถึงโจทย์ในทางวิชาการ เป็นเรื่องที่ตรงกัน คือปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกิน หนี้สิน และแหล่งน้ำ

ดังนั้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่โจทย์ แต่อยู่ที่ทางออกของเรื่องนี้ ซึ่งเดชรัตชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในสองแง่มุมหลักๆ

ประเด็นแรก เดชรัตชี้ว่า คนมักคุ้นเคยกับ ‘ข้อเสนอ’ ทว่าไม่เริ่มต้นจากการพิจารณาทางเลือกที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เขายกตัวอย่างปัญหาคลาสสิกอย่างปัญหาหนี้สิน ที่พรรคการเมืองมักได้รับคำถามจากประชาชนเกี่ยวกับการมีนโยบายพักชำระหนี้ ทว่าเมื่อมองต่อไปว่าหากพักชำระหนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้

ประเด็นที่สอง คือสิ่งที่เดชรัตเรียกว่า ‘ข้อห้าม’ (taboo) กล่าวคือเป็นประเด็นที่หลายคนจะมองไปโดยปริยายว่า ห้ามพูด ห้ามกล่าวถึง โดยเขายกตัวอย่างเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก.[1]ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง หรือมีเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอกับการครองชีพ ที่กลายเป็นข้อห้ามในการพูดคุยเพราะจะถูกมองว่า เป็นการทำให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. หลุดไปเป็นของนายทุน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะทำให้โอนหรือกู้เงินไม่ได้ เท่ากับว่าเป็นการจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไปโดยปริยาย

อีกหนึ่ง ‘ข้อห้าม’ คือเรื่องหนี้สิน ที่ไม่ว่าจะมีนโยบายหรือข้อเสนอใดเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา ก็จะถูกมองว่าผูกโยงกับประชานิยมแทบจะทั้งหมด

“เรื่องเหล่านี้กลายเป็นโจทย์ที่แทบไม่เคยมีใครศึกษาหรือทำวิจัยอย่างจริงจัง เราไม่เคยดูเรื่องการเงินของพี่น้องชนบท ทำให้ตามไม่ทันและไม่สามารถให้คำตอบกับผู้เรียกร้องได้ อย่างเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. สรุปเรามีข้อมูลจริงๆ ไหมว่าที่ดินไปอยู่ที่ใคร ตรงไหน เพราะเราไม่มีสถิติหรือข้อมูลทางวิชาการที่จะชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงได้เลย”

เดชรัต สุขกำเนิด

อีกประเด็นที่น่าสนใจและควรค่าแก่การหยิบยกมาพูดคุยคือเรื่องการออกจากอาชีพเกษตรกร ในมุมของพรรคก้าวไกล เดชรัตชี้ว่า เกษตรกรควรออกจากการประกอบอาชีพเกษตรกรได้ นัยของแนวคิดนี้คือ เกษตรกรจะทำอาชีพนี้อยู่ได้ต่อเมื่ออาชีพนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีพอสำหรับเขา และหากไม่ดีพอ ก็จะต้องสามารถออกมาจากอาชีพเกษตรกรได้

“ถามว่าทำไมพี่น้องเกษตรกรถึงยังออกจากการประกอบอาชีพนี้ไม่ได้ เพราะเขาเป็นหนี้ไงครับ ยังไม่นับอีกว่าเรายังไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอและมีศักดิ์ศรีให้พวกเขาด้วย”

เดชรัตชี้ให้เห็นว่า เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่และข้อห้าม เสมือนว่าประเทศไทยต้องมีเกษตรกรไปตลอด อย่างไรก็ดี เกษตรกรที่อยู่ได้คือควรต้องอยู่รอด เปลี่ยนแปลงได้ และการที่เกษตรกรสามารถออกจากการประกอบอาชีพนี้ได้เท่ากับว่า พวกเขาสามารถเลือกพักผ่อนได้ เกษียณได้ เหมือนหลายๆ อาชีพที่เกษียณอายุงานที่ 60 ปี

“ในทางเศรษฐศาสตร์มีหลักการหนึ่งว่า การตกลงในระบบเศรษฐกิจจะเป็นธรรมและนำไปสู่กลไกตลาดที่ไม่เอาเปรียบกันก็ต่อเมื่อไม่มีอุปสรรคใน ‘การเข้าสู่ตลาด’ แต่เราคงลืมไปอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ควรมีอุปสรรคใน ‘การออกจากตลาด’ เช่นเดียวกัน”

“ผมเห็นด้วยนะว่า สุดท้ายถ้าไม่ไหวจริงๆ เกษตรกรก็จำเป็นต้องออกจากการประกอบอาชีพเกษตรกร แต่นั่นเป็นการออกเพราะยื้อจนถึงที่สุดแล้ว สำหรับผม นี่ไม่ใช่การตัดสินใจแบบที่ควรจะเป็น เราควรมีทางออกให้เขาได้ตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือไม่ ลองนึกภาพเกษตรกรที่อายุ 70 ปี ขาดทุนมาตลอด มีหนี้สะสม เขาควรเดินมาหาภาครัฐและบอกได้ว่า เขาจำเป็นต้องหยุดทำการเกษตร และเราควรมีทางเลือกให้เขามีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีพอยู่ต่อไปได้ พร้อมไปกับการเปิดทางให้ผู้ที่มีความพร้อมกว่าเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรมด้วย”

อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงคลาสสิกหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอคือ การมองว่าชาวบ้านมีความรู้จำกัดและไม่มีเหตุผลเท่ากับฝ่ายนโยบาย ซึ่งเดชรัตไม่เห็นด้วย ตัวเขามองว่าชาวบ้านมีเหตุผลแน่นอน แต่เป็นเหตุผลที่ตั้งอยู่บนข้อจำกัดบางอย่าง ชวนให้ฝ่ายวิชาการต้องหันกลับมาพิจารณาว่าตนเองทำงานดีเพียงพอหรือไม่ เพราะเหตุใดชาวบ้านจึงยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดเช่นนี้อยู่ เพราะการขาดผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่การที่ฝ่ายนโยบายไม่สามารถตัดสินใจหรือตอบสนองต่อข้อเรียกร้องใดได้อย่างทันท่วงทีเช่นกัน

แต่ถ้ามองไปถึงปลายน้ำอย่างการติดตามประเมินผลนโยบาย เดชรัตมองว่า น้ำหนักของการประเมินผลควรเทไปที่ฝ่ายการเมืองและฝ่ายประชาชนมากกว่า

“เรื่องบางเรื่องชัดเจน มีข้อมูลครบจนเราไม่ต้องการฝ่ายวิชาการเพิ่มเติมอีกแล้ว แต่เราต้องการฝ่ายการเมืองที่จะนำเสนอเรื่องนี้ในรัฐสภา และฝ่ายประชาสังคมที่จะช่วยรับลูกต่อ ถ้าพูดง่ายๆ คือเราต้องการ ‘อารมณ์ของสังคม’ มากกว่า”

ดังนั้น ถ้าให้กล่าวโดยสรุป เดชรัตมองว่าบทบาทของภาควิชาการ คือ การลงแรงกับประเด็นที่จะทำให้ทิศทางการพูดคุยถกเถียงในสังคมชัดเจนขึ้น เช่น เรื่องหนี้สิน ซึ่งคนเป็นหนี้มีหลายรูปแบบและต้องการทางออกไม่เหมือนกัน หรือการเข้าสู่อาชีพเกษตรกรที่แต่ละคนก็มีทิศทางไม่เหมือนกัน หน้าที่ของภาควิชาการจึงเป็นการเข้ามาเติมเต็มช่องว่าง ทำการศึกษาเพื่อจะนำไปสู่การถักทอออกแบบข้อเสนอทางนโยบายที่เหมาะสมและสอดรับกับคนทุกกลุ่ม (tailor-made)

เดชรัตยังให้ข้อมูลว่า แต่ก่อนมีการทำวิจัยแบบที่เป็นการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น และการทำงานวิจัยไทบ้าน (หรืองานวิจัยชาวบ้าน) ซึ่งเป็นงานที่ภาคประชาสังคมทำร่วมกับชุมชน ซึ่งงานสองส่วนนี้เคยเป็นกำลังสำคัญที่ดีมากสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น แต่ด้วยปัญหาการบริหารจัดการทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณที่ลดลงและระเบียบวิธีการบริหารจัดการ ซึ่งเดชรัตเสนอว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องควรทบทวนเพื่อจะได้มีงานวิจัยเพื่อชุมชน (community-based research) มากขึ้น

ในตอนท้าย เดชรัตตั้งข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ภาครัฐไทยมักมุ่งเน้นการพัฒนาโดยอิงจากพื้นที่ มากกว่าที่จะนำความรู้ในห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) เป็นตัวตั้งและพัฒนาตามอุปทานของโลก

“นี่เป็นบทบาทสำคัญของฝ่ายวิจัยว่า เราจะทำให้ฝ่ายนโยบายมองอะไรไกลกว่านั้นได้ไหม ซึ่งมันยากแหละ เพราะเราไม่ใช่แค่ต้องรู้ว่าจะทำเรื่องอะไร แต่ต้องรู้ด้วยว่าจะไม่ทำเรื่องอะไรเพราะเราสู้เขาไม่ได้หรือจะได้ส่วนต่างมาแค่นิดเดียว นี่คือสิ่งที่ฝ่ายนโยบายจำเป็นต้องได้ยินด้วย” เดชรัตทิ้งท้าย

‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ที่นโยบายของรัฐไทยไม่เคยยอมรับตัวตน – พชร คำชำนาญ

ถ้าให้สรุปการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สรุปด้วยประโยคที่ว่า “เป็นการทำงานเคลื่อนไหว ลงถนน ต่อรองในเชิงนโยบายกับภาคการเมืองและรัฐบาล โดยที่มีข้อจำกัดใหญ่คือรัฐราชการรวมศูนย์”

พชรฉายภาพการทำงานของตนเองให้ชัดขึ้นว่า เป็นการทำงานในพื้นที่ภาคเหนือกับเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่รวมตัวกันในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ขณะที่ในภาคใหญ่กว่านั้น เป็นการทำงานภายใต้ชื่อขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ พชรชี้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือมีวิธีการจัดการที่ดินแบบพิเศษ คือไม่ได้จัดการเชิงปัจเจกแบบที่เราคุ้นเคย แต่อยู่รวมกันเป็นชุมชนที่มีขอบเขตกว้างมาก คือมีทั้งพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน รวมถึงพื้นที่ป่าที่ถูกใช้ประโยชน์และใช้ในเชิงจิตวิญญาณ

“เราเห็นว่าพี่น้องในพื้นที่ป่าจะให้คุณค่ากับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเป็นหลัก มีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ พวกเขาทำไร่หมุนเวียนมาหลายทศวรรษ ซึ่งก็เห็นแล้วว่าทำให้พวกเขาอยู่ได้โดยมีความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากร”

ถ้าพูดให้ชัดกว่านั้น พชรชี้ว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้ให้คุณค่ากับพื้นที่ป่าและการบริโภคอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมาเองจากทรัพยากร ต้นทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของพวกเขา ทว่ากลับต้องเจอกับอคติทางชาติพันธุ์ รวมถึงกฎหมายและนโยบายของรัฐ บีบให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา[2]ระบบการผลิตที่ผลิตผลทางเกษตรจะเกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตหรือการบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกัน … Continue reading โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร ปี 2557

พชรเริ่มไล่เรียงย้อนให้เห็นภาพว่า ก่อนหน้านี้ พี่น้องชาติพันธุ์อยู่ในพื้นที่ป่ามาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีกฎหมายพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ระบุว่าป่าคือที่ดินที่ไม่มีใครได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเอกสิทธิ์ ตามมาด้วยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ตามมาด้วยกฎหมายอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามากมาย จนกระทั่งพื้นที่นี้แทบไม่ต่างจากพื้นที่ที่ถูกประกาศใช้กฎอัยการศึก

“เรามีพื้นที่แบบนี้ประมาณ 31% มีประชากร 10 ล้านคนกำลังเผชิญความเปราะบางและต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในทุกสมัย”

อย่างไรก็ดี พชรชี้ว่า รัฐมีความพยายามปรับตัวโดยการแก้กฎหมายหรือมาตรการบางอย่าง ทว่ายังอยู่บนความเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ คือเหมือนจะให้สิทธิบางอย่าง ก็ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เช่น กฎหมายที่เปิดช่องว่างให้ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าได้ แต่ต้องให้ชาวบ้านพิสูจน์สิทธิของตนเองก่อนและจำกัดให้อยู่ได้ 20 ปี

“ชาวบ้านจะเข้าไปในพื้นที่อย่างไร จะหาหลักฐานอย่างไร ในเมื่อราชการต้องการหลักฐานราชการเท่านั้นเพื่อพิสูจน์” พชรกล่าว “รัฐพยายามปรับก็จริง แต่ปรับบนฐานที่มองว่าที่ดินและทรัพยากรเป็นของรัฐ ไม่ควรให้ชุมชนเข้าไปมีสิทธิจัดการเต็มรูปแบบ และตราบใดที่เรายังแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้และยังมียุทธศาสตร์ชาติอยู่ พี่น้องกลุ่มนี้ก็ต้องเผชิญความเปราะบางแบบนี้ต่อไป”

พชร คำชำนาญ

สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนหรือการอนุรักษ์พื้นที่ป่า พชรมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงมายาคติ เพราะในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้มาอย่างยาวนาน พชรมองว่า เราไม่สามารถแยกมนุษย์ออกจากระบบนิเวศที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้

เช่นเดียวกับเดชรัต พชรชี้ว่า ปัญหาหลักๆ ที่ชาวบ้านต้องเจอคือเรื่องปัญหาหนี้สิน ที่ดิน และการทำเกษตรพันธสัญญา อีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ป่ายังถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายที่ไม่ยอมรับตัวตนของชาวบ้านที่อยู่อาศัย

“ชาวบ้านก็อยากพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ นะครับ เช่น การดูแลพื้นที่ การจัดการไฟป่า แต่เขากลับไม่มีสิทธิแม้แต่จะฝันว่าเขาจะอยู่ในชุมชนแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร”

“ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เขาไม่สามารถคิดฝันได้ด้วยซ้ำว่าจะหลุดออกจากปัญหาที่สั่งสมและต่อสู้กันมาหลายชั่วอายุคนได้อย่างไร”

พชรชี้ว่า ปัจจุบันนี้ การที่รัฐกับทุนผสานจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะจินตนาการถึงได้ เพราะนโยบายส่วนใหญ่จะออกมาโดยตอบโจทย์กลุ่มทุน และไม่ได้ตอบโจทย์ความยั่งยืนใดๆ เหมือนที่มีการขายฝัน

“การผลักดันนโยบาย BCG หรือคาร์บอนเครดิตเป็นการเอื้อกลุ่มทุนชัดเจน เพราะทุนไม่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอน ดังนั้นเขาเลยแค่มาทำโครงการกับหน่วยงานรัฐก็พอ สิ่งที่เกิดตามมาคือ เขามายึดพื้นที่ชาวบ้าน ยังไม่นับเรื่องที่รัฐไม่เคยออกมาตรการใดๆ เพื่อจัดการหรือเอาผิดกับทุนที่ก่อให้เกิดปัญหาแถบชายแดนหรือฝุ่นควันข้ามพรมแดนเลย”

เมื่อขยับมาที่ภาคการวิจัย พชรชี้ว่า นี่ก็อาจไม่ใช่คำตอบเช่นกัน เพราะงานวิจัยปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐ เช่น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่งานวิจัยจะถูกออกแบบมาเป็น top-down ไม่สอดคล้องกับพื้นที่หรือชุมชน

เมื่อถามถึงโลกในอุดมคติ พชรกล่าวว่า โลกในอุดมคติสำหรับเขาคือการไม่อยู่ในสังคมที่มีกลิ่นอายของ คสช. แฝงฝังอยู่ในทุกอย่าง

“เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ทำไมไทยต้องมีพื้นที่ป่าถึง 40% และพื้นที่ป่านั้นก็ไปกระจุกตัวบนพื้นที่ที่มีชาวบ้านอยู่มาก่อน พื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นที่ทำกินของชาวบ้านมาก่อน แล้วทำไมเขากลับกลายเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะถูกทวงคืนพื้นที่ป่า ถูกยึดที่ดิน ทั้งที่มีพื้นที่อีกมากมายที่ไม่มีการสร้างพื้นที่สีเขียวเลย”

พชรทิ้งท้ายว่า ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทุกหน่วยงานล้วนโฟกัสที่องค์ความรู้ของตนเองมากเกินไป โดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การจะทำความเข้าใจประเด็นนี้ต้องอาศัยแนวคิดทางสังคมศาสตร์ เช่น ปรัชญา สังคมวิทยา หรือมานุษยวิทยาด้วย จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าเราจะงานวิจัยหรือมีแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

โครงการพัฒนาจากรัฐราชการรวมศูนย์มีหัวใจสำคัญคือ การทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน – สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

หากประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือของพชรทำให้เห็นการต่อสู้กับระบบรัฐราชการรวมศูนย์ การต่อสู้ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมาของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ก็ทำให้เห็นสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘หายนะของชุมชน’

ถ้าให้ไล่เรียงเรื่องราวการต่อสู้อันยาวนานของจะนะ สุภัทรชี้ว่า ในช่วงทศวรรษแรก ชาวบ้านจะนะสู้ด้วยชุดความคิดแบบ ‘สงครามป้อมพ่าย’ คือตั้งค่ายตรงบริเวณที่จะสร้างท่อแก๊สไทย-มาเลเซีย และนิคมอุตสาหกรรม มีประตูป้อม การจะผ่านเข้าออกต้องขออนุญาตจากชาวบ้าน แต่จบลงด้วยการที่ชาวบ้านโดนปราบปราม โดนจับติดคุกและถูกดำเนินคดี

ทศวรรษต่อมา มีโครงการท่าเรือน้ำลึกและโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นที่สงขลากับสตูล ชาวบ้านก็เปลี่ยนมาใช้ทฤษฎีเครือข่าย คือรวมตัวกันเป็นเครือข่าย 3-4 กลุ่มที่สำคัญ ประกอบกับช่วงนั้นมีการรวมตัวกันประท้วงคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (สงขลา) และที่กระบี่ ทำให้เกิดเป็นพันธมิตรปกป้องภาคใต้จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โดยใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยขับเคลื่อน

ยุคต่อมาคือการทำสงครามกับรัฐโดยใช้กระแสสังคมและโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ขณะที่การเรียกร้องเพื่อจะนะก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เกิดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วย เพื่อสะท้อนภาพของจะนะให้ทุกคนเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ทว่าจากการต่อสู้ที่ยาวนานและเข้มแข็งเช่นนี้ สุภัทรสรุปว่า การต่อสู้อันยาวของจะนะเป็นแค่การ ‘ยัน’ ไว้เท่านั้น และไม่รู้จะสู้ได้อีกนานเท่าไร

เช่นเดียวกับพชร สุภัทรชี้ว่า โครงการพัฒนาทั้งหมดในตอนนี้คือโครงการจากรัฐราชการรวมศูนย์ที่มีหัวใจสำคัญคือการทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน คลองทุกคลองในพัทลุงกำลังจะถูกลอกตลิ่งเพราะเกะกะ ทำให้คลองเป็นคูระบายน้ำท่วม สองข้างทางปูลาดยางให้รถยนต์สัญจรได้ ที่นาจะถูกสูบน้ำ ภูเขาจะถูกระเบิดมาทำหิน ชายหาดถูกทำกำแพงกั้นคลื่น และทั้งสายน้ำและทะเลก็เสื่อมโทรมไปตามลำดับ

“พื้นที่ไหนพอเข้มแข็งก็จะยังยันไว้ได้ พื้นที่ไหนอ่อนแอก็พ่ายแพ้ไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมบอกเลยว่าประเทศเข้าสู่ทิศทางหายนะ”

สำหรับสุภัทร สิ่งที่เขาคาดหวังจากภาครัฐคือความเป็นกลาง เพราะในปัจจุบัน รัฐคล้ายจะเป็นผู้กรุยทางให้เอกชนหรือผู้รับเหมาลงมือสร้างทุกอย่างให้เป็นคอนกรีต หรือที่เขาเรียกว่าเป็นการพัฒนาแบบคอนกรีตนิยม ที่สำคัญคือรัฐทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น จัดให้รับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนตามกระบวนการ ทว่าอาจไม่ได้ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาแบบที่ควรจะเป็น

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

นอกจากนี้ สุภัทรยังมองว่าความเป็นชุมชนอ่อนแอลงเพราะสภาพสังคม กล่าวคือคนรุ่นใหม่ทำงานนอกบ้านทำให้วิถีการคัดค้านรัฐเปลี่ยนไป จะลงถนนและชุมนุมยืดเยื้อเหมือนเมื่อก่อนคงเป็นไปได้ยาก นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่าเราจะขับเคลื่อนคนในสังคมอย่างไรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

“เราสู้กันหนักมากในภาคใต้ แต่ทุกปัญหาสิ่งแวดล้อมมีนักวิจัยหรือนักวิชาการลงมาช่วยชาวบ้านน้อยมากๆ เหมือนมหาวิทยาลัยตายแล้ว ไม่งั้นก็อยู่แต่ในรั้วของตัวเอง ซึ่งชาวบ้านต้องการนักวิชาการมากนะครับ”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สุภัทรขยายความว่า พื้นที่ต้องการนักวิชาการที่พร้อมจะลงไปร่วมปฏิบัติการในพื้นที่ชาวบ้านเพื่อตอบโจทย์ที่อยู่ในพื้นที่ และเป็นโจทย์ที่ตอบสนองกับความต้องการจริงๆ ของพื้นที่ด้วย

“คนอาจมองว่า ชาวบ้านและชุมชนกลายเป็นพวกคัดค้านการพัฒนา แต่ประเด็นสำคัญคือ ข้อคัดค้านของชุมชนคืออะไรต่างหาก และการจะได้ข้อมูลตรงนี้มาควรมาจากงานวิจัย เพราะมันจะเป็นข้อมูลที่แข็งแรง ไม่ใช่แค่ข้อเสนอจากลมปากแบบที่ไม่มีน้ำหนัก งานวิจัยจึงมีความหมายในแง่ของการเสนอทางเลือกและทางออกให้การต่อสู้ของชาวบ้าน”

ในตอนท้าย สุภัทรกล่าวว่า “ผมไม่ปฏิเสธว่าชุมชนเมืองจะเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะดำรงชุมชนชนบทอย่างไรให้เขาสามารถรักษาสภาพแวดล้อมไว้ให้ได้มากที่สุด ไม่งั้นเราจะเจออากาศที่ร้อนต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ เพราะเราตัดต้นไม้ ทำลายป่า สร้างอะไรมากมาย เราจะออกแบบให้พื้นที่ชนบทเป็นพื้นที่สภาพแวดล้อม เป็นพื้นที่เยียวยาในทุกจังหวะชีวิตของคนได้หรือไม่”

“ผมว่าเราออกแบบสังคมเช่นนี้ได้ ไม่ต้องทำให้ชนบทเป็นแหล่งผลิต GDP เสมอไป ไม่งั้นจะหายนะกันหมด”

นโยบายที่ยั่งยืนคือนโยบายที่เห็นหัวประชาชน – กนกวรรณ มะโนรมย์

“ภาคอีสานถูกมองว่าเป็นภาคที่ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจแทบจะที่สุด แล้ง จน และด้อยการศึกษามากที่สุด และในกระแสธารการพัฒนาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาพมายาคติเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนเลยในมุมมองของภาครัฐ”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สะท้อนว่าด้วยภาพมายาคติเหล่านี้เอง ทำให้ภาครัฐพยายามที่จะเปลี่ยนภาคอีสานให้เป็นภาคที่พัฒนาแล้วผ่านโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างเขื่อน หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ที่ปักหมุดลงตรงพื้นที่ชายแดน เนื่องจากมองว่าชายแดนเป็นพื้นที่ที่ล้าหลัง

“ภาครัฐมองว่าต้องทำให้ชายแดนมีรายได้ มีการจ้างงาน โดยดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุน เพราะทุนกับรัฐแต่งงานกันโดยไม่มีการหย่าร้างตลอดหกสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐเข้าไปจัดหาที่ดินเพื่อยกให้เอกชนแบบยกเว้นภาษี”

ในโครงการมากมายที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด กนกวรรณชี้ว่ารัฐมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของความสัมพันธ์ และการสร้างเขตเศรษฐกิจก็เป็นการแยกคนออกจากที่ดิน ถ้าพูดให้ถึงที่สุด รัฐมองธรรมชาติว่าเป็นสิ่งราคาถูก จะทำอะไรหรือใช้ประโยชน์เท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงคุณค่ามหาศาลของธรรมชาติทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึก และวัฒนธรรม

แม้หลายคนอาจถกเถียงได้ว่า การพัฒนาโครงการต่างๆ เป็นไปเพื่อการกระจายความเจริญออกจากเมืองใหญ่ แต่สำหรับกนกวรรณ หากนโยบายเหล่านั้นไม่เห็นหัวคนในท้องถิ่น หรือมองไม่เห็นมนุษย์ที่อยู่ในนั้น ก็ไม่สมควรจะมีนโยบายเช่นนี้

“นโยบายควรเกิดขึ้นจากความต้องการของพื้นที่ ไม่ใช่สั่งลงมาจากเมืองหลวงโดยไม่เคยถามความเห็นของประชาชน ไม่เคยมองว่าพวกเขามีเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความสัมพันธ์กับทรัพยากรของตนเองอย่างไร” กนกวรรณกล่าว

“คนอีสานไม่ได้อยู่แบบมนุษย์ถ้ำ แต่พวกเขามีเศรษฐกิจที่ผูกพันกับทรัพยากรและนอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างเยอะ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย

“เราควรมีนโยบายที่เห็นหัวประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย จึงจะนำไปสู่นโยบายที่ยั่งยืนและสร้างความเป็นธรรมให้คนในพื้นที่จริงๆ”

รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์

ในฐานะอาจารย์ กนกวรรณชี้ว่า ยังมีช่องว่างในงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐ คน และชุมชนท้องถิ่นอยู่มาก กล่าวคือชุมชนและคนในท้องถิ่นมีความหลากหลาย ตั้งแต่คนรวยสุดไปจนถึงคนที่ยากจนแบบข้ามรุ่น ยังไม่นับกลุ่มผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ ที่โดนเลือกปฏิบัติมาตลอด และคนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการพัฒนาไม่เท่ากัน

“งานวิจัยที่มองข้ามความหลากหลายเหล่านี้จะทำให้เรามองเห็นคนเป็นภาพรวมเกินไป งานวิจัยจึงต้องมองมิติคนให้หลากหลายขึ้น เพราะคนไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน”

อีกประเด็นสำคัญคือ หลายคนกล่าวถึงการทำงานข้ามศาสตร์ ซึ่งกนกวรรณกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ เพราะงานวิจัยควรโอบรับคนในพื้นที่เข้ามาเพื่อหนุนเสริมองค์ความรู้ไปด้วยกัน รวมถึงมีงบประมาณมาช่วยหนุนเสริมด้วย

“เราต้องไม่ลืมว่ามีอะไรที่มีค่ามากกว่าเรื่องวัตถุ ยังมีสรรพสิ่งอีกมากที่มีคุณค่าเหมือนหรือเทียบเท่ากับมนุษย์ ทั้งภูเขา ป่าไม้ หรือแม้กระทั่งผีสาง ที่เป็นสถาบันทางสังคมหรือวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ ถ้าจะอนุรักษ์ธรรมชาติหรือเรียกร้องการพัฒนาที่คำนึงถึงความเป็นธรรมต่อคนหรือสิ่งแวดล้อมจริงๆ เราต้องไม่ลืมมิติเหล่านี้” กนกวรรณทิ้งท้าย

สร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐาน ถ่ายโอนอำนาจไปที่ชุมชน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม – ประภาส ปิ่นตบแต่ง

เพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาชัดขึ้น รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นการแบ่งการพัฒนาใหญ่ๆ ของไทยออกเป็น 3 ช่วง โดย ช่วงแรก คือยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือที่เราคุ้นเคยกับคำพูดติดปากที่ว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี”

และเมื่อมาถึง ช่วงที่สอง คือยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจน้ำมัน รัฐสะสมทุนด้วยการส่งออกพืชเชิงเดี่ยวไม่ได้ นำมาสู่ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม การส่งออกและเกิดเป็นโครงการขนาดใหญ่ขึ้นมา

และ ช่วงที่สาม คือหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ที่เกิดนโยบายทวงคืนผืนป่าจากพี่น้องชุมชนที่ใช้ป่าดำรงชีพมาโดยตลอด

ประภาสชี้ว่า ในช่วงแรกของการต่อสู้ ภาคการเมืองไม่เคยเห็นหัวชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเลือกใช้การเดินเท้าหรือเดินขบวนแทน อย่างไรก็ดี หากมองภาพใหญ่เชิงโครงสร้างการเมือง การต่อสู้เช่นนี้ทำให้เกิดการเมืองภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างกลไกต่างๆ มากมาย เช่น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฯ หรือแนวคิดการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน

“ถ้าดูดีๆ รัฐธรรมนูญปี 2540 ยังถ่ายโอนอำนาจลงไปที่ประชาชนและทำให้การเมืองเห็นหัวประชาชนบ้าง แต่หลังรัฐประหารรอบล่าสุด เราเปลี่ยนแปลงแบบถอยหลังไปกว่าเดิมเสียอีก สิ่งที่เคยมีหายไปในเชิงการเมืองและเชิงสถาบัน”

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ประภาสเห็นพ้องกับเดชรัตว่า ชาวบ้านหลายคนต้องออกจากภาคเกษตรกรเพราะอยู่ต่อไม่ได้ แต่ภาครัฐยังมองชีวิตผู้คนแบบหยุดนิ่ง กล่าวคือมองว่าพวกเขาเป็นเกษตรกร เป็นชาวนา ทำโครงการต่างๆ ลงไปมากมายโดยไม่ได้พิจารณาความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

“เรามีโครงการประกันราคาพืชผลประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ใช้เงินใช้งบมากมาย แต่ปรากฏว่า 85% เอาไปขายรวมกับข้าวเคมี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อุดหนุนให้ปลูกข้าวอินทรีย์แต่สุดท้ายก็เทขายรวมกลายเป็นนาเคมี แต่กระทรวงฯ ก็ยังคิดว่าเรามีนาล้านไร่อยู่เหมือนเดิม”

“ทำไมเราไม่ลองคิดถึงทรัพยากรที่จะนำมาสู่การลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ที่เราทำอยู่ตอนนี้เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือเป็นนโยบายเชิงสัญลักษณ์ (symbolic policy) เสียมากกว่า แล้วเราจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ หรือ” ประภาสกล่าว “ผมว่าเราควรทบทวนทั้งนโยบายและโจทย์วิจัย เพราะตอนนี้นโยบายสาธารณะดูแค่ผลผลิต (output) คือดูแค่คนเข้าร่วมกี่คน มีกิจกรรมอะไรบ้าง แต่ไม่เคยดูไปถึงผลลัพธ์ (outcome) และผลกระทบ (impact) คือการแก้ปัญหาความยากจน การสร้างรายได้ และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ”

อีกประเด็นหนึ่งคือการไม่มีการประเมินผลแบบจริงจัง ทำให้ไม่รู้ว่าการใช้ทรัพยากรหรือการเข้าถึงทรัพยากรเป็นอย่างไร หนึ่งในโจทย์วิจัยสำคัญที่ประภาสเสนอจึงเป็นการทำวิจัยเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ประภาสยังเสนอโจทย์วิจัยเพื่อให้เกิดชุดทางเลือกการพัฒนาอีกชุดและการวิจัยแบบข้ามพรมแดนที่จะสอดรับกับชุดอุดมการณ์แบบใหม่อย่างแนวคิดชุมชนนิยมหรือแนวคิดนิเวศสังคม รวมถึงงานวิจัยที่ทำความเข้าใจการบริหารจัดการหรือมองในมิติเศรษฐศาสตร์การเมือง ศึกษาผลกระทบในชุมชน เพื่อให้มองเห็นความเดือดร้อนและการต่อสู้ของชาวบ้าน อีกทั้งพัฒนาไปถึงการเสนอนวัตกรรมทางเลือกที่ทำให้คนอยู่กับป่าได้ โดยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและบรรเทาสภาวะโลกร้อนได้ไปพร้อมกัน

ในตอนท้าย ประภาสเสนอแนวความคิดว่า “ถ้าชาวบ้านจะตามทัน ผมว่าประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย” พร้อมทั้งขยายความว่า “ในช่วงปี 2540 เราเห็นว่าชาวบ้านยังเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ แต่หลังปี 2557 เป็นต้นมา เหมือนเราเข้าสู่ยุคมืดในด้านการเมือง ชาวบ้านตามไม่ทันและไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ”

“เราต้องสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐาน ถ่ายโอนอำนาจไปที่ชุมชน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เราต้องล้างมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย” ประภาสทิ้งท้าย

References
1 ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง หรือมีเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอกับการครองชีพ
2 ระบบการผลิตที่ผลิตผลทางเกษตรจะเกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตหรือการบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกัน ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกร โดยมีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิต

วิจัย/เขียน

101 PUB

บทความที่เกี่ยวข้อง

Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #10: ‘คน ชุมชน ท้องถิ่นในกระแสเปลี่ยนผ่าน’

สำรวจปัญหาและผลกระทบของนโยบายรัฐต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ชุมชน และท้องถิ่น ตั้งคำถามเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนา ทบทวนการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เพื่อจัดวางบทบาทและแนวทางการปรับตัวของผู้คน ชุมชน และท้องถิ่นในศตวรรษที่ 21

12 April 2024

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.