ดิจิทัลแบบใด? แกะไส้ในงบประมาณตามแผนดิจิทัล

วิถีชีวิตประจำวันของใครหลายคนทุกวันนี้อาจเรียกได้ว่าแทบจะ ‘ครบและจบ’ ด้วยสมาร์ตโฟน ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมการเงิน ที่หลายคนแทบไม่ได้ใช้เงินสดอีกต่อไป การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการติดต่อกับผู้คนหรือติดตามข่าวสาร รวมไปถึงการค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ก็มักทำบนโลกออนไลน์ หรือหากพูดอีกอย่างหนึ่ง อาจบอกได้ว่า ‘โลกดิจิทัล’ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยหลายคนเรียบร้อยแล้ว

แต่ภายใต้โลกดิจิทัลนี้ ก็ใช่ว่าคนไทยทุกคนจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะประชาชนจำนวนมากก็ยังตกหล่นเข้าไม่ถึงบริการดิจิทัล หรือไม่ได้ใช้อย่างเต็มศักยภาพ จนนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (digital divide) นอกจากนี้ แม้เราจะเห็นว่ารัฐพยายามใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงบริการและสิทธิต่างๆ ได้ง่าย เช่น การออกแอปพลิเคชัน หรือการเปิดช่องทางบนสื่อสังคมออนไลน์ให้ประชาชนติดต่อได้โดยตรง แต่ก็ยังมีช่องว่างอยู่ไม่น้อย จนสุดท้ายประชาชนก็อาจต้องพยายามเข้าหารัฐแบบออฟไลน์ดังเดิมไปด้วยอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกดิจิทัลเองความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก จนหากประเทศไทยไม่สามารถประยุกต์ใช้หรือพัฒนาขีดความสามารถได้เท่าทัน ก็อาจทำให้การพัฒนาประเทศตกขบวนได้ง่ายๆ จากทั้งหมดที่ว่ามานี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลไม่ใช่งานที่จะมีวันเสร็จสมบูรณ์ แต่รัฐต้องเดินหน้าทำอย่างต่อเนื่อง

รัฐไทยมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ ‘ประเทศดิจิทัล’ ดังในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ตั้งเป้าว่าในปี 2027 สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมดิจิทัลจะต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 30% ของ GDP หรือการพัฒนาการให้บริการภาครัฐให้เทียบเท่ากับนานาประเทศมากขึ้น

แต่เมื่อมีเป้าหมายแล้ว คำถามต่อไปคือรัฐไทยพยายาม ‘มากแค่ไหน’ และ ‘ทำอย่างไร’? สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้คือ ‘การจัดสรรงบประมาณ’ ซึ่งเห็นได้โดยเฉพาะจาก ‘งบพัฒนาดิจิทัล’

WeVis ร่วมกับ 101 PUB จึงพาสำรวจงบประมาณก้อนดังกล่าวของไทยว่าได้รับการจัดสรรอย่างไร ถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง และมีอะไรที่ต้องปรับปรุงหรือคิดคำนึงเพิ่มเติม

ภาพรวมไทยจัดสรรงบพัฒนาดิจิทัลเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายภาครัฐ พบว่ามี 2 แผนงานจาก 63 แผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมดิจิทัล

แผนงานแรกคือแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘แผนงานรัฐบาลดิจิทัล’) งบประมาณกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรภาครัฐ สร้างแพลตฟอร์มต่างๆ หรือจัดทำระบบกลางเพื่อเชื่อมโยงหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน

อีกแผนงานคือ ‘แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล’ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘แผนงานเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล’) ซึ่งเป็นงบที่มุ่งเป้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลแก่ธุรกิจและประชาชน[1]ผู้วิจัยประเมินการใช้จ่ายด้านดิจิทัลจากแผนงานที่ระบุว่าเกี่ยวข้องโดยตรง … Continue reading

ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา งบทั้ง 2 แผนงานเพิ่มขึ้น โดยแผนงานรัฐบาลดิจิทัลเพิ่มจาก 1,903.2 ล้านบาทในปี 2021 เป็น 3,029.6 ล้านบาทในปี 2024 คิดเป็นอัตราเพิ่มเฉลี่ย 16.8% ต่อปี ส่วนแผนงานเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2,235.2 ล้านบาทในปี 2021 เป็น 2,455.5 ล้านบาทในปี 2024 เพิ่มเฉลี่ย 3.2% ต่อปี

และหากรวมทั้ง 2 แผนงาน จะเห็นว่ารัฐบาลไทยใช้จ่ายในด้านดิจิทัลเพิ่มจาก 4,138.4 ล้านบาทในปี 2021 เป็น 5,485.1 ล้านบาทในปี 2024 เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.8% ต่อปี[2]ผู้วิจัยวิเคราะห์จากงบประมาณฉบับร่าง ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต; สำนักงบประมาณ. (2021). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 … Continue reading

อย่างไรก็ตาม หากนำงบพัฒนาดิจิทัลเทียบกับงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดที่ 3,480,000 ล้านบาท จะพบว่างบพัฒนาดิจิทัลมีสัดส่วนเพียง 0.15% เท่านั้น แต่ดูจะคาดหวังผลลัพธ์ที่ใหญ่มาก

งบพัฒนาดิจิทัลเพิ่มขึ้น แต่มีแค่ 0.15% ของรายจ่ายรวม
ภาพที่ 1

รายละเอียดการจัดสรรงบประมาณแผนงานรัฐบาลดิจิทัล

เมื่อพิจารณารายละเอียดของแผนงานรัฐบาลดิจิทัล 3,029.6 ล้านบาท จะพบว่างบ 1,718.6 ล้านบาท หรือ 56.7% ของงบประมาณในแผนงานรัฐบาลดิจิทัลทั้งหมด ใช้ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งไม่สามารถระบุแยกย่อยได้ชัดเจนว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานแบบใด หรือใช้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานและระบบรักษาความปลอดภัยอย่างละเท่าใด

งบพัฒนารัฐดิจิทัลเกินครึ่ง ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน/ความปลอดภัย
ภาพที่ 2

งบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบรักษาความปลอดภัยส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. รวม 1,106.7 ล้านบาท รองลงมาคือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. รวม 360.0 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. รวม 101.3 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมที่ดิน รวม 150.6 ล้านบาท

ต่อมาคืองบลงทุนทำฐานข้อมูลกลาง/แพลตฟอร์ม/ระบบคลาวด์ 1,034.7 ล้านบาท หรือ 34.2% งบในกลุ่มนี้ถูกจัดสรรตามวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน เช่น โครงการลงทุนระบบคลาวด์กลางโดย สดช. ซึ่งถูกจัดสรรงบ 316.8 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานได้เช่าใช้คลาวด์ที่มีคุณภาพแทนการลงทุนระบบคอมพิวเตอร์เอง ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณและปลอดภัยน้อยกว่า นอกจากนี้มีการตั้งโครงการพัฒนาระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (New e-Budgeting) ของสำนักงบประมาณ 218.7 ล้านบาท และยังมีกลุ่มโครงการที่เน้นยกระดับการให้บริการสาธารณสุขที่กระจายตามหน่วยงานต่างๆ อีก 201.5 ล้านบาท (ภาพที่ 2)

รายละเอียดการจัดสรรงบประมาณแผนงานเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

ทางด้านงบแผนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 2,455.5 ล้านบาท สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้รับการจัดสรรงบประมาณ 926.9 ล้านบาท หรือ 37.7% ของแผนงาน เพื่อสร้างอาคารสถาบันไอโอที[3]รวมงบสร้างสถาบันไอทีตั้งแต่ปี 2562-2568 จะใช้งบทั้งหมด 2,548.4 ล้านบาท อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thailand Digital Valley เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน รองลงมาคืองบเพื่อชำระหนี้โครงการเน็ตประชารัฐ 300 ล้านบาท หรือ 12.2% และงบพัฒนาระบบเพื่ออุตสาหกรรมเกมและแอนิเมชัน 195.0 ล้านบาท หรือ 7.9% รายละเอียดงบประมาณส่วนอื่นเป็นไปตามภาพที่ 3

งบพัฒนาเศรษฐกิจ/สังคมดิจิทัล เกือบครึ่งนำมาสร้างอาคาร
ภาพที่ 3

งบรัฐบาลดิจิทัลจะมีประสิทธิภาพ ต้องเปลี่ยนเทคโนโลยี และลดความเป็นราชการลง

ปัจจุบันแต่ละหน่วยงานมีช่องทางการให้บริการออนไลน์ทั้งรูปแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน หนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนบริการออนไลน์เหล่านี้คือ ‘ระบบคอมพิวเตอร์’ หากหน่วยงานใดต้องการจะจัดทำบริการออนไลน์ ก็ต้องลงทุนระบบคอมพิวเตอร์หลายส่วน เช่น ค่าเซิร์ฟเวอร์ ค่าบุคลากร ค่าบำรุงรักษา และค่าไฟ

ปัญหาคือโครงสร้างราชการไทยทำงานแบบแยกส่วน หน่วยงานรัฐไม่ได้ทำงานแบบบูรณาการกัน ภาพการลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์จึงเป็นภาพที่แต่ละหน่วยงานต่างลงทุนทำบริการของตัวเอง ไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกัน เมื่อรวมกับปัญหางบที่น้อยอยู่แล้วก็ยิ่งทำให้การลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์มีลักษณะเบี้ยหัวแตก ซ้ำซ้อน และงบประมาณที่เป็นเบี้ยหัวแตกก็มักหมดไปกับต้นทุนที่ไม่ได้ยึดโยงกับการให้บริการโดยตรง เช่น ค่าเซิร์ฟเวอร์ ค่าบำรุงรักษาระบบ ผลที่ได้คือระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยต่ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้งตามหน้าข่าวต่างๆ[4]ปณิศา เอมโอชา. (2024, กุมภาพันธ์ 5). แฮกเกอร์ประกาศขายข้อมูลคนไทยเกือบ 20 ล้านชุดข้อมูลในเดือน ม.ค. 67 หน่วยงานรัฐโดนด้วย 2 แห่ง. https://www.bbc.com/thai/articles/cgl435v8evno

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ยกระดับการจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนระบบคอมพิวเตอร์ คือการเปลี่ยนวิธีลงทุนจากที่ต้องลงทุนเองมาเป็นการใช้คลาวด์เป็นหลัก หรือ Cloud-First Policy เพื่อประมวลผลและเก็บข้อมูลแทน ไม่ต้องสร้างระบบคอมพิวเตอร์เอง ช่วยลดต้นทุนทั้งค่าเซิร์ฟเวอร์ ค่าบำรุงรักษา รวมถึงค่าบุคลากร นอกจากนั้นประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัยยังดีกว่าเดิมอีกด้วย ปัจจุบัน สดช. ขอรับจัดสรรงบ 316.7 ล้านบาท เพื่อทำโครงการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) ก็ชวนตั้งคำถามว่าโครงการประเภทที่ทำฐานข้อมูลหรือแพลตฟอร์มกลางที่เหลืออยู่อีกกว่า 700 ล้านบาทยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่? แล้วในอนาคตหน่วยงานอื่นจะนำระบบการให้บริการออนไลน์มาไว้บนคลาวด์ของ สดช. มากแค่ไหน?

และแม้ว่าบริการออนไลน์ทุกอย่างจะอยู่บนคลาวด์ ก็ไม่ได้หมายความว่าบริการภาครัฐจะประสิทธิภาพ เพราะถ้าแต่ละหน่วยงานยังไม่แบ่งปันข้อมูลหรือให้บริการร่วมกัน ก็จะทำให้ผู้ขอใช้บริการต้องเจอกับต้นทุนแฝงโดยไม่จำเป็น เช่น ถ้าต้องการการจดทะเบียนเปิดร้านขายเครื่องสำอางนำเข้าออนไลน์ จะต้องจดทะเบียนถึง 5 ใบกับ 5 หน่วยงาน ยังไม่นับรวมกับกฎระเบียบที่ล้าหลัง ยึดราชการเป็นหลัก ก็ทำให้รัฐบาลดิจิทัล ‘ไม่ใช่ดิจิทัลแท้’ เช่น ถ้าต้องการเปลี่ยนชื่อ–นามสกุล ต้องเดินทางไปยังสำนักงานเขตที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้น ดังนั้นนอกจากเปลี่ยนเทคโนโลยี การปรับปรุงกฎระเบียบและปฏิรูปโครงสร้างราชการก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน[5]ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. (2023). รัฐบาลไทยดิจิทัล ทำแล้ว-ทำอยู่-อย่าทำ(แบบเดิม)ต่อ. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2024.

‘คน’ – โจทย์สำคัญที่ต้องตอบก่อนจะเป็น ‘ประเทศดิจิทัล’

ในภาพใหญ่ ประเทศไทยอาจผลักดันเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไม่สำเร็จเพราะ ‘คน’ ที่ยังไม่พร้อม เช่น ผลการสอบ PISA 2022 ที่พบว่านักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือการอ่าน ไม่เพียงพอต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง (68%, 53% และ 65% ตามลำดับ)[6]สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (6 ธันวาคม 2023). การแถลงข่าวผลการประเมิน PISA 2022. หรือผลการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ที่พบว่ามีแรงงานเพียง 25.9% เท่านั้นที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว[7]กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2024). ทิศทางพัฒนาทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนของประเทศ. https://www.eef.or.th/publication-asat/

เหล่านี้จึงชวนก็ให้ตั้งคำถามถึงการจัดสรรงบประมาณกว่า 900 ล้านบาทเพื่อสร้างสถาบันไอโอที (ทั้งโครงการรวม 2548.4 ล้านบาท) ว่าจะช่วยให้ไทย ‘เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน’ ได้มากแค่ไหน หากคนในประเทศยังไม่พร้อม และนอกจากนั้น งบประมาณส่วนอื่นที่ไม่ใช่งบดิจิทัลแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน สุดท้ายแล้วจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน?

References
1 ผู้วิจัยประเมินการใช้จ่ายด้านดิจิทัลจากแผนงานที่ระบุว่าเกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อดูสิ่งที่รัฐเรียกว่าการใช้จ่ายด้านดิจิทัลนั้นเป็นอย่างไรในความจริง อาจมีการใช้จ่ายหรือลงทุนที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในแผนงานอื่นๆ ซึ่งจะมีความซับซ้อนในการจำกัดกรอบนิยามว่าควรจะนับรวมอะไรบ้างจึงละออกจากการวิเคราะห์นี้
2 ผู้วิจัยวิเคราะห์จากงบประมาณฉบับร่าง ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต; สำนักงบประมาณ. (2021). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ฉบับปรับปรุง). หน้า 34 – 36; สำนักงบประมาณ. (2022). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (ฉบับปรับปรุง). หน้า 35 – 37; สำนักงบประมาณ. (2023). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (ฉบับปรับปรุง). หน้า 33 – 35; สำนักงบประมาณ. (2023). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567. หน้า 33 – 35.
3 รวมงบสร้างสถาบันไอทีตั้งแต่ปี 2562-2568 จะใช้งบทั้งหมด 2,548.4 ล้านบาท
4 ปณิศา เอมโอชา. (2024, กุมภาพันธ์ 5). แฮกเกอร์ประกาศขายข้อมูลคนไทยเกือบ 20 ล้านชุดข้อมูลในเดือน ม.ค. 67 หน่วยงานรัฐโดนด้วย 2 แห่ง. https://www.bbc.com/thai/articles/cgl435v8evno
5 ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. (2023). รัฐบาลไทยดิจิทัล ทำแล้ว-ทำอยู่-อย่าทำ(แบบเดิม)ต่อ. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2024.
6 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (6 ธันวาคม 2023). การแถลงข่าวผลการประเมิน PISA 2022.
7 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2024). ทิศทางพัฒนาทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนของประเทศ. https://www.eef.or.th/publication-asat/

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจก่อนเข้าปาก ย้อนถึงแปลงปลูก: ยกระดับความปลอดภัยอาหารด้วยการตรวจสอบย้อนกลับ

ภายหลังจากที่ตรวจพบสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท คนไทยต่างกังวลต่อความปลอดภัยของอาหารที่บริโภคกันทุกวัน สิ่งนี้นำมาสู่คำถามว่าระบบการตรวจคุณภาพอาหารตามท้องตลาดของไทยมีข้อบกพร่องอย่างไร? และจะทำอย่างไรที่จะยกระดับอาหารในประเทศไทยให้ปลอดภัยขึ้น?

ปราบมิจฯ ให้อยู่หมัด ต้องมอบหน้าที่ให้ธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

ทำไมมิจฉาชีพยังลอยนวลหลอกหลอนคนไทยไม่เว้นวัน? แล้วต่างประเทศทำอย่างไรถึงปราบมิจฉาชีพได้อยู่หมัด?

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.