โกงเอง จับเอง นักเลงพอ: การทุจริตในกระบวนการยุติธรรมไทย

ประเด็นสำคัญ

  • ครัวเรือนที่เคยเข้ากระบวนการยุติธรรม 1 ใน 10 เคยถูกเรียกรับสินบน จากทั้งตำรวจ อัยการ และศาล โดยแต่ละหน่วยงานจะมีวิธีทุจริตแตกต่างกันออกไปตามหน้าที่
  • หน่วยงานยุติธรรมแต่ละหน่วยเป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน ขาดการทำงานร่วมกัน เมื่อผนวกกับการขาดการอำนาจจากภายนอกมาถ่วงดุลหรือตรวจสอบ จึงทำให้หน่วยงานเหล่านี้ถูกแทรกแซงการทำงานได้ง่ายจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า
  • การปฏิรูประบบยุติธรรมที่ผ่านมายังคงไม่ยึดโยงกับประชาชนมากนัก เพราะแต่ละหน่วยงานล้วนต้องการความเป็นอิสระในการทำงาน ทำให้วัฒนธรรมของระบบราชการที่เป็นเสาหลักของระบบทุจริตในกระบวนการยุติธรรมอย่าง 'จารีตรัฐเป็นใหญ่' และการ 'ให้ความจงรักภักดีต่อองค์กร' ยังคงอยู่

เมื่อพูดถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทย การทุจริตคงเป็นสิ่งแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ซึ่งไม่ว่าตำรวจ อัยการ หรือศาล ต่างก็เคยตกเป็นประเด็นในหน้าข่าวทุกยุคทุกสมัยว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์หรือใช้อำนาจอย่างไม่ตรงไปตรงมา

คดีหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของสังคมคือ กรณีทายาทบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ขนาดผู้เสียชีวิตเป็นคนในกระบวนการยุติธรรมกันเอง การทำคดียังเหมือนวางบทเป็นฉากๆ ให้ผู้ต้องหารอดพ้นคดี จนนำไปสู่การสอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องครั้งใหญ่ซึ่งมีทั้งตำรวจและอัยการถูกลงโทษ

เมื่อเกิดการทุจริต ผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานราชการหลายคนก็ต่างป่าวประกาศว่าต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่จนแล้วจนรอด แม้ว่าจะมีอำนาจมากเท่าใด ผู้นำเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถฝ่าแรงต้านจากคนในองค์กรยุติธรรมที่ปฏิเสธการปฏิรูปตนเองได้

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนผู้อ่านสำรวจปัจจัยค้ำจุนการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมไทย และค้นหาคำตอบว่าเหตุใดการแก้ปัญหายังไม่ประสบความสำเร็จเสียที

1 ใน 10 ครัวเรือนที่เคยเข้ากระบวนการยุติธรรมเคยถูกเรียกสินบน

ปัญหาการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมเป็นความเข้าใจร่วมของคนในสังคม งานวิจัยสำรวจสถานการณ์การทุจริตในสังคมไทยพบว่าระหว่างปี 2009 และ 2014 มีผู้ให้ความเห็นว่าเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและความเป็นอิสระจากระบบราชการน้อยลง อีกทั้งมีคนที่เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นให้ประโยชน์กับผู้มีอำนาจและฐานะร่ำรวยจำนวนมากขึ้น ในปี 2014 ตำรวจเป็นองค์กรที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าไม่สุจริตมากที่สุดในบรรดาหน่วยงานราชการทั้งหมด[1]ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ยงยุทธ ไชยพงศ์, และธานี ชัยวัฒน์. (2557). คอร์รัปชันในระบบราชการไทยการสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน. … Continue reading

ผลสำรวจยังพบอีกว่าในปี 2014 ร้อยละ 10.8 หรือประมาณหนึ่งในสิบของครัวเรือนที่เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีประสบการณ์ถูกเรียกสินบน มูลค่าของสินบนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 28,371.15 บาท ทำให้ยอดรวมต้นทุนที่สังคมต้องจ่ายให้กับการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ประมาณ 3,665 ล้านบาทต่อปี ณ ขณะนั้น ในจำนวนนี้เป็นการเรียกสินบนโดยผู้พิพากษาและอัยการในจำนวนใกล้เคียงกัน ที่องค์กรร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ศาลและทนายความ[2]เพิ่งอ้าง.

1 ใน 10 ครัวเรือนที่เข้ากระบวนการยุติธรรม เคยถูกเรียกสินบน
1 ใน 10 ครัวเรือนที่เข้ากระบวนการยุติธรรม เคยถูกเรียกสินบน

นอกจากความเห็นและประสบการณ์ของครัวเรือนในอดีต จำนวนคดีที่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริงก็มีให้เห็นสำหรับทุกองค์กรในกระบวนการยุติธรรม และจำนวนคดีไม่ได้มีแนวโน้มลดลง[3]รวบรวมจากผลการดำเนินงานด้านคดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั่วราชอาณาจักร สำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. 2560 – 2566 ในปี 2017 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (ศาลอาญาทุจริตฯ) หน่วยงานองค์กรยุติธรรม ได้แก่ ตำรวจ อัยการ องค์กรศาล (ทั้งข้าราชการตุลาการและข้าราชการศาลยุติธรรม) ทนายความ รวมไปถึงกระทรวงยุติธรรม มีบุคลากรในสังกัดถูกฟ้องรวมกัน 551 คดี จำนวนคดีลดลงเล็กน้อยในปีต่อๆ มา ก่อนที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2023 ที่ 640 คดี

ตำรวจเป็นหน่วยงานที่ถูกฟ้องในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมากที่สุดในกลุ่มองค์กรยุติธรรมทั้งหมด ในปี 2023 ตำรวจเพียงองค์กรเดียวก็ถูกฟ้องในคดีทุจริต 553 คดี อย่างไรก็ดี ใช่ว่าองค์กรอื่นจะมีคดีไม่มากหรือไม่มีคดีเลย ในปี 2021 มีคดีทุจริตซึ่งจำเลยสังกัดองค์กรศาลและอัยการรวมกันถึง 128 คดี

เมนูทุจริตในกระบวนการยุติธรรม

การทุจริตในกระบวนการยุติธรรมเกิดจากบุคลากรใช้อำนาจและดุลพินิจของตนเองในทางมิชอบ เพื่อบิดกระบวนการหรือผลลัพธ์ให้เป็นไปในทางที่ให้ประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยแต่ละองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ตำรวจ อัยการ และศาลมีลักษณะการทุจริตแตกต่างกันไปตามอำนาจหน้าที่

ตำรวจ

ตำรวจเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม โดยมีพนักงานสอบสวนเป็นกลไกสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐาน และหากเห็นว่าควรนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ก็จะต้องจัดทำสำนวนพร้อมพยานหลักฐานเพื่อส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง

กระบวนการยุติธรรมไทยแยกอำนาจในการสอบสวนและฟ้องร้องออกจากกัน โดยน่าจะเป็นเหตุมาจากผู้วางรากฐานระบบกฎหมายนั้นต้องการให้อัยการเป็นกลางในการสั่งคดี[4]จิราธร เจริญวุฒิ. (2550). วิวัฒนาการการสอบสวนคดีอาญา: ศึกษาบทบาทของพนักงานอัยการ. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. https://libdoc.dpu.ac.th/thesis/118062.pdf . ระบบดังกล่าวให้อำนาจกับตำรวจและพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างมาก โดยที่อัยการไม่มีส่วนร่วมในการสอบสวนโดยตรง ทำได้เพียงกลั่นกรองสำนวนที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ส่งมาเท่านั้น

การผูกขาดงานสอบสวนของตำรวจและพนักงานสอบสวนกลายเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจเพื่อแลกรับผลประโยชน์ การทุจริตรูปแบบหนึ่งคือ การจ่ายสินบนให้ตำรวจเพื่อ ‘ล้มคดี’ หมายถึงการเรียกรับเงินเพื่อให้หยุดการดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นตำรวจ โดยที่พนักงานสอบสวนตัดสินใจไม่ส่งฟ้องต่ออัยการ อีกรูปแบบหนึ่งคือ ‘การตัดแต่งหลักฐาน’ ให้สำนวนอ่อนลง พนักงานสอบสวนอาจจะเลือกใส่หรือไม่ใส่หลักฐาน หรือแก้ไขพยานหลักฐานบางประการเพื่อชี้นำคดีไปในทิศทางที่ต้องการ กรณีหนึ่งที่พบได้บ่อยคือพนักงานสอบสวนแก้ไขลดจำนวนยาเสพติดในครอบครองเพื่อให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมายน้อยลง[5]สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. (9 สิงหาคม 2566). เกร็ดความรู้…สู้ทุจริต เรื่อง “กรณีศึกษาการทุจริต” ประจำวันที่ 3 5 7 … Continue reading

ตัวอย่างของการใช้ดุลพินิจเพื่อสอบสวนในทางที่ผิดของตำรวจคือคดีประวัติศาสตร์ ‘เชอรี่แอน’ ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกเร่งรัดจากผู้บังคับบัญชาให้หาผู้กระทำผิดให้ได้โดยเร็ว[6]เจริญ แก้วยอดกล้า. (2549). ผลกระทบจากการผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมกรณี “คดีเชอรี่แอน.” สถาบันพระปกเกล้า. https://kpi-lib.com/elib/cgi-bin/opacexe.exe?op=mmvw&db=Main&skin=s&mmid=1512&bid=8880 . ผลที่ตามมาคือพนักงานสอบสวนว่าจ้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำแพะจำนวนห้าคน ทำให้ผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมานฟ้องร้องในชั้นศาล และอยู่ในเรือนจำกว่า 10 ปีก่อนที่ศาลฎีกาจะยกฟ้อง บางรายเสียชีวิตในเรือนจำหรือต้องสูญเสียครอบครัว หลังจากที่มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นอีกครั้งจึงได้พบผู้สั่งฆ่าตัวจริง ซึ่งหนึ่งในจำเลยเป็นผู้สนิทสนมกับผู้บังคับบัญชาของตำรวจเจ้าของคดีด้วย[7]มติชนสุดสัปดาห์. (22 พฤศจิกายน 2565). ย้อนคดีเชอรี่แอน “แพะในตำนาน” คดีประวัติศาสตร์ยืดเยื้อ จ่าย 26 ล้านไถ่บาป “ตำรวจ” ยื้อจนสุดทาง. … Continue reading

อัยการ

แม้ว่าอัยการจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการสอบสวนมากนัก แต่อัยการก็มีอำนาจในการสั่งฟ้องคดีที่ตำรวจส่งมาให้ต่อศาล ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คดีนั้นก็จะจบลงทันที ทำให้อัยการสามารถใช้อำนาจในมือเรียกรับผลประโยชน์แลกกับคำสั่งไม่ฟ้อง เช่น กรณีอัยการพิเศษแนะนำจำเลยในคดีที่ตนรับผิดชอบให้ถอนหนังสือขอความเป็นธรรมเพื่อให้มีอำนาจเต็มในการสั่งคดี หลังจากนั้นก็เรียกจำเลยไปจ่ายค่าอาหารให้ตนและลูกน้อง และมีการเรียกเงิน 300,000 บาทให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี[8]สำนักข่าวอิศรา. (24 มกราคม 2566). เปิดพฤติการณ์ทุจริต ‘อดีตอัยการ‘ เรียกจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน แลกไม่ฟ้องคดี.  … Continue reading

อัยการยังมีบทบาทในการ ‘วิ่งเต้น’ กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสั่งคดี เนื่องจากเวลาที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง จะต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาถ่วงดุลคำสั่งดังกล่าว จึงเกิดแนวทางที่อัยการเรียกรับสินบนโดยให้คำสัญญาว่าจะชักจูงให้หน่วยงานอื่นไม่เห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการด้วย เช่น กรณีหนึ่งที่จังหวัดภูเก็ต อัยการเรียกรับเงิน 10 ล้านบาทจากบริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า โดยเสนอว่าตนจะโน้มน้าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของอัยการ ซึ่งท้ายที่สุดถูกแย้งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าควรสั่งฟ้อง[9]สำนักข่าวอิศรา. (27 มีนาคม 2567). ตัดสินแล้ว! คดีคลิปเสียงเรียกเงิน10 ล. 2 อดีตอัยการภูเก็ต โดนโทษคุก 12 ปี / 8 ปี.  https://www.isranews.org/article/isranews-news/121850-inves09-545-89.html .

ศาล

เมื่อคดีเดินทางมาถึงในชั้นศาล ผู้พิพากษาบางคนก็อาจจะเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือทางคดี โดยใช้อำนาจในการยกฟ้องคดีหรือให้ประกันตัวจำเลยเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เรียกรับสินบนจากชาวไต้หวันเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท โดยอ้างว่าตนเองรู้จักกับผู้พิพากษาในจังหวัดสมุทรปราการและสามารถวิ่งเต้นให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวได้[10]ไทยรัฐออนไลน์. (1 กรกฎาคม 2566). คุก 5 ปี ริบ 20 ล้านบาท ผู้พิพากษาอุทธรณ์ ตบทรัพย์ไต้หวัน อ้างช่วยปล่อยตัว. https://www.thairath.co.th/news/crime/2706053 . หรือในกรณีคดีขนาดใหญ่ที่มีผลทางการเมืองหรือธุรกิจก็ปรากฏข่าวข้อครหาการรับสินบนของผู้พิพากษาอยู่เป็นระยะ เช่น มีผู้พิพากษารับสินบนเพื่อให้ความช่วยเหลือบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย ในการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์[11]บีบีซีไทย. (10 เมษายน 2564). สินบนโตโยต้า: เกิดอะไรขึ้นหลังโตโยต้า มอเตอร์ สอบสวนกรณีสาขาไทยจ่ายใต้โต๊ะผู้พิพากษา. https://www.bbc.com/thai/thailand-56685842 .

เมนูทุจริตในหน่วยงานยุติธรรม
เมนูทุจริตในหน่วยงานยุติธรรม

หน่วยงานยุติธรรมเป็นเอกเทศ การถ่วงดุลจากภายนอกไม่มีประสิทธิภาพ เสี่ยงถูกแทรกแซงจากภายใน

สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในการจัดการกับทุจริตในกระบวนการยุติธรรม คือการขาดการถ่วงดุลอำนาจและดุลพินิจระหว่างองค์กรยุติธรรม เนื่องจากลักษณะของหน่วยงานยุติธรรมมีความเป็นเอกเทศสูงและผูกขาดงานของตนเอง โดยมักจะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยองค์กรจากภายนอกอย่างเพียงพอ สภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงเอื้อให้เกิดการทุจริตหรือการแทรกแซงได้ง่ายจากคนในองค์กร โดยเฉพาะจากผู้บังคับบัญชาที่อาจเข้ามาก้าวก่ายความเป็นอิสระและการใช้ดุลพินิจของผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน


คดีกระทิงแดง: ตำรวจผูกขาดงานสอบสวน

ตัวอย่างสำคัญคือตำรวจและพนักงานสอบสวนมีดุลพินิจอย่างเต็มที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานและทำสำนวนโดยที่ไม่มีการควบคุมจากอัยการ

คดีบอส อยู่วิทยา เป็นคดีที่อยู่ในความทรงจำของคนในสังคมในฐานะตัวอย่างของกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวให้กับคนมีฐานะร่ำรวย ในขณะเดียวกัน คดีนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ในระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรยุติธรรมด้วยกันเองที่เน้นให้อำนาจและดุลพินิจกับแต่ละองค์กรมากเกินไป

วรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส เป็นหลานของเจ้าของธุรกิจใหญ่ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขับรถชนตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิต ในขั้นตอนการจับกุม ความผิดปกติแรกเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ทองหล่อ สร้างพยานหลักฐานเท็จโดยนำตัวผู้ดูแลรถของบอสมามอบตัวว่าเป็นผู้ขับรถ อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีพยานพบเห็นว่าไม่ใช่ความจริง สุดท้ายจึงต้องมีการเจรจาให้บอสยอมมอบตัวและสารภาพว่าเป็นผู้ขับรถ[12]ฐานเศรษฐกิจ. (24 กรกฎาคม 2563).ไทม์ไลน์คดี “บอส อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดง ก่อนหลุดทุกข้อกล่าวหา. https://www.thansettakij.com/general-news/443102 .

ความผิดปกติประการที่สองคือเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทันทีหลังจากเกิดเหตุอย่างที่ควรจะเป็น และปล่อยบอสที่เป็นผู้ต้องหากลับบ้านไปก่อน ต้องรอถึงในวันต่อมาที่มีการเจรจาให้ยอมมอบตัวแล้วจึงจะตรวจ ทำให้บอสสามารถอ้างได้ว่าตนดื่มแอลกอฮอล์หลังจากเกิดเหตุด้วยความเครียด ความผิดพลาดนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต่อมาบอสไม่ถูกฟ้องในข้อหาเมาแล้วขับ[13]บีบีซีไทย. (2 สิงหาคม 2565). บอส อยู่วิทยา : อัยการสูงสุดแจงทำไมข้อหาเสพโคเคนของทายาทกระทิงแดงจึงหมดอายุความ. https://www.bbc.com/thai/thailand-62389023 .

ในขั้นตอนการสอบสวนก็พบความผิดปกติในการทำงานของตำรวจอีกเช่นกัน เริ่มจากพนักงานสอบสวนตั้งข้อหากับตำรวจผู้ตายว่ากระทำโดยประมาท โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการทำให้ผู้ตายเป็นผู้ต้องหาร่วมนี้เป็นความพยายามในการบิดรูปคดีให้บอสได้ประโยชน์ หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนความเร็วของรถจากเดิมที่มีการคำนวณว่าอยู่ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นไม่ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[14]กรุงเทพธุรกิจ. (2 ธันวาคม 2565). มติ ก.อ.ให้ออกราชการ “ชัยณรงค์” อดีตอัยการแนะเปลี่ยนความเร็วรถ “คดีบอส.”  https://www.bangkokbiznews.com/politics/1041097#google_vignette .

สิ่งที่เอื้อให้เกิดความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้คือ การผูกขาดงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม พนักงานสอบสวน พนักงานพิสูจน์หลักฐาน ต่างเป็นองค์กรที่สังกัดตำรวจเหมือนกัน ทำให้เกิดการแทรกแซงหรือร่วมมือกันได้ง่ายจากระบบบังคับบัญชาภายใน ซึ่งกรณีของบอส สิ่งผิดปกติในขั้นตอนการจับกุมทั้งการนำผู้ต้องหาเท็จมามอบตัวหรือการไม่ตรวจแอลกอฮอล์ทันที ก็มาจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสิ้น หรือในกรณีการเปลี่ยนความเร็วรถก็พบว่ามีการสั่งฟ้องตำรวจหลายนายในภายหลัง ตั้งแต่อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน และพนักงานสืบสวนสอบสวน สน. ทองหล่อ ว่ามีส่วนร่วมในการตัดแต่งหลักฐานเพื่อช่วยเหลือบอส[15]กรุงเทพธุรกิจ. (22 กุมภาพันธ์ 2567). ด่วน! อสส.มีมติสั่งฟ้องอาญา 8 ผู้ต้องหาคดีบอส ‘สมยศ-เนตร’ โดนด้วย.  https://www.bangkokbiznews.com/politics/1115061 .

งานสอบสวนในไทยยังปราศจากการถ่วงดุลจากหน่วยงานอื่นที่เป็นอิสระจากองค์กรตำรวจ องค์กรหนึ่งที่มีบทบาทน้อยกว่าที่ควรจะเป็นคืออัยการ ซึ่งอัยการบางคนเรียกสำนวนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมาว่าเหมือน ‘นิยายสอบสวน’ เนื่องจากอัยการไม่สามารถทราบได้ว่าพยานหลักฐานที่ตำรวจเสนอมานั้นถูกต้องหรือไม่ และจะรู้ข้อเท็จจริงของคดีเท่าที่ตำรวจเขียนมาในสำนวน และหากจะต้องการสอบสวนเพิ่มก็ต้องสั่งผ่านพนักงานสอบสวนเท่านั้น[16]สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม. (20 กันยายน 2565). วงสัมมนา ยันป.วิ อาญาไทยไม่มีปัญหา แต่อัยการสั่งฟ้องตาม ‘นิยายสอบสวน’ ของ ตร. … Continue reading ทำให้มักเกิดข้อขัดแย้งระหว่างพนักงานสอบสวนที่ไม่ต้องการให้อัยการเข้ามาก้าวก่ายงานสอบสวน และอัยการที่เห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่มากพอหรือสงสัยว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งสองด้าน[17]วิวัฒนาการการสอบสวนคดีอาญา: ศึกษาบทบาทของพนักงานอัยการ. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

ในต่างประเทศ ระบบงานสอบสวนไม่ได้แยกงานสอบสวนและงานฟ้องร้องคดีออกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ถือว่าเป็นกระบวนการเดียวกัน ทำให้อัยการมีบทบาทร่วมสอบสวนกับตำรวจ ในประเทศฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องแจ้งอัยการ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นอิสระจากตำรวจทันทีเมื่อเกิดอาชญากรรม[18]น้ำแท้ มีบุญสล้าง. ระบบการสอบสวนคดีอาญาตามาตรฐานสากล. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ. https://www.ijrforum.org/wp-content/uploads/2019/01/ระบบการสอบสวนคดีอาญาสากล.pdf . หรือในประเทศเยอรมนีที่ให้อัยการเป็นหัวหน้าการสอบสวนและมีอำนาจในการสั่งตำรวจได้ ตำรวจเยอรมันเป็นเพียง ‘องค์กรที่ทำหน้าที่สอบสวนของอัยการ’[19]สันติ ผิวทองคำ. (2564). ระบบสอบสวนคดีอาญาในบทบาทพนักงานสอบสวนที่เหมาะสมกับประเทศไทย. วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. การมีหลายหน่วยงานที่เป็นอิสระต่อกันและรับรู้การสอบสวนร่วมกันจะสร้างการถ่วงดุลที่ทำให้การบิดเบือนหลักฐานทำได้ยากขึ้น การที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาเท็จไปมอบตัวเหมือนในคดีบอสก็จะทำได้ลำบากยิ่งขึ้นเพราะต้องมีอัยการหรือองค์กรอื่นรับทราบด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่ให้หน่วยงานฝ่ายปกครองอื่นๆ มีอำนาจสอบสวนด้วย ขึ้นอยู่กับประเภทของคดี แทนที่จะให้ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนผูกขาดอยู่ฝ่ายเดียว เช่น กรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายป่าไม้โดยตรง สามารถรวบรวมพยานหลักฐานและทำสำนวนในคดีความผิดเกี่ยวป่าไม้เพื่อส่งให้อัยการมีคำสั่งคดีได้เอง[20]น้ำแท้ มีบุญสล้าง. (22 มิถุนายน 2566). ความยุติธรรมล่าช้า ราคาแพง เมื่อ “เจ้าหน้าที่บิดเบือนทำลายพยานหลักฐาน.” สถาบันนิติวัชร์. … Continue reading อันเป็นการถ่วงดุลอำนาจของตำรวจด้วยอีกวิธีหนึ่ง

หน่วยงานยุติธรรมเป็นเอกเทศ การถ่วงดุลจากภายนอกไม่มีประสิทธิภาพ
หน่วยงานยุติธรรมเป็นเอกเทศ การถ่วงดุลจากภายนอกไม่มีประสิทธิภาพ

คดีกระทิงแดง: ถ่วงดุลคำสั่งฟ้องไม่มีประสิทธิภาพ

คดีบอส อยู่วิทยา ยังพบปัญหาในขั้นตอนการสั่งคดีของอัยการ จุดเด่นชัดที่สุดคือทนายความร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการเป็นจำนวนมากถึง 14 ครั้ง ขอเลื่อนคดี รวมถึงยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประวิงเวลาออกไป โดยในช่วงเวลาดังกล่าว บอสก็ได้ใช้โอกาสหลบหนีออกนอกประเทศจนถึงตอนนี้ก็ไม่สามารถตามตัวกลับมาได้ และหลายข้อหาต้องหมดอายุความไปก่อนที่จะถูกฟ้องร้อง เช่น ข้อหาไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรซึ่งมีอายุความห้าปี คดีนี้กลายเป็นที่สนใจสูงสุดเมื่อรองอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องหลังจากยื่นขอความเป็นธรรมครั้งที่ 14 โดยตำรวจก็มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งของอัยการอีกด้วย

ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในกรณีบอสคือ การใช้ช่องทางขอความเป็นธรรมในการประวิงคดี เนื่องจากงานสอบสวนและงานฟ้องคดีแยกขาดจากกัน กลไกการขอความเป็นธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเปิดช่องให้ผู้ต้องหาที่เห็นว่าตำรวจทำการสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานไม่เป็นธรรม สามารถทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นกับอัยการเพื่อขอให้สอบสวนเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี การขอความเป็นธรรมกลับกลายเป็นปัญหา ดังที่ปรากฏในกรณีบอส ผู้ต้องหาหลายรายใช้วิธีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมซ้ำๆ โดยขอให้สอบสวนเพิ่มเติมเพื่อถ่วงเวลาการมีคำสั่งคดีของอัยการออกไป

ในปี 2020 มีการแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการขอความเป็นธรรมของอัยการเพื่ออุดช่องว่างในคดีบอส โดยให้ผู้ร้องขอความเป็นธรรมต้องมาปรากฏตัวด้วยตนเองกับอัยการ และหากมีการร้องขอความเป็นธรรมด้วยประเด็นเดิมก็สามารถยุติเรื่องได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าระเบียบยังขาดความชัดเจนในเรื่องของระยะเวลาการขอความเป็นธรรมที่อาจจะส่งผลต่ออายุความ[21]พาขวัญ จิระนภารัตน์. ปัญหาระบบการสอบสวนคดีอาญาและการฟ้องคดีอาญาของไทย. มหาวิทยาลัยรามคำแหง.http://www.lawgrad.ru.ac.th/AbstractsFile/6312019041/1662783044d1c7eb97116837268ca8460c958d15f8_abstract.pdf .

อีกหนึ่งปัญหาในการสั่งคดีที่ปรากฏในคดีบอสคือ การขาดประสิทธิภาพในการถ่วงดุลการสั่งฟ้องคดี แม้ว่าการสั่งฟ้องคดีจะมีการถ่วงดุลมากกว่างานสอบสวน แต่ก็ยังจำกัดอยู่แค่ในองค์กรสังกัดระบบราชการ ในปัจจุบัน หากอัยการมีความเห็นแย้งพนักงานสอบสวนว่าไม่ควรสั่งฟ้อง สำนวนนั้นจะถูกส่งให้ผู้บัญชาการตำรวจเป็นผู้ทำความเห็น ในกรณีที่ตำรวจยังคงยืนยันว่าต้องสั่งฟ้อง อธิบดีกรมอัยการจะพิจารณาชี้ขาด

กระบวนการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2014 ก่อนหน้านี้ หากพนักงานสอบสวนและอัยการเห็นต่างกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ทำความเห็น ซึ่งหากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นแย้งกับอัยการว่าไม่ควรสั่งฟ้อง อัยการสูงสุดจะเป็นผู้ชี้ขาด การแก้ไขกฎหมายของ คสช. ทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่างกัน ฝ่ายตำรวจเห็นด้วยกับการให้ผู้บังคับการตำรวจเป็นผู้ทำความเห็นในกรณีที่อัยการเห็นแย้งพนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและมีการอื่นๆ มากมายอยู่แล้ว ทำให้กระบวนการล่าช้า แต่ฝ่ายอัยการกลับไม่เห็นด้วย โดยชี้ว่าการตัดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นองค์กรที่สามจะทำลายการถ่วงดุลอำนาจการสั่งฟ้องคดีและทำให้ตำรวจมีอำนาจคุมอัยการ[22]การโอนอำนาจถ่วงดุลคำสั่งฟ้องคดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ตำรวจเป็นเรื่องที่ตำรวจผลักดันการมานาน ในปี 2007 … Continue reading

ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ข้อถกเถียงหลักในสังคมไทยก็ยังอยู่แค่การให้หน่วยงานราชการเป็นผู้ถ่วงดุลคำสั่งฟ้อง ซึ่งคดีของบอสก็แสดงให้เห็นแล้วว่าอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเมื่อฝ่ายตำรวจก็ไม่ได้แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ

ในต่างประเทศ ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการด้วยอีกขั้นหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นมีคณะกรรมการตรวจสอบการฟ้อง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากประชาชนทำหน้าที่ควบคุมการใช้ดุลพินิจของอัยการในทางอ้อม โดยคณะกรรมการจะทำความเห็นส่งต่อผู้ควบคุมดูแลอัยการให้พิจารณาใหม่ หากเห็นแย้งกับคำสั่งของอัยการ[23]มรุสันต์ โสรัตน์. (2558). การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีอาญาของอัยการ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2015/TU_2015_5501031685_2699_3396.pdf .

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการขาดการถ่วงดุลอำนาจชี้ขาดของอัยการสูงสุด สำนักอัยการสูงสุดเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากกรณีไม่สั่งฟ้องหกคดีขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงคดีบ่อนพนันออนไลน์ มาวินเบต ดอทคอม คดีบุกรุกป่ากว่า 6,000 ไร่ หรือคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด โดยมีข้อครหาว่าอัยการสูงสุดและอัยการระดับสูงหลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องจนต้องตั้งกรรมการสอบสวนและรื้อคดีขึ้นมาใหม่[24]สำนักข่าวอิศรา. (27 ธันวาคม 2566). ขยะ (ยังคงซุกอยู่) ใต้พรมในสำนักงานอัยการสูงสุด?. https://www.isranews.org/article/isranews-article/125054-ago.html . การขาดการตรวจสอบคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดทำให้มีการเสนอร่างระเบียบเพื่อใช้ลงโทษอัยการสูงสุดสำหรับการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ[25]สำนักข่าวอิศรา. (21 มกราคม 2567). ร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อสส.’ เสร็จแล้ว! ถ้า ก.อ.เห็นชอบอาจประเดิมใช้คดีรุกป่า 6 พันไร่. https://www.isranews.org/article/isranews/125654-inveslowsd.html . แต่ก็ยังไม่มีการเสนอกลไกถ่วงดุลภายนอก


คำพิพากษาถูกแทรกแซง

ในกรณีของศาลนั้นมีชื่อเสียงว่าเป็นองค์กรปิด การทำคำพิพากษาต่างๆ ใช้ระบบการตรวจสอบจากภายในเท่านั้น หลายครั้งจึงขาดความโปร่งใสและเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง

รูปแบบการทุจริตหนึ่งที่พบได้ทั่วไปเช่นเดียวกับองค์กรยุติธรรมอื่นคือ การที่ผู้พิพากษาเรียกรับสินบนโดยสัญญาว่าจะ ‘วิ่งเต้น’ ให้ เช่น กรณีผู้พิพากษาเรียกรับเงิน 175 ล้านบาทจากแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อให้ยกฟ้อง โดยผู้พิพากษาที่เรียกสินบนเร่งรัดให้จ่ายสินบนก่อนที่ ‘ท่าน’ จะหมดวาระ[26]ผู้จัดการออนไลน์. (26 มิถุนายน 2566). เปิดลึก สินบนศาลอุทธรณ์ 175 ล้าน ล้มคดีกปปส. สงสัย แม่จำเลยคนดัง!?.  https://mgronline.com/news1/detail/9660000058097 .

อีกรูปแบบหนึ่งคือการจ่ายสำนวนโดยเจาะจงไปที่ผู้พิพากษาหรือองค์คณะผู้พิพากษา ซึ่งช่วยให้คาดการณ์ผลลัพธ์ในคำพิพากษาได้ เป็นที่รู้กันภายในว่าผู้พิพากษาหรือองค์คณะใดมีแนวโน้มจะยกฟ้องหรือลงโทษเมื่อต้องพิจารณาคดีบางประเภท ดังนั้น หากรู้องค์คณะผู้รับผิดชอบสำนวนก็อาจคาดเดาผลคำตัดสินได้ตามรูปคดีที่คล้ายกันในอดีต[27]Nitivajra Channel. (15 กันยายน 2565). “เปลี่ยนให้ผ่าน กระบวนการยุติธรรมไทย.https://www.youtube.com/watch?v=GvGvCFseQ68&t=3s . ทั้งนี้ ปัญหาการ ‘ล็อก’ ตัวผู้รับผิดชอบสำนวนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้พิพากษาเท่านั้น แต่ยังพบได้ในอัยการด้วย

การเจาะจงผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสำนวนเกิดขึ้นเพราะระเบียบการจ่ายสำนวนนั้นให้ดุลพินิจกับผู้พิพากษาระดับหัวหน้ามากและไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน พระธรรมนูญศาลยุติธรรมและระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายสำนวนคดี พ.ศ. 2544 ระบุให้การจ่ายสำนวนเป็นหน้าที่ของประธานศาลในระดับต่างๆ อธิบดี หัวหน้าศาล หรือหัวหน้าแผนกคดีแล้วแต่กรณี โดยให้ยึดหลักเกณฑ์อาวุโส ความเชี่ยวชาญ หรือความเหมาะสมแล้วแต่ประเภทของสำนวนเท่านั้น ในกรณีของอัยการนั้นก็ไม่ต่างกันนัก ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 กำหนดให้หัวหน้าพนักงานอัยการเป็นผู้จ่ายสำนวนการสอบสวนโดยไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์ในการจ่ายสำนวนเอาไว้

นอกจากนี้ การแทรกแซงคำพิพากษาสามารถทำได้โดยตรงผ่านการตรวจร่างคำพิพากษา ศาลยุติธรรมมีระเบียบรายงานคดีสำคัญที่กำหนดให้คดีบางประเภท เช่น คดีเกี่ยวกับความมั่นคง คดียาเสพติดร้ายแรง คดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีชื่อเสียง หรือคดีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาให้หัวหน้าผู้พิพากษา (อธิบดีผู้พิพากษาภาคหรือประธานศาลฎีกาแล้วแต่กรณี) เป็นผู้ตรวจก่อน แม้ว่าการตรวจร่างคำพิพากษาจะมีเป้าหมายเพื่อรักษาแนวคำตัดสินและดุลพินิจให้มีบรรทัดฐานเดียวกันเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนผลของคดีได้ แต่ในทางปฏิบัติ การตรวจนี้ก็กลายเป็นช่องทางให้ผู้พิพากษาระดับสูงสามารถเข้ามาก้าวก่ายคำตัดสิน สร้างแรงกดดันให้กับเจ้าของสำนวนผ่านอำนาจสั่งย้ายผู้พิพากษาชั่วคราวหากไม่ทำตามการแก้ไขของหัวหน้าผู้พิพากษา[28]โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์). (5 ตุลาคม 2562). “คดีสำคัญ” ผู้พิพากษาต้องส่งร่างให้อธิบดีภาคตรวจ และรายงานประธานศาลฎีกา. … Continue reading

กรณีที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากคือการจบชีวิตตนเองของ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่อัยการยื่นฟ้องชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร คณากรเขียนแถลงการณ์ว่าตนถูกอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจร่างคำพิพากษาและสั่งให้เปลี่ยนคำตัดสินจากยกฟ้องเป็นประหารชีวิตจำเลยสามคน และอีกสองคนให้จำคุก ทำให้ตนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและกดดัน[29]บีบีซีไทย. (5 ตุลาคม 2562). คณากร เพียรชนะ : 10 ข้อความในแถลงการณ์ 25 หน้า ที่สั่นสะเทือนระบบตุลาการไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-49943661 ทั้งนี้ ปฏิกิริยาของศาลหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่คณากรจบชีวิตตนเองคือ การเสนอให้ตรวจสุขภาพจิตของผู้พิพากษาทุกห้าปี และตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาและพัฒนาระเบียบการตรวจร่างคำพิพากษาซึ่งยังไม่มีความคืบหน้า

ต่างประเทศจะวางระบบถ่วงดุลคำพิพากษาโดยใช้การมีส่วนร่วมจากประชาชน ผ่านระบบลูกขุนหรือผู้พิพากษาสมทบ สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีการนำระบบลูกขุนมาใช้ ในระยะหลัง แม้กระทั่งประเทศที่ใช้ระบบซิวิลลอว์ (civil law) ก็เริ่มใช้ลูกขุนในคดีสำคัญเพื่อสร้างความโปร่งใส เช่น เกาหลีใต้ทดลองใช้ลูกขุนครั้งแรกในปี 2008 ก่อนจะใช้อย่างเป็นทางการในปี 2016[30]พรเพชร ชลศักดิ์ตระกูล. (2561). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/6149 . ส่วนระบบผู้พิพากษาสมทบนั้นในประเทศไทยยังมีจำกัดเฉพาะคดีในศาลชำนัญพิเศษเท่านั้น เช่น ศาลแรงงาน และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่ประเทศอื่นอย่างฝรั่งเศสใช้ในคดีอาญาร้ายแรงที่มีโทษจำคุกสิบปีขึ้นไป[31]เพิ่งอ้าง. หรือในญี่ปุ่นที่ใช้องค์คณะผู้พิพากษาสามัญชน (saiban-in) ซึ่งมีประชาชนทั่วไปนั่งพิจารณาคดีพร้อมกับผู้พิพากษาอาชีพ[32]ผุสดี เจริญเกียรติ. (2559). การพิจารณาพิพากษาโดย Saiban-in. ดุลพาห เล่ม 2 ปีที่ 59.

หน่วยงานยุติธรรมเป็นเอกเทศ เสี่ยงถูกแทรกแซงจากภายใน
หน่วยงานยุติธรรมเป็นเอกเทศ เสี่ยงถูกแทรกแซงจากภายใน

ระบบปราบทุจริตเน้นจับกันเองในองค์กร

เมื่อเกิดข้อกล่าวหาว่ามีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอาจเกี่ยวข้องกับการทุจริต จะต้องมีระบบการตรวจสอบและลงโทษที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม ระบบปราบทุจริตในไทยยังมีแนวโน้มเชื่อใจคนในและไม่ไว้ใจคนนอก ทำให้ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรในองค์กรกันเองที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามการทุจริต สภาพดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาการขาดความโปร่งใส และอาจมีความเห็นใจกันเองจนไม่สามารถสอบสวนการทุจริตและลงโทษได้อย่างตรงไปตรงมา

ผู้พิพากษาและอัยการมีระบบในการสอบสวนการทุจริตโดยพึ่งพาคนในเหมือนกัน กล่าวคือ เมื่อมีการกล่าวหาว่ามีการทุจริต ผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้รับผิดชอบในหน่วยงานศาลหรืออัยการนั้นจะต้องดำเนินการสอบสวนเองหรือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน โดยคณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยกรรมการอย่างน้อยสามคนซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการทั้งหมด หากพบว่ามีความผิดทางวินัยจริง ในกรณีของอัยการก็จะต้องให้คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นผู้พิจารณาลงโทษ ส่วนในกรณีของศาล ก็จะมีการตั้งอนุกรรมการสอบสวนประจำชั้นศาลขึ้นมากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นผู้พิจารณาลงโทษ

นอกจากในขั้นสอบสวนจะดำเนินการด้วยคนในทั้งหมดแล้ว ส่วนประกอบของ ก.อ. หรือ ก.ต. ก็เต็มไปด้วยอัยการหรือผู้พิพากษาไม่ต่างกัน ทั้งสองคณะกรรมการนี้มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน ในส่วนของ ก.อ. มีกรรมการที่เป็นอัยการหรือมาจากการเลือกของอัยการ 12 คน ในขณะที่อีกสามคนนั้นมาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา (สองคน) และคณะรัฐมนตรี (หนึ่งคน) โดยจะเคยหรือไม่เคยเป็นอัยการก็ได้ สำหรับ ก.ต. กรรมการ 13 คนมาจากผู้พิพากษา และมีกรรมการทรงคุณวุฒิแค่สองคนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาโดยมาจากการเลือกของผู้พิพากษาทุกศาล

การจับทุจริตในองค์กรสร้างปัญหาเรื่องความโปร่งใส รวมถึงข้อครหาว่าคนในองค์กรอาจมีความเห็นใจต่อผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นคนในด้วยกันเอง สิ่งนี้สะท้อนออกมาในคำตัดสินดังที่ได้รับการจับตาจากสังคม เช่น กรณีการไม่ตั้งกรรมการสอบสวนการแทรกแซงคำพิพากษาที่นำไปสู่การจบชีวิตตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ[33]ผู้จัดการออนไลน์. (18 มีนาคม 2563). ก.ต.ยุติสอบวินัย ภายหลังผู้พิพากษา “คณากร” ยิงตัวเองดับ. https://mgronline.com/crime/detail/9630000027214 . กรณี ก.ต. มีมติเฉียดฉิวแปดต่อเจ็ดเสียง ไม่สั่งพักราชการรองอธิบดีศาลอาญาที่ถูกกล่าวหาว่ากดดันให้ผู้พิพากษาเวรและตำรวจถอนหมายจับ สว.[34]สำนักข่าวอิศรา. (16 มกราคม 2567). เฉียดฉิว! ก.ต.ลงมติ 8:7 ไม่สั่งพักราชการ ‘รองอธิบดีศาลอาญา’ คดีเพิกถอนหมายจับ สว.อุปกิต. https://www.isranews.org/article/isranews-news/125529-invesnewstooppoo.html หรือกรณีที่ ก.อ. ลงมติไม่ตั้งกรรมการสอบสวนเนตร นาคสุขจากการสั่งไม่ฟ้องบอส[35]ไทยพีบีเอส. (18 สิงหาคม 2563). มติคณะกรรมการอัยการ ไม่ตั้งคกก.สอบวินัย “เนตร นาคสุข.https://www.thaipbs.or.th/news/content/295593 แต่ต้องเจอกับคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจนต้องสอบสวนใหม่และลงโทษทางวินัยในท้ายที่สุด

ในขณะที่คณะกรรมการสอบสวนของอัยการและศาลนั้นระบุว่าต้องเป็นคนในทั้งหมด ระเบียบของตำรวจกำหนดให้อย่างน้อยกึ่งหนึ่งจากกรรมการขั้นต่ำสามคนต้องเป็นตำรวจ ส่วนที่เหลือนั้นอาจจะไม่เป็นตำรวจก็ได้ อย่างไรก็ดี กรรมการทุกคนยังต้องมีตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำอยู่ หากกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีความผิด ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาลงโทษโดยที่สมาชิกนั้นเป็นตำรวจทั้งหมดอีกเช่นกัน

ทั้งนี้ ระบบการปราบทุจริตภายในองค์กรตำรวจดูเหมือนจะมีการเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบจากคนนอกอยู่บ้าง พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายให้เป็นองค์กรรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในกรณีที่ตำรวจประพฤติมิชอบ ก.ร.ตร. มีสัดส่วนกรรมการที่ไม่ได้มาจากการคัดเลือกกันเองของตำรวจำนวนหกคนจากกรรมการทั้งหมด 10 คน เช่น มาจากการคัดเลือกของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัยการ หรือศาล อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยของ ก.ร.ตร. ไม่ได้มีสภาพบังคับให้ผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษ อีกทั้ง แม้จะมีความพยายามในการเล่นบทบาทเชิงรุกด้วยการสืบสวนกรณีใหญ่บ้าง แต่การทำงานส่วนใหญ่ของ ก.ร.ตร. ที่ผ่านมาก็ยังจำกัดอยู่แค่เรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา ซึ่งมักเป็นการผิดวินัยหรือการทุจริตขนาดเล็ก[36]ไทยโพสต์. (8 ตุลาคม 2566). กรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ กับดาบในมือ ตรวจสอบสีกากี. https://www.thaipost.net/articles-news/462601/ .

ระบบปราบทุจริตเน้นจับกันเองในองค์กร
ระบบปราบทุจริตเน้นจับกันเองในองค์กร

ปฏิรูปติดหล่มความขัดแย้ง ไร้การยึดโยงประชาชน

ปัญหาของการขาดระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพอันนำไปสู่การทุจริตไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการต่อสู้เพื่อปฏิรูปแก้ไขมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม หลายข้อเสนอยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรยุติธรรมด้วยกันเองที่ไม่อยากให้องค์กรอื่นมาก้าวก่ายอำนาจและดุลพินิจของตนเอง ซ้ำร้าย ความเปลี่ยนแปลงหลายครั้งในนามของความเป็นอิสระกลับยิ่งทำให้องค์กรขาดความยึดโยงกับประชาชนขึ้นไปอีก

ข้อเสนอการปฏิรูปงานสอบสวนมีสองแนวทางใหญ่ แนวทางแรกคือการเพิ่มบทบาทของอัยการในการสอบสวนมากขึ้น แต่ตำรวจมักจะอ้างว่าอัยการนั้นไม่มีความเชี่ยวชาญในงานสอบสวน และจะทำให้อัยการเข้ามาครอบงำการทำงานของตำรวจซึ่งอาจนำไปสู่การร่วมมือกันทุจริต[37]มติชนออนไลน์. (17 ตุลาคม 2560). 5 ปมแย้งอัยการกรองสำนวนตำรวจ ‘รองผบก.กองคดีอาญา’ วิพากษ์ปฏิรูป. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_698178 . ดังที่ตำรวจผู้หนึ่งให้ความเห็นว่า “รบกับโจรก็เหนื่อยพอแล้ว ยังจะให้มาทะเลาะกับอัยการอีก”[38]มติชนสุดสัปดาห์. (31 ตุลาคม 2560). มนัส สัตยารักษ์ : ปฏิรูปตามกระแส. https://www.matichonweekly.com/column/article_61713 .

แนวทางต่อมาคือการทำให้พนักงานสอบสวนเป็นอิสระจากระบบบังคับบัญชาภายในของตำรวจที่มักเข้ามาแทรกแซงพยานหลักฐานและสำนวน โดยมีทั้งข้อเสนอให้แยกงานสอบสวนออกจากหน่วยงานอื่นแต่ยังอยู่ในองค์กรตำรวจ ไปจนถึงการปรับให้งานสอบสวนเป็นอิสระจากองค์กรตำรวจ แต่ก็ยังไม่มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม โดยข้ออ้างยอดนิยมคือการแยกงานสอบสวนออกมาจะทำให้องค์กรตำรวจขาดเอกภาพ ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เคยมีข้อเสนอให้แยกงานสอบสวนไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม แต่ก็เจอแรงต้านจากตำรวจ ทำให้ต้องประนีประนอมกันจนเกิดเป็นกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)[39]Thai Publica. (7 กันยายน 2564). “วิชา มหาคุณ” ผ่าร่างกฎหมายตำรวจ ดันสุดฤทธิ์ แยกฝ่ายสอบสวนเป็นอิสระ. https://thaipublica.org/2021/09/vicha-mahakun-reforming-the-national-police-agency/ . เช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เสนอให้งานสอบสวนต้องเป็นอิสระ รวมถึงข้อเสนอของคณะกรรมการที่มีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธานที่ให้แยกสายบังคับบัญชางานสอบสวน ซึ่งสุดท้ายก็ล้มเหลวทั้งหมด[40]ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล. (16 มีนาคม 2565). “ยิ่งการปฏิรูปตำรวจล่าช้า ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้น” มองก้าวต่อไปของการปฏิรูปตำรวจ กับ … Continue reading

ปฏิรูปติดหล่มความขัดแย้ง ไร้การยึดโยง
ปฏิรูปติดหล่มความขัดแย้ง ไร้การยึดโยง

ในส่วนของอัยการ ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาของอัยการในฐานะองค์กรยิ่งทำให้ขาดความยึดโยงกับองค์กรหรืออำนาจอื่น โดยเฉพาะอำนาจการเมืองที่มีตัวแทนจากการเลือกตั้ง แต่เดิม อัยการเป็นมีฐานะเป็นกรมอัยการสังกัดกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีแนวคิดคืออัยการนั้นเป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายผ่านการฟ้องร้อง จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลในฐานะแขนขาหนึ่งของฝ่ายบริหาร

อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารในปี 1991 มีความพยายามผลักดันจากภายในอัยการเองที่ต้องการให้อัยการมีฐานะทัดเทียมองค์กรตุลาการ[41]ผู้จัดการออนไลน์. (28 พฤษภาคม 2558). แนวทางการปฏิรูปสำนักงานอัยการสูงสุด.  https://mgronline.com/daily/detail/9570000059449 . ทำให้คณะรัฐประหารออกประกาศให้อัยการเป็นหน่วยงานอิสระ และก่อตั้งสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น โดยอ้างความเป็นอิสระในการทำงานและป้องกันการแทรกแซงจากอำนาจการเมือง

ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 และ 2560 ซึ่งเป็นผลจากการรัฐประหารอีกเช่นกัน อัยการก็กลายเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญและองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามลำดับ มีอิสระจากฝ่ายบริหารโดยสิ้นเชิง แม้ว่าการแต่งตั้งอัยการสูงสุดยังต้องได้รับมติเห็นชอบจากวุฒิสภา แต่ผู้เสนอชื่อก็ยังเป็น ก.อ. ที่กรรมการส่วนใหญ่มีแต่อัยการด้วยกันเอง

ความเป็นอิสระนี้ทำให้อัยการกลายเป็นองค์กรปิด มีวัฒนธรรมแบบ ‘พี่น้อง’[42]มติชนออนไลน์. (18 ตุลาคม 2566). เปิดใจ ‘เรวัตร จันทร์ประเสริฐ’ ฟื้นภาพลักษณ์-สานสามัคคี ‘อัยการ.’  https://www.matichon.co.th/politics/special-interview/news_4236598 . เมื่อเกิดเหตุทุจริตหรือมีข้อกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมก็กลายเป็นเรื่องที่คนในจะพิจารณากันเอง หลายครั้งจึงต้องใช้กระแสกดดันจากภายนอกเพื่อให้คนในจัดการกับปัญหา เช่น เสียงวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งไม่สอบสวนรองอัยการสูงสุดที่ไม่ฟ้องคดีบอส จนสามารถเปลี่ยนมาลงโทษทางวินัยได้ในที่สุด

สถานการณ์ของศาลก็ไม่ต่างกันมากนัก ตุลาการไทยให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของตนเองมากจนทำให้ขาดการยึดโยงและความรับผิดชอบ เคยมีข้อเสนอในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณให้ ก.ต. ต้องมีสัดส่วนคนนอกอย่างน้อยหนึ่งในสามของกรรมการที่เป็นผู้พิพากษา และให้ผู้ถูก ก.ต. ตัดสินลงโทษทางวินัยสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ แต่ก็ต้องเจอกับผู้พิพากษาที่ล่ารายชื่อกันคัดค้าน โดยอ้างว่าจะกระทบต่อความเป็นอิสระของศาลและลดทอนอำนาจของ ก.ต. ในการกำกับวินัยของผู้พิพากษาด้วยกันเอง[43]ผู้จัดการออนไลน์. (12 กรกฎาคม 2558). ผู้พิพากษายื่นจม.เปิดผนึกวันนี้ ค้านคนนอกนั่งก.ต.การเมืองล้วง. https://mgronline.com/daily/detail/9580000078833

วัฒนธรรมในระบบราชการคือเสาหลักค้ำจุนการทุจริต

ปัญหาการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมไทยมีวัฒนธรรมที่ฝังตัวในระบบราชการเป็นสิ่งค้ำจุน ในภาพใหญ่คือ ‘จารีตรัฐเป็นใหญ่’ ซึ่งเชื่อในการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของรัฐมากกว่าการปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคล ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องปกครองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผ่านการเพิ่มอำนาจให้กับระบบราชการ ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็ลดการยึดโยงกับประชาชนลง ปัญหานี้ยิ่งหนักหนาขึ้นในกระบวนการยุติธรรมที่แต่ละองค์กรมักอ้างถึง ‘ความเป็นอิสระ’ ในการใช้ดุลพินิจของตนเอง อย่างไรก็ดี ความเป็นอิสระนี้ยังหมายถึงการปราศจากการตรวจสอบอีกด้วย

ใช่ว่าระบบราชการภายใต้จารีตรัฐเป็นใหญ่จะไม่มีการตรวจสอบเลย แต่แทนที่จะตั้งอยู่บนหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุลโดยองค์กรหรืออำนาจอื่น กลับให้ความสำคัญกับการให้อำนาจกับ ‘คนดี’ ที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมในการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริต โดยหวังว่าคนเหล่านั้นจะสามารถพิจารณาอย่างเป็นภววิสัย ซึ่งหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับความไว้วางใจนั้นก็คือผู้พิพากษา ในทางกลับกัน อำนาจการเมืองซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งและมีความยึดโยงโดยตรงกับประชาชนกลับกลายเป็นสิ่งน่าเกรงกลัวและต้องจำกัดอิทธิพล

หนึ่งในตัวอย่างคือกลไกถอดถอนผู้ทุจริตในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 ซึ่งเคยมีกลไกให้ประชาชน สส. หรือ สว. เข้าชื่อกันถอดถอนอัยการหรือผู้พิพากษาระดับสูงได้หากมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเป็นผู้สอบสวน และให้ สว. ลงมติสามในห้าเพื่อถอดถอน อย่างไรก็ดี กลไกนี้กลับหายไปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ผู้ร่างขนานนามว่า ‘ปราบโกง’ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องยากในการถอดถอน[44]ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.  https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/253/files/article_20191021103453.pdf . แต่ให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ริเริ่มสอบสวนได้เลย ก่อนจะส่งให้ศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาถอดถอนแทน

หากมีการทุจริตเกิดขึ้น องค์กรยุติธรรมก็มักจะมองว่าเป็นปัญหาของปัจเจกบุคคล จนหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาที่ระบบหรือวัฒนธรรมเพื่อลดทอนอำนาจของรัฐ วลีหนึ่งที่พบได้บ่อยจากผู้นำองค์กรตำรวจเมื่อเกิดเหตุทุจริตคือการ ‘ตัดนิ้วร้าย’ ไม่ว่าจะมีข่าวว่าตำรวจยศพันเอกเรียกเก็บส่วย[45]มติชนออนไลน์. (23 กุมภาพันธ์ 2567). ตัดนิ้วร้าย! ผบ.ตร.เด้งพ.ต.อ.กราบเท้าพ.ต.ท. หลังโดนร้องสั่งเก็บส่วย. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4439163 . หรือกรณีผู้กำกับโจ้ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิตระหว่างรีดสินบน[46]ไทยรัฐออนไลน์. (24 สิงหาคม 2564). นิ้วไหนไม่ดีต้องตัดทิ้ง ผบ.ตร.เชือด ผู้กำกับโจ้ ให้ออกจากราชการวันนี้. https://www.thairath.co.th/news/crime/2176010 . ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทั้ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่าเป็นกรณีที่นิ้วใดร้ายก็จำเป็นต้องตัดทิ้ง

วัฒนธรรมในระบบราชการคือเสาหลักค้ำจุนการทุจริต
วัฒนธรรมในระบบราชการคือเสาหลักค้ำจุนการทุจริต

ในระดับที่เล็กลงมา วัฒนธรรมในระบบราชการไทยที่ค้ำจุนการทุจริตยังมีอีกด้านหนึ่ง คือการให้ความสำคัญกับความจงรักภักดีกับองค์กรที่ตนเองสังกัดอยู่ แนวคิดดังกล่าวทำให้องค์กรในระบบราชการไทย โดยเฉพาะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่มีลักษณะค่อนข้างปิดกว่าหน่วยงานประเภทอื่นอยู่แล้ว มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนที่สมาชิกต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงาน ซึ่งในบางครั้งอาจรวมถึงการเลือกไม่รายงานการทุจริตของเพื่อนร่วมงานที่ตนเองพบเห็น ไม่น่าแปลกใจนักที่มีผู้นำในระบบราชการพูดถึงค่านิยม “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน”[47]“ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” เป็นวลีประจำตัวของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด … Continue reading

ผลกระทบอีกประการของความจงรักภักดีต่อองค์กรที่มากเกินไปคือวัฒนธรรมการอุปถัมภ์ภายในหน่วยงาน วัฒนธรรมดังกล่าวนอกจากจะทำให้การตรวจสอบการทุจริตยากแล้ว ยังทำให้เกิดการร่วมมือกันทุจริตได้ง่ายอีกด้วย ตำรวจเป็นหน่วยงานที่เลื่องชื่อในด้านการอุปถัมภ์เพื่อความเจริญก้าวหน้าในการงาน การ ‘ฝากตัว’ กับใครนั้นสำคัญมากกว่าการทำงานของตนเองให้ดี ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเผยการทุจริตจึงมักมีผู้ใต้บังคับบัญชาคนสนิทเป็นหนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย เช่นในกรณีของการกล่าวหาว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับส่วยจากธุรกิจผิดกฎหมาย ก็ปรากฏชื่อของตำรวจคนสนิทหลายคนร่วมกับสมาชิกครอบครัวที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมขบวนการด้วย[48]ไทยพีบีเอส. (26 มีนาคม 2567). “ทนายตั้ม” อ้างขบวนการส่วยตำรวจโยง “บิ๊กต่อ” – เปิด 18 ธุรกิจเก็บค่าตั๋ว. https://www.thaipbs.or.th/news/content/338426 . ในฝั่งตุลาการ ผู้พิพากษาเองก็มีสายบังคับบัญชาที่สร้างเครือข่ายระหว่างผู้บริหารและลูกศาล ที่อาจทำให้หัวหน้าศาลมีอิทธิพลเหนือผู้พิพากษาได้[49]ประเวศ ประภานุกูล. (13 ธันวาคม 2553). บทวิพากษ์ศาลยุติธรรม: ตอนที่ 5 ระบบศาลไม่มีใบสั่งจริงหรือ?. https://prachatai.com/journal/2010/12/32278 .

ท้ายที่สุด ความจงรักภักดีต่อองค์กรยังกลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปด้วย หน่วยงานราชการไทยโดยเฉพาะองค์กรในกระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มที่จะไว้ใจคนใน ในขณะที่ไม่ไว้ใจหรือไม่อยากถูกควบคุมจากคนนอกโดยมักอ้างเรื่องความเป็นอิสระ ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการปฏิรูปงานสืบสวนให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นหรือการเพิ่มสัดส่วนคนนอกใน ก.ต. ต้องพบกับแรงคัดค้านจากคนในองค์กรยุติธรรม สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มาตรการการสอบสวนและลงโทษการทุจริตไม่ว่าจะตำรวจ อัยการ หรือศาล ยังจำกัดอยู่แค่การพิจารณากันเอง ส่วนการสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วนนั้นยังเป็นไปได้ยาก

การปราบปรามการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องให้ความสำคัญกับแง่มุมของวัฒนธรรมมากขึ้น การทุจริตไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปัจเจกบุคคลเพียงปัจจัยเดียว แต่ยังมีจารีตและวัฒนธรรมเป็นรากฐานที่ค้ำจุนอยู่ด้วย ดังนั้น หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องสร้างสมดุลระหว่างความรับผิดชอบและความเป็นอิสระ ด้วยการสร้างกลไกตรวจสอบที่อยู่บนฐานของการตรวจสอบถ่วงดุลจากหลากหลายช่องทาง แทนที่จะฝากความหวังไว้กับคนดี รวมไปถึงการทลายวัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่สนับสนุนการทุจริตภายในองค์กร

References
1 ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ยงยุทธ ไชยพงศ์, และธานี ชัยวัฒน์. (2557). คอร์รัปชันในระบบราชการไทยการสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/562695 .
2 เพิ่งอ้าง.
3 รวบรวมจากผลการดำเนินงานด้านคดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั่วราชอาณาจักร สำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. 2560 – 2566
4 จิราธร เจริญวุฒิ. (2550). วิวัฒนาการการสอบสวนคดีอาญา: ศึกษาบทบาทของพนักงานอัยการ. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. https://libdoc.dpu.ac.th/thesis/118062.pdf .
5 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. (9 สิงหาคม 2566). เกร็ดความรู้…สู้ทุจริต เรื่อง “กรณีศึกษาการทุจริต” ประจำวันที่ 3 5 7 กรกฎาคม 2566. https://www.nacc.go.th/categorydetail/2021110415414676/20230809100042?.
6 เจริญ แก้วยอดกล้า. (2549). ผลกระทบจากการผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมกรณี “คดีเชอรี่แอน.” สถาบันพระปกเกล้า. https://kpi-lib.com/elib/cgi-bin/opacexe.exe?op=mmvw&db=Main&skin=s&mmid=1512&bid=8880 .
7 มติชนสุดสัปดาห์. (22 พฤศจิกายน 2565). ย้อนคดีเชอรี่แอน “แพะในตำนาน” คดีประวัติศาสตร์ยืดเยื้อ จ่าย 26 ล้านไถ่บาป “ตำรวจ” ยื้อจนสุดทาง. https://www.matichonweekly.com/scoop/article_20990 .
8 สำนักข่าวอิศรา. (24 มกราคม 2566). เปิดพฤติการณ์ทุจริต ‘อดีตอัยการ เรียกจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน แลกไม่ฟ้องคดี.  https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/115474-inves09-286.html .
9 สำนักข่าวอิศรา. (27 มีนาคม 2567). ตัดสินแล้ว! คดีคลิปเสียงเรียกเงิน10 ล. 2 อดีตอัยการภูเก็ต โดนโทษคุก 12 ปี / 8 ปี.  https://www.isranews.org/article/isranews-news/121850-inves09-545-89.html .
10 ไทยรัฐออนไลน์. (1 กรกฎาคม 2566). คุก 5 ปี ริบ 20 ล้านบาท ผู้พิพากษาอุทธรณ์ ตบทรัพย์ไต้หวัน อ้างช่วยปล่อยตัว. https://www.thairath.co.th/news/crime/2706053 .
11 บีบีซีไทย. (10 เมษายน 2564). สินบนโตโยต้า: เกิดอะไรขึ้นหลังโตโยต้า มอเตอร์ สอบสวนกรณีสาขาไทยจ่ายใต้โต๊ะผู้พิพากษา. https://www.bbc.com/thai/thailand-56685842 .
12 ฐานเศรษฐกิจ. (24 กรกฎาคม 2563).ไทม์ไลน์คดี “บอส อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดง ก่อนหลุดทุกข้อกล่าวหา. https://www.thansettakij.com/general-news/443102 .
13 บีบีซีไทย. (2 สิงหาคม 2565). บอส อยู่วิทยา : อัยการสูงสุดแจงทำไมข้อหาเสพโคเคนของทายาทกระทิงแดงจึงหมดอายุความ. https://www.bbc.com/thai/thailand-62389023 .
14 กรุงเทพธุรกิจ. (2 ธันวาคม 2565). มติ ก.อ.ให้ออกราชการ “ชัยณรงค์” อดีตอัยการแนะเปลี่ยนความเร็วรถ “คดีบอส.”  https://www.bangkokbiznews.com/politics/1041097#google_vignette .
15 กรุงเทพธุรกิจ. (22 กุมภาพันธ์ 2567). ด่วน! อสส.มีมติสั่งฟ้องอาญา 8 ผู้ต้องหาคดีบอส ‘สมยศ-เนตร’ โดนด้วย.  https://www.bangkokbiznews.com/politics/1115061 .
16 สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม. (20 กันยายน 2565). วงสัมมนา ยันป.วิ อาญาไทยไม่มีปัญหา แต่อัยการสั่งฟ้องตาม ‘นิยายสอบสวน’ ของ ตร. ชำแหละการเก็บพยานหลักฐานไร้การตรวจสอบ. https://www.ijrforum.org/content/5786/ .
17 วิวัฒนาการการสอบสวนคดีอาญา: ศึกษาบทบาทของพนักงานอัยการ. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
18 น้ำแท้ มีบุญสล้าง. ระบบการสอบสวนคดีอาญาตามาตรฐานสากล. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ. https://www.ijrforum.org/wp-content/uploads/2019/01/ระบบการสอบสวนคดีอาญาสากล.pdf .
19 สันติ ผิวทองคำ. (2564). ระบบสอบสวนคดีอาญาในบทบาทพนักงานสอบสวนที่เหมาะสมกับประเทศไทย. วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
20 น้ำแท้ มีบุญสล้าง. (22 มิถุนายน 2566). ความยุติธรรมล่าช้า ราคาแพง เมื่อ “เจ้าหน้าที่บิดเบือนทำลายพยานหลักฐาน.” สถาบันนิติวัชร์. https://drive.google.com/file/d/1kKGx5ec8bQiNuwj0HT1gzrjUeizwbu-u/view .
21 พาขวัญ จิระนภารัตน์. ปัญหาระบบการสอบสวนคดีอาญาและการฟ้องคดีอาญาของไทย. มหาวิทยาลัยรามคำแหง.http://www.lawgrad.ru.ac.th/AbstractsFile/6312019041/1662783044d1c7eb97116837268ca8460c958d15f8_abstract.pdf .
22 การโอนอำนาจถ่วงดุลคำสั่งฟ้องคดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ตำรวจเป็นเรื่องที่ตำรวจผลักดันการมานาน ในปี 2007 สภานิติบัญญัติแห่งชาติเคยมีการพิจารณาข้อเสนอนี้แต่ก็ไม่ได้รับการรับรอง จนสำเร็จได้โดยคำสั่ง คสช. ในปี 2014 ดู โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์). (15 มิถุนายน 2558). คสช. แก้ป.วิอาญา ลดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ในการสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้องคดี. https://www.ilaw.or.th/articles/1531 .;
พงศกร เคยสนิท. (2560). การตรวจสอบดุลพินิจคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/5484 .
23 มรุสันต์ โสรัตน์. (2558). การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีอาญาของอัยการ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2015/TU_2015_5501031685_2699_3396.pdf .
24 สำนักข่าวอิศรา. (27 ธันวาคม 2566). ขยะ (ยังคงซุกอยู่) ใต้พรมในสำนักงานอัยการสูงสุด?. https://www.isranews.org/article/isranews-article/125054-ago.html .
25 สำนักข่าวอิศรา. (21 มกราคม 2567). ร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อสส.’ เสร็จแล้ว! ถ้า ก.อ.เห็นชอบอาจประเดิมใช้คดีรุกป่า 6 พันไร่. https://www.isranews.org/article/isranews/125654-inveslowsd.html .
26 ผู้จัดการออนไลน์. (26 มิถุนายน 2566). เปิดลึก สินบนศาลอุทธรณ์ 175 ล้าน ล้มคดีกปปส. สงสัย แม่จำเลยคนดัง!?.  https://mgronline.com/news1/detail/9660000058097 .
27 Nitivajra Channel. (15 กันยายน 2565). “เปลี่ยนให้ผ่าน กระบวนการยุติธรรมไทย.https://www.youtube.com/watch?v=GvGvCFseQ68&t=3s .
28 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์). (5 ตุลาคม 2562). “คดีสำคัญ” ผู้พิพากษาต้องส่งร่างให้อธิบดีภาคตรวจ และรายงานประธานศาลฎีกา. https://www.ilaw.or.th/articles/3785 .
29 บีบีซีไทย. (5 ตุลาคม 2562). คณากร เพียรชนะ : 10 ข้อความในแถลงการณ์ 25 หน้า ที่สั่นสะเทือนระบบตุลาการไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-49943661
30 พรเพชร ชลศักดิ์ตระกูล. (2561). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/6149 .
31 เพิ่งอ้าง.
32 ผุสดี เจริญเกียรติ. (2559). การพิจารณาพิพากษาโดย Saiban-in. ดุลพาห เล่ม 2 ปีที่ 59.
33 ผู้จัดการออนไลน์. (18 มีนาคม 2563). ก.ต.ยุติสอบวินัย ภายหลังผู้พิพากษา “คณากร” ยิงตัวเองดับ. https://mgronline.com/crime/detail/9630000027214 .
34 สำนักข่าวอิศรา. (16 มกราคม 2567). เฉียดฉิว! ก.ต.ลงมติ 8:7 ไม่สั่งพักราชการ ‘รองอธิบดีศาลอาญา’ คดีเพิกถอนหมายจับ สว.อุปกิต. https://www.isranews.org/article/isranews-news/125529-invesnewstooppoo.html
35 ไทยพีบีเอส. (18 สิงหาคม 2563). มติคณะกรรมการอัยการ ไม่ตั้งคกก.สอบวินัย “เนตร นาคสุข.https://www.thaipbs.or.th/news/content/295593
36 ไทยโพสต์. (8 ตุลาคม 2566). กรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ กับดาบในมือ ตรวจสอบสีกากี. https://www.thaipost.net/articles-news/462601/ .
37 มติชนออนไลน์. (17 ตุลาคม 2560). 5 ปมแย้งอัยการกรองสำนวนตำรวจ ‘รองผบก.กองคดีอาญา’ วิพากษ์ปฏิรูป. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_698178 .
38 มติชนสุดสัปดาห์. (31 ตุลาคม 2560). มนัส สัตยารักษ์ : ปฏิรูปตามกระแส. https://www.matichonweekly.com/column/article_61713 .
39 Thai Publica. (7 กันยายน 2564). “วิชา มหาคุณ” ผ่าร่างกฎหมายตำรวจ ดันสุดฤทธิ์ แยกฝ่ายสอบสวนเป็นอิสระ. https://thaipublica.org/2021/09/vicha-mahakun-reforming-the-national-police-agency/ .
40 ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล. (16 มีนาคม 2565). “ยิ่งการปฏิรูปตำรวจล่าช้า ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้น” มองก้าวต่อไปของการปฏิรูปตำรวจ กับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร. The101.world. https://www.the101.world/virute-sirisawatbutr-interview/ .
41 ผู้จัดการออนไลน์. (28 พฤษภาคม 2558). แนวทางการปฏิรูปสำนักงานอัยการสูงสุด.  https://mgronline.com/daily/detail/9570000059449 .
42 มติชนออนไลน์. (18 ตุลาคม 2566). เปิดใจ ‘เรวัตร จันทร์ประเสริฐ’ ฟื้นภาพลักษณ์-สานสามัคคี ‘อัยการ.’  https://www.matichon.co.th/politics/special-interview/news_4236598 .
43 ผู้จัดการออนไลน์. (12 กรกฎาคม 2558). ผู้พิพากษายื่นจม.เปิดผนึกวันนี้ ค้านคนนอกนั่งก.ต.การเมืองล้วง. https://mgronline.com/daily/detail/9580000078833
44 ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.  https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/253/files/article_20191021103453.pdf .
45 มติชนออนไลน์. (23 กุมภาพันธ์ 2567). ตัดนิ้วร้าย! ผบ.ตร.เด้งพ.ต.อ.กราบเท้าพ.ต.ท. หลังโดนร้องสั่งเก็บส่วย. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4439163 .
46 ไทยรัฐออนไลน์. (24 สิงหาคม 2564). นิ้วไหนไม่ดีต้องตัดทิ้ง ผบ.ตร.เชือด ผู้กำกับโจ้ ให้ออกจากราชการวันนี้. https://www.thairath.co.th/news/crime/2176010 .
47 “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” เป็นวลีประจำตัวของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่วิธีการคิดแบบทหารดังกล่าวก็ถูกส่งต่อถึงตำรวจด้วยผ่านระบบการศึกษาโรงเรียนนายร้อย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล. “ยิ่งการปฏิรูปตำรวจล่าช้า ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้น” มองก้าวต่อไปของการปฏิรูปตำรวจ กับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร.
48 ไทยพีบีเอส. (26 มีนาคม 2567). “ทนายตั้ม” อ้างขบวนการส่วยตำรวจโยง “บิ๊กต่อ” – เปิด 18 ธุรกิจเก็บค่าตั๋ว. https://www.thaipbs.or.th/news/content/338426 .
49 ประเวศ ประภานุกูล. (13 ธันวาคม 2553). บทวิพากษ์ศาลยุติธรรม: ตอนที่ 5 ระบบศาลไม่มีใบสั่งจริงหรือ?. https://prachatai.com/journal/2010/12/32278 .

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยุติ-ธรรมอำพราง: ความไม่เป็นธรรมที่ซ่อนในกระบวนการยุติธรรมไทย

101 PUB ชวนสำรวจความไม่ธรรมที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการยุติธธรรมไทยและค้นหาสาเหตุว่าทำไมการปฏิรูปที่ผ่านถึงไม่คืนความเป็นธรรมแก่สังคมไทยได้

ความยุติธรรมตกไม่ทั่วฟ้า คนไม่เสมอกันต่อหน้ากฎหมาย

ความยุติธรรมตกไม่ทั่วฟ้า คนไม่เสมอกันต่อหน้ากฎหมาย

101 PUB ชวนผู้อ่านสำรวจมิติความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมไทยและค้นหารากของปัญหาที่ฝังตัวอยู่ในวิธีคิดแบบไทยๆ

‘คนล้นคุก’: การจองจำในจารีตยุติธรรมแบบไทยๆ

101 PUB ชวนผู้อ่านร่วมสำรวจปัญหาคนล้นคุกและการใช้โทษจำคุกมากเกินความจำเป็น พร้อมวิเคราะห์ว่าทำไมการปฏิรูปที่ผ่านถึงไม่ประสบผลสำเร็จ

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.