โลกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือสูง อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงดุลอำนาจโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ
คำถามสำคัญมีอยู่ว่า อะไรคือความท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองจากพลวัตโลก และประเทศไทยควรต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ด้วยกระบวนท่าแบบใด โจทย์นโยบายและโจทย์วิจัยของประทศควรมีหน้าตาแบบไหนที่จะช่วยเราตั้งหลักจัดวางตำแหน่งแห่งที่ใหม่ของประเทศได้
101 ชวนอ่านอนาคตความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ พร้อมกับสำรวจโจทย์ใหม่ในแวดวงวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายและภาคประชาชน เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยในกาลข้างหน้า ผ่านบทสนทนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญหลายศาสตร์ หลากแว่นตา ร่วมด้วย กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำ School of Global Policy and Strategy ณ University of California San Diego, จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA), ไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Builk One Group, พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และอาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ: เรียบเรียงผ่านการเก็บความจากงานเสวนา Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #2 ““ที่ทางไทยในโลกท้าทาย”
การต่อสู้ของ 2 ขั้วมหาอำนาจ: ความท้าทายเชิงภูมิรัฐศาสตร์สั่นสะเทือนระเบียบโลก – อาร์ม ตั้งนิรันดร
อาร์ม ตั้งนิรันดร ฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อความท้าทายของโลกในอนาคต พร้อมสกัดโจทย์วิจัยภายใต้โจทย์แห่งอนาคตออกมาเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก โลกเปลี่ยนจากมหาอำนาจเดี่ยวภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาเป็นการแข่งขันของ 2 ขั้วมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทั้งสองประเทศต่างห้ำหั่นกันในสมรภูมิการค้าและสงครามเทคโนโลยีจนทำให้โลกาภิวัตน์และห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) สั่นคลอน จากความพยายามถอดรื้อความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่
“ผมมักจะบอกว่าสงครามยูเครนคือตอกฝาโลงโลกาภิวัตน์” อาร์มกล่าวถึงฉนวนการหาความเป็นไปได้ในการถอดรื้อความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและจีนและคาดการณ์ว่าการแบ่งขั้วของสองมหาอำนาจจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกที่เคยเชื่อมรอยแตกออกมาเป็นหลากหลายห่วงโซ่และมีความซับซ้อนมากขึ้น จนเกิดคำศัพท์ใหม่อย่าง De-risking (การลดความเสี่ยง) De-coupling (การแยกตัว) Friendshoring (การสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือ-เชื่อใจได้)
“สมัยก่อนเราตั้งโจทย์คลาสสิกว่าประเทศไทยจะเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างไร หรือจะได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร วันนี้ผมว่าคำถามแบบ one size fit all ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะโลกไม่ได้มีลักษณะแบบเดิม มันจะต้องเป็นคำถามที่ไมโครและทาร์เก็ตมากขึ้น เพราะว่าแต่ละธุรกิจ แต่ละภาคอุตสาหกรรม แต่ละภาคเศรษฐกิจอาจจะมีลักษณะการเชื่อมโยงกับแต่ละห่วงโซ่ที่แตกต่างกัน บางภาคอุตสาหกรรมอาจจะเหมาะสมกว่าที่จะเชื่อมกับห่วงโซ่หนึ่งมากกว่าอีกห่วงโซ่หนึ่ง บางอุตสาหกรรมเมื่อเชื่อมกับห่วงโซ่หนึ่งแล้วอาจจะเกิดปัญหาว่าต้องแลกกับการเสียอีกห่วงโซ่ไป บางอุตสาหกรรมอาจจะเชื่อมได้ทั้งสองห่วงโซ่” อาร์มชี้ว่าโจทย์วิจัยในอนาคตต้องปรับให้เฉพาะเจาะจงแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น พร้อมกับตอบคำถามในประเด็นความหวาดระแวงถึงการที่ประเทศไทยเหยียบเรือสองแคม เชื่อมโยงทั้งค่ายสหรัฐอเมริกาและจีนว่าทางเลือกแรกของทุกประเทศก็จะเป็นลักษณะเดียวกันคือพยายามเชื่อมโยงทั้งสองห่วงโซ่จนกว่าจะมีเหตุผลที่ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลความมั่นคง เหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ที่จะมาส่งผลกระทบต่อเนื่องในภาคเศรษฐกิจ
ประเด็นที่สอง โอกาสของประเทศกลุ่มขั้วที่สามในการเป็นจุดเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของโลก กล่าวคือจากความขัดแย้งของสองมหาอำนาจ ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องการหาแหล่งผลิตสินค้าที่จะมาทดแทนจีน ขณะเดียวกันจีนก็หาตลาดใหม่ทดแทนประเทศในฝั่งตะวันตก จึงเป็นโอกาสของประเทศกลุ่มขั้วที่สาม ได้แก่ กลุ่มประเทศในอาเซียน เอเชียกลาง ละตินอเมริกา และแอฟริกา ที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยเองเป็นทั้งประเทศหมุดหมายของทั้งสองมหาอำนาจ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสในการเชื่อมโยงการลงทุนใหม่กับประเทศกลุ่มขั้วที่สามอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศกลุ่มขั้วที่สามไม่เพียงพอ
“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเดือนที่แล้ว มีการตั้งโจทย์วิจัยนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ-การต่างประเทศของประเทศออสเตรเลีย แล้วก็เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียมาและก็จี้ถามว่าประเทศไหนสำคัญที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ต่อออสเตรเลีย ตกลงประเทศออสเตรเลียเลือกข้างไหนระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ปรากฎว่าท่านรัฐมนตรีบอกว่าตอนนี้ประเทศที่สำคัญที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ต่อออสเตรเลียคืออินโดนีเซีย มีประชากรมหาศาลกำลังเติบโต เป็นเป้าหมายของการลงทุน แต่ผมว่ามายเซ็ตแบบนี้เรายังพูดกันน้อยมากในประเทศไทยและในประเทศไทยเองมีความเข้าใจภูมิภาคที่เหลืออยู่เหล่านี้น้อยมาก ทั้งความเข้าใจในการดึงดูดการลงทุน และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า อันนี้น่าจะเป็นทั้งโจทย์วิจัยและโจทย์ทางนโยบายที่สำคัญ ทั้งในเรื่องการต่างประเทศและเรื่องเศรษฐกิจ” อาร์มกล่าว
ประเด็นสุดท้าย สงครามเทคโนโลยีที่จะมีนัยยะสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและส่งกระทบในมิติอื่นเป็นวงกว้าง จนอาจนำไปสู่การสั่นสะเทือนต่อนโยบายและโจทย์นโยบายในอนาคต อาร์มยกตัวอย่างกรณีรายงานข่าวขาดแคลนชิปและการถกเถียงเรื่อง Semiconductor ที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตรถยนต์ EV หรือผลิตโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ซึ่งอาร์มชวนถกว่าข่าวดังกล่าวอาจจะไม่ได้สะท้อนภาพระยะกลางและระยะยาว เพราะมีบางงานวิจัยประเมินว่าในระยะกลาง อุตสาหกรรมชิปอาจจะเกิดอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) เนื่องจากประเทศจีนเร่งผลิตชิปราคาถูก เพื่อจะครองตลาดและสร้างอำนาจการต่อรองกับสหรัฐอเมริกา อาร์มจึงชี้ว่าประเด็นทางด้านเทคโนโลยีเหล่านี้มีความจำเป็นต้องตั้งคำถามและสำรวจวิจัยของนักวิชาการที่ลึกซึ้ง เพื่อประกอบการทำความเข้าใจประเด็นอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ อาร์มมีข้อเสนอถึงระบบวิจัยไทยว่าประเทศไทยควรปรับใช้แนวคิดของสตาร์ทอัพอย่างการทนต่อความล้มเหลว (Tolerate Failure) เปิดโอกาสให้นักวิจัยล้มเหลวได้ เพื่อให้เกิดการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากเคยได้ยินมาว่าเวลาขอทุนจะมีข้อสุดท้ายที่กล่าวถึงผลผลิตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้อาร์มยังให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรมีความหลากหลายของนักวิจัยและรูปแบบงานวิจัยได้มากขึ้น
กินดีอยู่ดี : โจทย์เศรษฐกิจไทยในฐานะประเทศ Small Open Economy – กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
“ผมคิดว่าคีย์เวิร์ด Small Open Economy (เศรษฐกิจเปิดและมีขนาดเล็ก) อธิบายสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมาอยู่ ณ จุดนี้ อธิบายความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และจะอธิบายสิ่งที่ประเทศไทยควรจะทำ เพื่อก้าวต่อไปในอนาคต” กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำ School of Global Policy and Strategy ณ University of California San Diego กล่าวถึงลักษณะเศรษฐกิจไทยและชี้ว่าแม้ในโลกจะมีเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่หลากหลาย แต่ในทัศนะของกฤษฎ์เลิศพบว่าเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจคือทำให้คน ‘กินดีอยู่ดี’ โดยชวนพิจารณาใน 4 มิติ ดังนี้
มิติที่ 1 ความมั่งคั่ง (Prosperity) เป้าหมายอย่างแรกคือการยกระดับรายได้และความมั่งคั่งของประชาชน รวมถึงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีผลิตภาพที่มากขึ้น ทั้งในแนวทางการเพิ่มผลิตภาพด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเดิมทีประเทศไทยมีผลิตภาพที่ค่อนข้างต่ำ และแนวทางที่เน้นประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ โดยโยกย้ายเงินลงทุนจากภาคธุรกิจที่ผลิตภาพไม่สูงไปลงทุนในภาคธุรกิจที่มีศักยภาพก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในภาพรวม
มิติที่ 2 ความยืดหยุ่น (Resiliency) เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศ Small Open Economy เศรษฐกิจไทยโตจากการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก พึ่งตลาดและการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือโรคระบาดโควิด-19 ต่างส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย ฉะนั้นการเพิ่มความ resiliency ในภาคเศรษฐกิจจึงเป็นหนึ่งโจทย์สำคัญของไทย
มิติที่ 3 ความยั่งยืน (Sustainability) ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม มิติทุนมนุษย์ และมิติทุนการเงิน ฯลฯ โดยประเทศไทยเผชิญการเปลี่ยนผ่านที่จะส่งผลกระทบต่อข้อได้เปรียบในอดีต กฤษฎ์เลิศยกตัวอย่างในมิติสิ่งแวดล้อมที่เดิมทีประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นสินค้าแรกๆ และมีการขยายการผลิตในระยะเวลาต่อมา แต่เป็นการขยายโดยเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรผ่านการรุกป่า ไม่ใช้การนำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลิตภาพ จึงเสี่ยงต่อความไม่ยั่งยืนทางธรรมชาติ มากกว่านั้นประเทศไทยยังเป็นประเทศที่โตจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก (Labor Intensive Industry) ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าวเสี่ยงต่อการหดตัวในอนาคต ขณะเดียวกันในประเด็นทุนการเงิน (financial capital) ซึ่งที่ผ่านมามีจุดแข็งที่ประเทศไทยโตด้วยเงินออมสูง แต่ปัจจุบันปัญหาหนี้ภาครัฐ เอกชนและครัวเรือนเพิ่มขึ้น จากภาพดังกล่าว มิติของความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงมากขึ้นในอนาคต
มิติสุดท้าย ผนวกรวมคนทุกกลุ่ม (Inclusivity) โจทย์ของประเทศไทยคือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโดยรวมที่โตขึ้นไม่กระจุกอยู่ในชนชั้นใดหรือกลุ่มใดกลุ่มนึง แต่สามารถพัฒนาในคนทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้
“ถ้าสวมหมวกนักเศรษฐศาสตร์ ปกติมันจะมีเรื่อง Trade Off มีสิ่งที่ต้องเลือกและหาสมดุล อยากโตเร็วอาจจะต้องยอมรับความเสี่ยง หรืออยากโตเร็วในปัจจุบันอาจจะต้องยืมทรัพยากรในอนาคตมาใช้ หรืออยากโตเร็วเพิ่ม อาจจะต้องยอมเรื่องความเป็นธรรม (Equity) หายไป เพราะว่ากลุ่มทุนใหญ่อาจจะผลิตได้ดีกว่า” กฤษฎ์เลิศกล่าวและให้ความเห็นว่าอย่างไรก็ดีประเทศไทยสามารถพัฒนาทั้ง 4 มิติได้โดยไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต
เมื่อขยับมาพูดถึงข้อเสนอแนะต่อโจทย์วิจัยและระบบวิจัยไทย กฤษฎ์เลิศเห็นด้วยกับอาร์มเรื่องโจทย์วิจัยที่ประเทศไทยต้องให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศขั้วที่สามมากขึ้น โดยขยายต่อว่าปัจจุบันประเทศไทยขาดทั้งผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในประเทศขั้วที่สาม ควรจะผลักดันให้เกิดทั้งความรู้โลก (Global) มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ควรเผยแพร่และสื่อสารองค์ความรู้ท้องถิ่น (Local) ในวงกว้างให้เห็นการประกอบร่างของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย สร้างความเข้าใจในแต่ละภูมิภาค ไม่ใช่เพียงการเหมารวมว่าประเทศไทยคือกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครคือประเทศไทย เพื่อจะนำไปสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการประยุกต์ใช้ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านร่วมกับเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรมในอนาคต
มากกว่านั้นกฤษฎ์เลิศยังมีข้อเสนอถึงการผลักดันให้เกิดนักวิจัยและงานวิจัยในเชิงแข่งขันในทุกมิติ เช่นการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ ‘จะทำอย่างไรให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่เอื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง’ ซึ่งเป็นลักษณะงานที่ประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัย เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ต้องทำเฉพาะเจาะจงของแต่ละอุตสาหกรรม และต้องมีความกล้าทางจริยธรรมในการนำเสนอเนื้อหาที่มีประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังเสริมว่างานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) ยังมีความจำเป็น แม้หลายคนจะมองว่าประเทศไทยมีงบประมาณจำกัดควรจะทำ ‘วิจัยขึ้นห้าง’ มากกว่า ‘วิจัยขึ้นหิ้ง’ แต่กฤษฎ์เลิศให้ความเห็นว่าสิ่งที่ได้รับจากการทำวิจัยคือกระบวนการวิจัยที่ฝึกการคิดลึกซึ้ง อีกทั้งหากเกิดกรณีเร่งด่วน เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 งานวิจัยเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจก็จะช่วยให้หน่วยงานที่ทำงานด้านนโยบายศึกษาและออกแบบนโยบายได้อย่างทันท่วงที ไม่เพียงเท่านั้นกฤษฎ์เลิศยังผลักดันให้กระบวนการนโยบายส่งเสริมให้นักเศรษฐศาสตร์คิดลึกและรอบด้านมากขึ้นทั้งในประเด็นสถาบันการเมือง การเมือง และกระบวนการนโยบาย โดยสนับสนุนให้เกิดการตั้งคำถามในการออกแบบนโยบายว่าหากไม่ได้นโยบายที่ดีที่สุด (first best solution) แต่จะหาทางเลือกที่สองที่ดีที่สุด (second best solution) ภายใต้ข้อจำกัดได้อย่างไร
“ผมอยากเห็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการที่เขามีความสนใจ มีความสามารถและต้องการการสนับสนุนในการผลิตงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ออกมา” กฤษฎ์เลิศกล่าวและสะท้อนถึงระบบวิจัยไทยภายใต้สายตามุมมองคนนอกว่าระบบไทยยังมีแรงจูงใจ (Incentive) ที่ไม่ดึงดูด แม้ว่าจะเป็นงานวิจัยที่ไม่ได้ใช้งบประมาณมากนัก แต่ว่าอาจจะข้อติดขัดอื่นทำให้ตัดสินใจไม่ทำงานวิจัย เช่น ทำงานวิจัยในประเด็นที่ไม่สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้จึงตัดสินใจไม่ทำงานวิจัย ไม่เพียงเท่านั้นนักวิจัยไทยใหม่ที่เป็นอาจารย์มักมีภาระงานสอนและงานบริหารค่อนข้างมาก แตกต่างจากอาจารยใหม่ในสหรัฐอเมริกาจะถูกจัดสรรให้มุ่งความสนใจกับงานวิจัย และลดภาระงานสอนและงานบริหาร นอกจากนี้ระบบในสหรัฐอเมริกาไม่มีการประเมินผ่านเช็กลิสต์ชื่อวารสารว่าเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพไหม แต่จะสนใจจากตัวงานวิจัยเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากไทย
“ที่เมืองไทยกลายเป็นว่าแรงจูงใจทุกอย่างทำเพื่อจะเกมระบบ นักวิจัยทำวิจัยเรื่องนี้เพราะคิดว่าเดี๋ยวจะได้ส่งไปพิมพ์ตรงนั้น แต่ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เขาอยากทำ ผมคิดว่างานวิจัยต้องตั้งต้นมาจากแพสชั่น ถ้าไม่ได้ชอบหัวข้อนั้น ทำมายังไงคุณภาพก็ห่วย เพราะงานวิจัยมันต้องปรับ ต้องมีความอึด ความถึก คือถ้าไม่ชอบ มันการันตีว่าออกมาไม่ดี” กฤษฎ์เลิศทิ้งท้ายถึงความท้าทายของระบบวิจัยไทยที่ควรต้องปรับ
อัลกอริทึม: อำนาจในการกำหนดการรับรู้ความจริง –
จันจิรา สมบัติพูนศิริ
ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่พัฒนาอย่างล้ำหน้า ผู้คนส่วนใหญ่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและใช้ชีวิตอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ จมอยู่ในโลกที่อัลกอริทึมกำหนดสิ่งที่เห็น สิ่งที่อ่าน ไปจนถึงความจริงที่รับรู้ จันจิรา สมบัติพูนศิริ เริ่มการเสวนาด้วยการชวนสำรวจอำนาจของโลกดิจิทัลที่กำหนดด้วยอัลกอริทึม
“อัลกอริทึมไม่ได้เกิดมาในสุญญากาศ อัลกอริทึมคือสิ่งที่คนออกแบบให้เราเห็นอะไร บางทีนั่งดูเฟซบุ๊กค้างอยู่โพสต์ใดโพสต์นึง สักพักโพสต์ที่ใกล้เคียงจะตามเรามาหลอกหลอนเหมือนผีหลอก เพราะฉะนั้นมันคืออำนาจในการจับตามองกิจวัตรประจำวันของเรา แล้วเอาข้อมูลจากกิจวัตรประจำวันนั้นๆ ไปต่อยอดในการออกแบบอัลกอริทึม และบังคับให้เราปลดปล่อยข้อมูลระดับไมโครบางอย่าง เช่น ระยะเวลาที่เราใช้ในการมองหนึ่งโพสต์ จริงๆ อัลกอริทึมหลายตัวรู้กระทั่งว่าสมาชิกในบ้านเราคือใคร เพราะรู้ที่อยู่ IP address แล้วรู้ว่าคนที่ดูคอนเทนต์ใกล้ๆ เราคือใคร”
“การเมืองในโลกตอนนี้พูดถึงเรื่องเทคโนโลยี เรื่องดิจิทัล เรากำลังพูดถึงอำนาจบางอย่างที่กำหนดความรับรู้ อำนาจที่กำหนดความเป็นจริง และตอนนี้อำนาจเหล่านี้กำลังส่งผลเรื่องความขัดแย้งหลายประเด็นในโลก”
จันจิราพาไปสำรวจความท้าทายจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีผลต่ออนาคตโลกใน 3 ประเด็น ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับบริบททางการเมือง โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตย และงานวิจัยไทยที่จะตอบโจทย์ความเป็นไปในโลก
ประเด็นแรก ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป จันจิราสะท้อนว่าที่ผ่านมาโลกเคยชินกับมหาอำนาจเดี่ยวที่สามารถจำกัดพื้นที่ความขัดแย้งในโลก แต่เมื่อระเบียบในโลกเริ่มผ่อนคลายด้วยปัจจัยหลายประการ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจึงเริ่มเห็นการปะทุตัวของความขัดแย้งที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนที่นากอร์โน-คาราบัค ในพื้นที่อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนีย ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนและอัตลักษณ์ชาติของโคโซโว-เซอร์เบีย ซึ่งเคยถูกแช่แข็งในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเป็นตำรวจโลก ไปจนถึงสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างสูง เทียบเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน สะท้อนถึงภาวะความเปราะบางของโลก
อีกทั้ง ความขัดแย้งที่ประทุขึ้นใหม่เป็นความขัดแย้งที่ใช้เทคโนโลยีเป็นอาวุธ ไม่เพียงสงครามข้อมูลข่าวสารที่ลามทั่วโลกอินเทอร์เน็ต โดยปัจจุบันมี Generative AI เทคโนโลยีระดับสูงที่มีการประมวลผลเลียนแบบกระบวนการคิดของมนุษย์ เช่น ChatGPT สามารถผลิตคอนเทนต์จากการป้อนข้อมูลคำสั่งของมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความจริงใหม่บนโลกออกไลน์และเป็นฉนวนสู่ความขัดแย้งในอนาคตแล้ว เทคโนโลยียังถูกใช้เป็นอาวุธในสนามรบ อย่างโดรนที่ถูกใช้ในการทำสงครามระหว่างนากอร์โน-คาราบัคใน ค.ศ. 2020 จุดประกายให้ในแวดวงกลาโหมทั่วโลกกำลังพิจารณาเรื่องการให้โดรนมีอำนาจตัดสินใจยิงผ่านการให้ข้อมูลของ AI โดยปราศจากการสั่งงานของมนุษย์ ซึ่งจันจิราชี้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังในอนาคต
มิติที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของผู้คนในการเมืองโลก จันจิราชี้ว่าเริ่มเห็นการปลอมแบบลึกซึ้ง (Deep Fake) ผ่านการใช้เทคโนโลยี Generative AI ซึ่งหากนำไปใช้สร้างข่าวปลอมจะสร้างผลกระทบต่อการรับรู้ของประชาชนโดยตรง
“การรับรู้ส่งผลต่อความขัดแย้ง ส่งผลต่อความรู้สึกแบ่งแยกเป็น 2 ฝักฝ่ายในสังคมอย่างมากและทำให้ระบอบประชาธิปไตย จากเดิมที่เคยสามารถแก้ไขเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองของขั้วการเมืองที่ต่างกันด้วยการเลือกตั้ง ตอนนี้กลายเป็นว่าเทคโนโลยีเป็นอีกปัจจัยนึงของการส่งเสริมให้การแบ่งแยกขั้ว (Polarization) การแบ่งแย่งฝักฝ่ายทางการเมืองที่ยากเกินกว่าจะทำให้ทั้งสองฝั่งหันหน้าเข้ามาคุยกันได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายรับรู้ข้อมูลในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าถูกต้อง ตอนนี้ประเด็นเรื่องการแบ่งขั้วกับเทคโนโลยีและผลต่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นในหลายที่ทั่วโลก” จันจิรากล่าว
มิติสุดท้าย อนาคตของงานวิจัยไทย จันจิราเริ่มต้นด้วยการสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างระบบวิจัยไทยและต่างประเทศจากประสบการณ์ส่วนตัวว่าเป็นอดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ชื่นชอบการทำงานวิจัยมากกว่าการสอนหนังสือ แต่พบว่าการเป็นอาจารย์มีภาระในงานสอน และภาระงานอื่นจำนวนมากจนส่งผลทำให้ทำงานวิจัยได้ไม่มีคุณภาพ จึงเป็นเหตุให้ตัดสินใจเปิดโอกาสไปทำงานวิจัยที่ต่างประเทศ พร้อมกับมีข้อเสนอต่อระบบวิจัยไทยในมิติวิธีการเข้าใจงานวิจัยไทยในประเทศไทย ซึ่งจันจิราขยายความว่าต้องการแตะประเด็นที่ปัจจุบันไม่เพียงมีนักวิจัยที่มีความสนใจประเด็นในไทยและขยายไปสู่ประเด็นอื่น แต่ยังมีนักวิจัยไทยรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจประเด็นในเมืองไทย แต่เป็นคนไทยที่ทำประเด็นอื่นในโลก ยกตัวอย่างอดีตลูกศิษย์ที่ศึกษาต่อปริญญาเอกในต่างประเทศและสนใจประเด็นระบบพรรคการเมืองในยุโรป หรืออดีตลูกศิษย์ที่สนใจเรื่องนโยบายสาธารณสุขที่ไม่ใช่นโยบายในประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายว่าจะเชื่อมโยงนักวิจัยดังกล่าวได้อย่างไร
“จริงๆ เห็นด้วยว่าการที่จะใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน งานวิจัยมันควรจะตอบโจทย์ประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน งานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมของโลกจำนวนมากมันถูกนำทางด้วยปริศนาที่เรามีต่อโลก มีต่อชีวิตประจำวัน การสร้างความรู้มันเริ่มจากตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องเริ่มจากข้างนอก คน (ประเทศ) อื่นมีความรู้อะไรบ้างในโลกแล้วค่อยมาดูว่าทำไมองค์ความรู้แบบนี้มันไม่เป็นที่สนใจหรือว่าไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย” จันจิรากล่าว
จันจิรายังเสริมว่าจากประสบการณ์ในต่างประเทศที่ทำงานวิจัยประเด็นดิจิทัลข้ามสาขาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลไปจนถึงคนทำงานซอฟต์แวร์ แต่พบว่าประเทศไทยมีการทำวิจัยที่ค่อนข้างแยกศาสตร์ทำงานวิจัย ในทางหนึ่งจึงมีข้อเสนอว่าควรจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสายสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เนื่องงานบางงานวิจัยวิทยาศาสตร์กระทบต่อสังคมจำนวนมาก และข้อเสนอสุดท้าย จันจิราเสนอให้มีการผลิตงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ซึ่งจะเป็นโจทย์วิจัยที่จะทำให้ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจ
“ดิฉันเคยทำงานวิจัยของสกว. เป็นงานวิจัยที่เชิงปลายเปิด เพียงแต่ว่ามีหัวหน้าทีมเป็นนักวิจัยอาวุโสกำหนดธีมว่าตอนนั้นประเทศไทยต้องการอะไร งานวิจัยโครงการแรกๆ ที่ได้ทำเป็นเรื่องการปฏิรูปองค์กรต่างๆ ที่สำคัญแก่ชีวิตคน ดิฉันสนใจเรื่องวิธีการที่ตำรวจรับมือกับผู้ชุมนุม ซึ่งตอนนั้นทางสกว. ก็อนุญาตให้เราทำเรื่องที่แหลมคม ถ้างานวิจัยไม่ไปที่ๆ เจ็บหรือไม่ไปที่ขุมของอำนาจ เป็นที่ๆ ที่เราเห็นว่าสังคมถ้าไม่แตะเรื่องนี้มันไปไหนไม่ได้ งานวิจัยเราก็จะวนอยู่ในกรอบที่ทุกคนก็ทำเหมือนกัน เห็นด้วยว่ามันต้องมีสมดุลระหว่างการตอบโจทย์เชิงนโยบาย ขณะเดียวกันการตอบโจทย์ความสงสัย ความเป็นไปได้ที่หลากหลายในโลก” จันจิราทิ้งท้าย
เอกชนไทยกับความท้าทายบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม – ไผท ผดุงถิ่น
จากภาพใหญ่ เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง ขยับมาที่ภาคเอกชน ไผท ผดุงถิ่น ตัวแทนจากภาคธุรกิจดิจิทัลได้ขยายความต่อจากจันจิราถึงความท้าทายจากผลกระทบของอัลกอริทึมที่ถูกกำหนดจากเจ้าของแพลตฟอร์มว่าไม่เพียงแต่จะส่งเสริม การแบ่งขั้ว ก่อให้เกิด ‘กะลา’ ขึ้นมาในหัวของผู้ใช้งานที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ยังถ่างช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ให้ห่างกว่าเดิม
“โลกดิจิทัลมันช่วย Empower แต่ก่อนเราเคยอยู่ในซอย ตอนนี้อยู่บนแพลตฟอร์ม ทำธุรกิจร้อยล้าน พันล้านได้ก็เพราะว่ามีเทคโนโลยี มันทำให้คนอย่างผมพอมีโอกาส แต่ว่าดิจิทัลก็ก่อให้เกิดรอยแยกที่มันกว้างขึ้น เจ้าของแพลตฟอร์มได้เปรียบกว่าคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มเสมอ เพราะ Economy of Scale (การประหยัดจากขนาด) ของดิจิทัลแพลตฟอร์มมันมหาศาล” ไผทเกริ่นถึงข้อดีของดิจิทัลและเพิ่มเติมข้อควรระวังไว้ว่าควรจะ ‘แหวก’ กะลาไปติดตามเนื้อหาของคนต่างรุ่น เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนในสังคมมากขึ้น
หลังจากนั้น ในฐานะนักธุรกิจ ไผทแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจที่เป็นท่อ (Pipeline Business) ป้อนอินพุตผ่านกระบวนการเพิ่มมูลคุณค้าจนได้สินค้าและบริการปลายทางสู่ผู้บริโภค และธุรกิจที่เป็นแท่น (Platform Business) แพลตฟอร์มส่งมอบคุณค่าให้กับคนมากกว่าหนึ่งกลุ่มขึ้นไป เช่น ธุรกิจตลาด ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาก็ช่วยทำลายข้อจำกัดทางกายภาพ และเร่งให้เกิดการมอบคุณค่าให้กับคนหลากหลายกลุ่มมากกว่าเดิม
ไผทให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) จะมีผลที่สำคัญต่อภาคธุรกิจในอนาคต อย่างไรก็ดีการทำแพลตฟอร์มบางรูปแบบอย่าง E-commerce ใช้ต้นทุนมหาศาลในลักษณะของการระดมทุนจำนวนมาก อัดฉีดเงินทำโปรโมชัน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคนและสร้างการรับรู้ก่อนจะพลิกมาเป็นกำไรในระยะกลาง แต่ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มคู่แข่งจึงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะได้กำไร ยังคงต้องระดมทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงรักษาฐานลูกค้าเดิม
สำหรับประเทศไทย ด้วยลักษณะเศรษฐกิจที่เป็น Small Open Economy การทำแพลตฟอร์ม E-commerce จึงเสียเปรียบบางประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าและมีการลงทุนด้านแพลตฟอร์มมาแล้ว อย่างจีนที่สามารถนำมาขยายผลต่อในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ง่ายและรวดเร็ว
“พูดถึงการแข่งขันและสปีดก็เหมือนเราเล่นบอลอบต. อยู่ แต่เราไปเจอพวกเล่นบอลโลก”
“ถ้ามันมีแม่น้ำแห่งโอกาสผ่านหน้าประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จะยืนคว้าเบ็ดตกปลาริมตลิ่งกันแบบไทยมุง เพราะมันง่าย จะได้ปลาซิว ปลาสร้อย หรือปลาเสือก็แล้วแต่ แต่ได้ปลาเยอะ คงมีน้อยคนที่จะใจเย็น ไม่อยากตกปลาริมตลิ่ง อยากจะใช้งานวิจัยหรือนวัตกรรม กระโดดลงน้ำไปก่อนแล้วอยากจะไปหาสะดือทะเล อยากจะออกอ่าวไทย อยากจะไปเจอปลาตัวใหญ่ ผมว่าอย่างนั้นต้องใช้ความพยายาม ความกล้าและการสนับสนุนหลายๆ อย่าง ผมเองก็เลือกที่จะดำน้ำลงไปเป็นผู้ประกอบการสายนวัตกรรม การดำน้ำจะต้องกลั้นหายใจและมีนักลงทุนมาติดอาวุธให้ถังออกซิเจน ตอนแรกก็นึกว่าดำน้ำง่าย ปรากฏว่า 90% ของสตาร์ทอัพตายเกลื่อนในน้ำ ผมก็ระดมทุนต่อไปแล้วก็ถ้าว่ายโผล่ออกมากลางน้ำได้ มีจุดแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่ง และถ้าเรามีโอกาสจริงๆ ก็ต้องสปีดอัพไปมากกว่านี้ เพราะไม่อย่างนั้นนวัตกรรมที่เราทำมาบนอ่าวไทย มันไม่พอกินหรอก มันจะมีคนที่ใหญ่กว่ามาแซงเราได้อยู่ดี นั่นคือความท้าทายของชีวิตผู้ประกอบการ” ไผทฉายภาพธรรมชาติของผู้ประกอบการในเมืองไทยที่มีความเป็นผู้ประกอบการสูง แต่ยังมีการใช้นวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจไม่มากนัก อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังมีโอกาสในการที่จะใช้ความแตกต่างของความเป็นตลาดไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
โจทย์สำคัญของผู้ประกอบการไทยในอนาคตคือการสร้างวิธีคิดในการเปลี่ยนธุรกิจจากการส่งมอบคุณค่าด้านเดียวเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่ส่งมอบคุณค่ามากกว่าหนึ่ง เช่น ร้านหมูปิ้งที่ผันตัวเองเป็นโรงงานผลิตหมูปิ้งเสียบไม้ให้กับร้านค้ารายย่อย หรือบริษัท Amazon ที่ทำเรื่อง E-commerce ขยับมาทำระบบคลาวน์ AWS เพื่อเป็นแพลตฟอร์มระบบคลาวน์สำหรับผู้ใช้งานอื่น เป็นต้น
นอกจากนี้ไผทกล่าวว่าสกสว. ก็สามารถเป็นแพลตฟอร์มได้ เนื่องจากมอบคุณค่าให้กับทั้งนักวิจัยและผู้ที่จะนำไปงานวิจัยไปใช้งานอย่างภาครัฐ ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม ทั้งยังมีข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบและโจทย์วิจัยไทย เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ ดังนี้
ข้อเสนอแรก เลือกวิจัยในสิ่งที่ประเทศไทยได้เปรียบและร่วมมือต่อยอดกับงานวิจัยต่างประเทศที่ประเทศไทยไม่มีโอกาสชนะ ไผทขยายความว่าประเทศไทยยังมีโอกาสในการทำวิจัยในหลายประเด็นที่ต่อยอดจากประเด็นปัญหาในบริบทพื้นที่ เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาการแก่ก่อนรวย ปัญหาจากผังเมืองที่นำไปสู่นวัตกรรมการแก้ปัญหาในบริบทของประเทศไทย ถือเป็นงานวิจัยที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ และเป็นโอกาสที่จะดึงดูดนักวิจัยจากต่างประเทศมาศึกษาในเมืองไทย
“ผมว่ามีโอกาสในหลายๆ อุตสาหกรรมที่คนอื่นก็คงจะแย่งไปจากเราไม่ได้ ที่ไหนมีความห่วย ช้า แพงที่นั้นมีโอกาส จริงๆ ประเทศนี้เต็มไปด้วยโอกาสและก็เต็มไปด้วยโอกาสของนักวิจัยด้วย” ไผทกล่าวและเสริมว่าในบางอุตสาหกรรมที่รัฐไม่ส่งเสริมงานวิจัยในอุตสาหกรรมอีกต่อไปก็ขอให้มีแนวทางในการเยียวยา ในขณะเดียวกันก็ย้ำถึงการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในหัวข้อที่ประเทศอื่นเชี่ยวชาญ เช่น ประเด็นเทคโนโลยีอย่าง AI สามารถต่อยอดจากเทคโนโลยีดังกล่าว โดยไม่ต้องลงมือวิจัยเองทั้งหมด
ข้อเสนอที่ 2 อดทนในการเห็นดอกผลของงานวิจัยในระยะกลาง-ระยะยาว แนวคิดแบบสตาร์ทอัพได้เปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่มองหาโอกาสเป็นการมองหาปัญหา เพื่อหาทางแก้ไข ในประเทศไทยมีผู้ที่สนใจความเป็นผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่เมื่อเข้าสู่การลงมือปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ ไผทย้ำว่าการทำธุรกิจต้องอาศัยความอดทน หลายครั้งหน่วยงานภาครัฐจะต้องการโครงการปฏิบัติการเร่งรัด (Quick win) เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็หวังว่าผู้ประกอบการจะอดทน ใช้งานวิจัยเก็บเกี่ยวดอกผลในระยะกลางและในระยะยาวมากขึ้น
ระบบวิจัยไทยภายใต้ความผันผวนโลก: พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์
พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบวิจัยไทยโดยตรงได้ฉายภาพระบบวิจัยไทยว่าปัจจุบันมีการปฏิรูปให้มีการรวมศูนย์ (centralize) เพื่อให้มีความสอดคล้องไปด้วยกันมากขึ้น (Alignment) อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ
สำหรับ สกสว. มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และจัดสรรงบประมาณ โดยทำงานร่วมกับ PMU (Program Management Unit) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนในการบริหารงบประมาณวิจัยด้าน ววน.นอกจากนี้สกสว. ยังผลักดันให้เกิดเส้นทางสู่ผลกระทบงานวิจัย (Impact Pathway) รวมไปถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานฟังก์ชันของภาครัฐ และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อพัฒนางานวิจัยที่ขับเคลื่อนประเทศไทย ตอบโจทย์แผน ววน. และสร้างประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในแง่การศึกษาเพื่อปรับใช้จริง และการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ เพิ่มอำนาจการต่อรองกับประเทศผู้ผลิต
ปัจจุบันไทยมีแผน ววน. พ.ศ. 2566-2570 ที่จะจัดสรรงบประมาณร้อยละ 60 ของงบประมาณทั้งหมดให้กับโจทย์วิจัยที่อยู่ในยุทธศาสตร์ของแผน ววน. และอีกร้อยละ 40 สำหรับงานวิจัยที่มาจากรากฐานความสนใจของนักวิจัยภายในประเทศ โดยมี 2 เป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้อันดับในดัชนีนวัตกรรมโลก (global innovation index: GII) ขยับจากอันดับที่ 43 เป็นอันดับ 35 ภายใน พ.ศ. 2570 และผลักดันให้ดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ของประเทศไทยอยู่ใน 35 อันดับแรก
“ผมคิดว่าเราต้องตระหนักก่อนว่างานวิจัยหรืองานศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมันไม่ใช่ research for research หรือ science and technology for science and technology ระดับโลกเขาพูดถึง science and technology for society สุดท้ายเราทำวิจัย พัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์สังคม” พงศ์พันธ์กล่าว และให้ความเห็นว่าในการวางแผนยุทธศาสตร์ของแผน ววน. ท่ามกลางความผันผวนของโลกจึงต้องมีความเข้าใจเทรนด์ของโลกในอนาคต ทั้งในประเด็นการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ความเปลี่ยนไปของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Change), การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนประชากรโลก (Demographical Change), ภาวะโลกรวน (Climate Change) , การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technology Disruption) และการเติบโตของกระแสรักสุขภาพ (Health and well-being) รวมไปถึงเทรนด์ของภาคธุรกิจในลักษณะปัจเจกชนนิยม (Individualism) เพื่อไม่ให้งานวิจัยที่จะรอผลเก็บเกี่ยวในอีก 4-5 ปีข้างหน้าล้าสมัย ไม่สอดรับกับบริบทโลก ณ ขณะนั้น
ท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด สกสว. ได้วาง 4 ยุทธศาสตร์ของแผน ววน. พ.ศ. 2566-2570 เพื่อเป็นกรอบสำหรับนักวิจัยในการตั้งโจทย์ที่จะตอบรับความท้าทายไทย ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถรับมือกับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมให้พร้อมสำหรับการเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมระดับสากล เพื่อสร้างโอกาสและความพร้อมของประเทศในอนาคต
“แผนวนน. เป็นแผนหมุนเวียน (rolling plan) เราพร้อมปรับ แต่ไม่ได้เปลี่ยนทั้งหมด เพราะงานวิจัยต้องมีระยะเวลาให้นักวิจัยได้ทำงานด้วย
“เวลาเราเขียนแผนเราไม่ได้ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราดูเมกะเทรนด์ไปข้างหน้า แล้วดูว่ามันมีโอกาสเกิดอะไรขึ้นที่เป็นผลกระทบสำคัญ งานวิจัยต้องทำ ณ วันนี้เพื่อรองรับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต เราอาจจะขยับความสำคัญจากเรื่องนึง ลดความสำคัญบางเรื่องไปให้อีกเรื่องนึงเพิ่มมากขึ้นมากกว่า เพราะฉะนั้นประเด็นที่ทำสามารถปรับได้ เพื่อตอบบริบทที่เปลี่ยนแปลงหรือเกิดขึ้นในปัจจุบัน” พงศ์พันธ์กล่าว
อย่างไรก็ดี พงศ์พันธ์ ทิ้งท้ายว่าสกสว. ยังมีการบ้านสำคัญที่จะต้องพัฒนาเพื่อเหลาโจทย์วิจัยให้คมและชัดมากขึ้น ทั้งการเพิ่มงานวิจัยในประเด็นนโยบายชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องปรับจากกระบวนการให้ทุนต่อไป การขับเคลื่อนการวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary Research) ที่ไม่ใช่เพียงการทำวิจัยแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary Research) แต่ยังต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นหรือชุมชน เพื่อให้องค์ความรู้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต รวมไปถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมวางยุทธศาสตร์แผนงานวิจัยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในด้านนักวิจัย และผู้ที่ได้รับประโยชน์