Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the ultimate-addons-for-gutenberg domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114

Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the wordpress-seo domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114
จัดความสัมพันธ์ท้องถิ่น-ส่วนกลางใหม่ ไปให้ถึงการ ‘ถ่ายโอนอำนาจ’ - 101 PUB

จัดความสัมพันธ์ท้องถิ่น-ส่วนกลางใหม่ ไปให้ถึงการ ‘ถ่ายโอนอำนาจ’

ประเด็นสำคัญ

  • ไทยเริ่มกระจายอำนาจมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว ทว่าการถ่ายโอนงานให้ท้องถิ่นยังไม่คืบหน้า ติดปัญหางาน-เงิน-คน ไม่ไปพร้อมกัน ท้องถิ่นขาดทรัพยากรดำเนินงาน ทั้งยังขาดการติดตามผลอย่างเป็นระบบ 
      
  • การ 'ถ่ายโอนอำนาจ' (devolution) คือการนำอำนาจการตัดสินใจไปอยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ความต้องการได้รับการตอบสนองอย่างตรงเป้าและทันท่วงทีโดยไม่ต้องรออนุมัติงบประมาณจากส่วนกลาง 
      
  • การถ่ายโอนอำนาจจะต้องทำควบคู่ไปกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่น-ส่วนกลางใหม่ ทั้งในแนวดิ่งคือการจัดสรรหน้าที่ให้ร่วมงานกันได้อย่างราบรื่น และในแนวราบคือการที่อปท.ขนาดเล็กต้อง 'รวมกัน' ให้ได้ความประหยัดเชิงขนาด (economy of scale)
      
  • กระบวนการถ่ายโอนต้อง 'พลิกกลับ' ให้ท้องถิ่นเป็นฝ่ายร่างข้อเสนอขึ้นมาก่อน ส่วนกลางต้องปรับบทบาทจากการควบคุมสั่งการ เป็นผู้เชื่อมประสาน สนับสนุน และติดตามผลอย่างทั่วถึงด้วยการจัดทำ 'ฐานข้อมูลท้องถิ่น' ให้เกิดความโปร่งใสต่อประชาชน

ภาพริ้วขบวนของประชาชนสวมเสื้อสีส้ม พร้อมเครื่องประดับ ริบบิ้น และธงสีส้มโบกสะบัด เคลื่อนไปบนถนนห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่ภาพของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใดหนึ่ง แต่เป็นขบวนแห่ ‘ร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานคร’ ในห่อผ้าสีส้มนำไปยื่นแก่ตัวแทนสภาผู้แทนราษฎรในปี 2013 ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอให้เชียงใหม่เป็น ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ให้มีผู้บริหารจังหวัดจากการเลือกตั้งเพียงหนึ่งเดียว มีอำนาจจัดเก็บภาษีและบริหารงบประมาณมากขึ้น ตลอดจนเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจการบ้านเมืองในท้องถิ่นของตนเอง การเคลื่อนไหวนี้ได้รับการตอบรับจากอีกกว่า 50 จังหวัด กระทั่งนำไปสู่การปรับเป็น ‘ร่าง พ.ร.บ. การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง’ ซึ่งจะเปิดให้ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องยุติไปภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. ในปีถัดมา

กิจกรรม ‘เดินหน้า…เชียงใหม่มหานคร’ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2013

การเลือกใช้ ‘สีส้ม’ มาจากการพูดคุยจนได้ข้อสรุปว่าเหตุที่คนเชียงใหม่ต้องมาทะเลาะกันเรื่องการเมืองสีเสื้อเหลือง-แดง ล้วนแต่เป็นเพราะท้องถิ่นขาดอิสระ นโยบายต่างๆ ถูกผูกไว้กับส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งของการเมืองระดับชาติ ขณะที่ปัญหาในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข

การเดินหน้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจึงเป็นทั้งคำตอบในการพัฒนา และการสร้างความปรองดองไปในเวลาเดียวกัน  แนวคิดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น ช่วยลดความตึงเครียดในบริบทการเมืองที่เปราะบางได้ เนื่องจากท้องถิ่นที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง ยังคงสามารถต่อรองทิศทางนโยบายจากส่วนกลางได้[1]Boex, Jamie, Timothy Stephen Williamson, and Serdar Yilmaz. “Decentralization, Multilevel Governance and Intergovernmental Relations : A Primer (English),” February 3, 2023.  

แม้ความหมายทางการเมืองของ ‘สีส้ม’ ในอีกหนึ่งทศวรรษให้หลังจะเปลี่ยนไป แต่ไม่ว่ารัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ’66 จะมีรูปร่างหน้าตาเป็น ‘สี’ อะไร การเดินหน้ากระบวนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินหน้าต่อไปของประเทศ 101 PUB ชวนทบทวนการกระจายอำนาจที่ผ่านมา ชวนสำรวจเครื่องมือ กลไกขับเคลื่อนทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในไทยและต่างประเทศ เพื่อผลักดันการ ‘ถ่ายโอนอำนาจ’ เต็มขั้นให้ท้องถิ่นซึ่งจะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว 

สองทศวรรษการกระจายอำนาจที่ไม่คืบหน้า

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นแนวโน้มของการบริหารรัฐกิจทั่วโลกตั้งแต่ในทศวรรษ 1980s และยังคงมีการเสนอแผนใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างล่าสุดเช่น การ ‘ยกระดับ’ Devolution Deal ในสหราชอาณาจักร (2022) และ Autonomia Differenziata ในอิตาลี (2023) แน่นอนว่าการกระจายอำนาจในแต่ละประเทศมีเงื่อนไขต่างกันออกไป บางแห่งทำแบบค่อยเป็นค่อยไป บางแห่งสามารถทำแบบฉับพลัน เช่น ในฟิลิปปินส์ (1991) และอินโดนีเซีย (2001) ซึ่งเรียกกันว่าการกระจายอำนาจแบบ ‘Big Bang’ กรณีของไทยอาจนับว่าเป็นแบบหลัง เพราะมีการออกกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ทันทีทั่วราชอาณาจักรในปี 1999 ไล่เลี่ยกับทั้งสองประเทศข้างต้น ทว่าในขณะที่ฟิลิปปินส์โอนสังกัดเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 70,000 คนในทันที และเดินหน้ามาจนถึงการร่างแผนถ่ายโอนอำนาจเต็มที่ (Full Devolution Plan) ในช่วงต้นปี 2023[2]Philippines Information Agency. “National Government commits to equitable devolution”. March 22, 2023. https://pia.gov.ph/news/2023/03/22/national-government-commits-to-equitable-devolution กระบวนการของไทยกลับคืบหน้าไปไม่มากนักนับจากจุดเริ่มต้นเมื่อกว่าสองทศวรรษมาแล้ว

พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการขึ้นทุก 5 ปีเพื่อขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม ทว่าในทางปฏิบัติ การผลักดันแผนกระจายอำนาจขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในเวลานั้นๆ ทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จและไม่เป็นไปตามกรอบเวลานัก จนถึงปัจจุบันมีการถ่ายโอนภารกิจได้จริงเพียง 262 ภารกิจจาก 359 ภารกิจตามแผน โอนโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ไปได้เพียง 1.5%[3]ข้อมูลปี 2020 จากสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คำนวนโดย 101 PUB ส่วนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพิ่งจะกลับมาเดินหน้าอย่างจริงจังอีกครั้งในช่วงต้นปี 2023 นี้เอง[4]สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. “ปฏิทินการเตรียมการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด … Continue reading 

หากการดำเนินงานเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย การกระจายอำนาจของไทยควรต้องมาถึงแผนฉบับที่ 4 แล้ว ทว่าการรัฐประหารในปี 2014 ได้ทำให้แผนทั้งหมดหยุดชะงัก ร่างแผนฉบับที่ 3 ซึ่งออกแบบมาเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดในแผนสองฉบับแรกไม่เคยถูกประกาศใช้ นอกจากนี้ในด้านงบประมาณ สัดส่วนรายได้ของอปท.เทียบกับรายได้รัฐบาลแทบไม่ขยายตัวเลยตลอด 5 ปีมานี้ ส่วนในด้านบุคลากรก็ถ่ายโอนไปได้เพียง 1.6% ของกำลังคนภาครัฐในส่วนกลางและภูมิภาค[5]ข้อมูลปี 2023 จากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คำนวนโดย 101 PUB

การกระจายอำนาจขาดตอน ท้องถิ่นขาดทรัพยากรดำเนินงาน

การดำเนินงานที่ชะงักงันข้างต้นส่งผลให้ท้องถิ่นที่ได้ทยอยรับถ่ายโอนภารกิจไปก่อน ขาดทั้งงบประมาณและกำลังคนให้ทำงานได้จริง หรือที่มักกล่าวกันว่า ‘งาน-เงิน-คน ไม่มาด้วยกัน’ การประเมินผลการกระจายอำนาจระยะ 15 ปี ยังพบว่าท้องถิ่นระดับล่างโดยเฉพาะระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รับถ่ายโอนภารกิจมากที่สุด[6]เป็นไปตามหลักการ subsidiarity ซึ่งมุ่งเน้นให้งานจัดบริการสาธารณะไปอยู่ที่ท้องถิ่นระดับล่างสุดเป็นลำดับแรก … Continue reading เฉลี่ยแห่งละ 240 ภารกิจ แต่รับถ่ายโอนบุคลากรเฉลี่ย 2.6 คน/แห่งเท่านั้น ในขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รับถ่ายโอนเฉลี่ยเพียง 50 ภารกิจแต่ได้รับถ่ายโอนบุคลากร 65.0 คน/แห่ง การถ่ายโอนบุคลากรที่ไม่สมดุลกับปริมาณงานทำให้ อปท. ระดับล่างไม่สามารถปฏิบัติภารกิจจนหลายแห่งต้องขอโอนภารกิจคืน

การถ่ายโอนภารกิจขาดการสื่อสารและติดตามผล

การถ่ายโอนภารกิจที่ติดขัด ไม่ได้เกิดจากเพียงปัญหาขาดทรัพยากรในการดำเนินงาน แต่ท้องถิ่นยังถูกผลักภาระให้คลำทางไปในความมืดด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น หลายภารกิจถูกถ่ายโอนโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอน เช่น แจ้งการถ่ายโอนภารกิจด้วยจดหมายเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ให้รายละเอียดวิธีดำเนินงานแก่ อปท. ไม่มีการจัดประชุมชี้แจงความเข้าใจร่วมกัน และไม่มีการฝึกอบรมบุคลากรหรือจัดทำคู่มือปฏิบัติงานให้[7]วีระศักดิ์ เครือเทพ และคณะ. “รายงานโครงการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย,” 2557. 

คณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจฯ ระดับจังหวัด เป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่และแก้ไขปัญหาข้างต้นนี้ รวมถึงมีอำนาจในการเรียกให้ส่วนราชการต่างๆ มาชี้แจงเมื่อเกิดปัญหาในการถ่ายโอนภารกิจ[8]คำสั่งคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6/2553 แต่ในความเป็นจริง คณะอนุกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานนี้ กลับไม่ได้ทำงาน ‘อำนวยการ’ ตามวัตถุประสงค์ แต่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้งบประมาณของท้องถิ่นเป็นหลัก หาก อปท. มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนงบประมาณให้อปท.อื่น หรือหน่วยราชการอื่น จะต้องยื่นให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาก่อนเสมอ เช่น อปท. ต้องการจัดซื้อเครื่องเล่นเด็กให้แก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ แต่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้เป็นโรงเรียนในสังกัด อปท. โครงการลักษณะนี้ถูกตีตกไปโดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ[9]สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี. “มติคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจฯ ครั้งที่ 5/2555”. http://suphanburilocal.go.th/public/reporttransfer/data/detail/reporttransfer_id/18 เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้การบริหารจัดการของ อปท. ติดขัด ไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เต็มที่ และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำความร่วมมือระหว่าง อปท.

ปัญหาที่ใหญ่กว่าการถ่ายโอนภารกิจติดขัด คือการไม่รู้ว่าภารกิจถ่ายโอนได้สำเร็จหรือล้มเหลวไปแล้วกี่แห่ง จนกระทั่งถึงปี 2018 มีการยืนยันการรับถ่ายโอนภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาเพียง 37.1% ของอปท.ทั่วประเทศ[10]กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. “การจัดทำฐานข้อมูลภารกิจที่ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”. มท 0810.8/ว3187. 8 ตุลาคม 2561. จึงมีความพยายามที่จะจัดทำฐานข้อมูลภารกิจที่ถ่ายโอนขึ้น ทว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นเท่าที่ควร  เอกสารในปี 2021 ระบุว่ายังคงมีอีก 31 จังหวัดที่ยังไม่ส่งข้อมูลเข้ามาหรือส่งมาแต่ยังไม่ครบถ้วน หลังจากกระจายอำนาจมาแล้วกว่าสองทศวรรษ เรากลับยังไม่อาจทราบถึงความคืบหน้าที่แน่ชัดได้ว่ามี อปท. รับถ่ายโอนภารกิจ และโอนภารกิจคืนเป็นตัวเลขเท่าใดแน่

ไปให้ถึงการ ‘ถ่ายโอนอำนาจ’

การกระจายอำนาจของไทยที่แล้วมา จัดอยู่ในขั้นที่เรียกว่า ‘การกระจายงานออก’ (deconcentration) โดยรัฐเริ่มถ่ายโอนภารกิจที่ล้นมือออกไปให้ท้องถิ่นทำ ตามแนวนโยบายที่กำหนดจากส่วนกลาง กล่าวคือ ‘อำนาจตัดสินใจ’ ยังคงถูกสงวนไว้ดังเดิม ท้องถิ่นยังคงอยู่ใต้เงาของราชการส่วนภูมิภาคที่มีอำนาจควบคุมงบประมาณในทุกย่างก้าว อย่างไรก็ดี เมื่อกระบวนการกระจายอำนาจเริ่มต้นขึ้นแล้ว อปท. ก็มีศักยภาพในการบริหารกิจการท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตามลำดับ เห็นได้ชัดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2020-2022 ซึ่งหลายเทศบาลมีบทบาทเชิงรุกในการแก้ไขสถานการณ์โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง[11]Vongsayan, Hatchakorn, and Viengrat Nethipo. “The Roles of Thailand’s City Municipalities in the COVID-19 Crisis.” Contemporary Southeast Asia 43, no. 1 (2021): 15–23. ไม่ช้าก็เร็ว กระบวนการกระจายอำนาจจะต้องเดินหน้าไปสู่การ ‘ถ่ายโอนอำนาจ’ (devolution) เปิดให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการและกำหนดทิศทางนโยบายของตนได้มากขึ้น

จุดตรวจ ‘ไดร์ฟทรู’  ของโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/north/2331616
การกระจายอำนาจต้องเดินหน้าสู่การ 'ถ่ายโอนอำนาจ'

‘การถ่ายโอนอำนาจ’ ไม่ได้หมายถึงเพียงการยกอำนาจทั้งในเชิงการบริหารจัดการ งบประมาณ และบุคลากรให้แก่ท้องถิ่น ยิ่งไปกว่าการยกอำนาจให้เป็นเรื่องๆ คือการที่ ‘อำนาจตัดสินใจ’ ไปอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น การที่ท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและบริหารกิจการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ย่อมหมายถึงการที่ปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่จะได้รับการตอบสนองอย่างถูกจุดและทันท่วงที ไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณและตัดสินใจจากส่วนกลาง หรืออาศัยการเดินเรื่องโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ทางนิติบัญญัติ) อย่างที่เคยเป็นมา

เพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้น อำนาจจะต้องได้รับการ ‘ปลดล็อก’ อย่างน้อย 3 ด้าน คือ อำนาจตัดสินใจ รายได้งบประมาณ และกลไกตรวจสอบการทำงาน ทั้ง 3 ข้อนี้ปรากฏในร่างกฎหมายโดยประชาชน 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งตกไปพร้อมการสิ้นสุดของสภาภายหลังการรัฐประหารในปี 2014 และ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้าซึ่งตกไปในสภาในปี 2022 แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่มีหลักการสำคัญตรงกันคือ 

  1. ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค – ยกเลิกอำนาจควบคุมการทำงานและการใช้งบประมาณจากส่วนกลาง เปิดทางให้ผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ
  2. ทำให้ท้องถิ่นพึ่งพาตัวเองได้ – ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อส่วนกลางอยู่ที่ราว 30% เท่านั้น ส่วนเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ 35% ก็ยังไม่เพียงพอต่อการที่ท้องถิ่นจะจัดบริการสาธารณะให้ได้มาตรฐาน จึงมีการเสนอสัดส่วนตามงานวิจัยที่ระบุว่ารายได้ท้องถิ่นเทียบกับส่วนกลางควรมีสัดส่วน 50% เป็นอย่างน้อย[12]วีระศักดิ์ เครือเทพ และคณะ. “มาตรฐานบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาเกณฑ์ชี้วัด ข้อมูลเชิงประจักษ์ และนัยเชิงนโยบาย, 2560.
  3. สร้างกลไกตรวจสอบโดยประชาชน – ระบบตรวจสอบในปัจจุบันไม่ยึดโยงกับประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกผู้บริหารท้องถิ่น อปท. มีหน้าที่ชี้แจงการทำงานต่อราชการส่วนภูมิภาคซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยส่วนกลาง และถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระต่างๆ การให้อำนาจแก่ อปท. จึงต้องมาพร้อมระบบตรวจสอบที่ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

แม้ยังไม่มีร่างกฎหมายฉบับใดไปถึงฝั่งฝัน แต่ความพยายามของคนในท้องถิ่นที่จะมีอำนาจกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองของพวกเขาก็มิได้หมดสิ้นไป ในปี 2015 บริษัทเอกชน 20 แห่งรวมตัวกันก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เพื่อลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในตัวเมืองขอนแก่น และกลายเป็นต้นแบบให้อีกหลายจังหวัดดำเนินรอยตาม เช่นเดียวกันในกรณี ‘เชียงใหม่มหานคร’ โดยในปัจจุบัน 101 PUB พบว่ามี ‘บริษัทพัฒนาเมือง’ ที่ยังดำเนินการอยู่มากถึง 19 บริษัททั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงความต้องการและความพร้อมที่จะ ‘จัดการตนเอง’ ของทั้ง อปท. ภาคธุรกิจในท้องถิ่น และประชาชน กระนั้นความพยายามดังกล่าวก็ยังเผชิญอุปสรรคในด้านการประสานงานกับหน่วยงานรัฐจำนวนมาก[13]ปาณิส โพธิ์ศรีวงชัย. “‘ขอนแก่นโมเดล’ ฝันไกลที่รัฐส่วนกลางไม่ยอมให้ไปถึง?” The 101 World, 5 กุมภาพันธ์ 2566. https://www.the101.world/khon-kaen-model/. ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องถ่ายโอนอำนาจเพื่อให้ ‘การตัดสินใจ’ สามารถเกิดขึ้นในที่เดียวกับที่มีความต้องการของประชาชน

ไม่ใช่แค่ ‘ถ่ายโอน’ แต่ต้อง ‘จัดความสัมพันธ์’ ใหม่ทั้งแนวดิ่ง-ราบ

การถ่ายโอนอำนาจไม่ใช่แค่การยกอำนาจบริหารงาน-เงิน-คน แก่ท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะต้องจัดความสัมพันธ์ในโครงสร้างการบริหารรัฐกิจใหม่ทั้งระบบ ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่ได้หมดบทบาทลง แต่จะต้องลดอำนาจและปรับบทบาทจากผู้ควบคุมสั่งการเป็นผู้ประสานงาน ขณะเดียวกัน ต้องมีการจัดสรรหน้าที่ว่า อปท. ระดับใดจะทำงานอะไร และจะทำงานร่วมกันอย่างไร ตั้งแต่ระดับล่างสุดขึ้นมาจนถึงการเชื่อมต่อกับนโยบายภาพใหญ่ของรัฐบาล นอกจากนี้ อปท. ซึ่งมีอำนาจและภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องปรับปรุงขอบเขตพื้นที่การจัดบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวคือการถ่ายโอนอำนาจจะต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปในด้านหน้าที่ (function) และพื้นที่ (territory)

'ถ่ายโอนอำนาจ' ต้องจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ทั้งแนวดิ่ง-ราบ

โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นไทยในปัจจุบันมีลักษณะคู่ขนาน คือมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ฝั่งหนึ่ง และในขณะเดียวกันก็มีส่วนราชการภูมิภาคที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ลดหลั่นลงไปตามระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน อีกฝั่งหนึ่ง เมื่อเริ่มต้นกระจายอำนาจ งานเริ่มถูกถ่ายโอนไปอยู่ในมือ อปท. ตามลำดับ ทว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็ยังคงไม่ปล่อยมือจากงานพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงพยายามรักษาบทบาทการกุมทิศทางการพัฒนาเอาไว้อย่างแข็งขัน[14]รัฐบาลไทย. “รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-‘นายอำเภอคือความหวังของประชาชน’ ปลัด มท. เปิดอบรมหลักสูตร … Continue reading ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจจึงเป็นไปในลักษณะจำกัดอำนาจให้ อปท. ทำ ‘เท่าที่ได้รับอนุญาต’ (residuality principle) คือเลือกแบ่งงานที่ล้นมือส่วนกลางออกไปให้ อปท. ช่วยทำเป็นเรื่องๆ 

การถ่ายโอนอำนาจไปสู่โครงสร้างใหม่ มาพร้อมแนวคิดในการแบ่งงานที่กลับหัวกลับหางกันอย่างสิ้นเชิง คือตั้งต้นให้ อปท. ระดับล่างสุดมีอำนาจจัดบริการสาธารณะพื้นฐานทุกเรื่อง หากเกินกำลังจึงขอรับการสนับสนุนจาก อปท. ระดับสูงขึ้นไป หรือขอให้ช่วยทำงานนั้นแทน หรือที่เรียกว่าหลัก ‘ตั้งต้นจากท้องถิ่นระดับล่างสุด’ (sudsidiarity principle) หลักการนี้สอดคล้องกับแนวคิดการถ่ายโอนอำนาจตัดสินใจให้ไปอยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด 

ในทางกฎหมาย พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ได้ใช้หลัก ‘ตั้งต้นจากท้องถิ่นระดับล่างสุด’ ตั้งแต่ต้น โดยระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 21 และ 30 ทว่าในทางปฏิบัติ ส่วนราชการต่างๆ มีแนวโน้มที่จะตีความไปในทางจำกัดอำนาจ อปท. ซึ่งสวนทางกับตัวบท สิ่งสำคัญในการจัดความสัมพันธ์แนวดิ่งจึงเป็นการออกแบบกระบวนการจัดสรรงาน (function assignment) ที่รัดกุม ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการต่อเนื่องข้ามระดับ (multi-level governance) ได้อย่างราบรื่น

ปัญหาของการใช้หลักตั้งต้นจากท้องถิ่นระดับล่างสุด คือ ท้องถิ่นขนาดเล็กอาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดบริการสาธารณะได้ทุกประเภท หรือทำได้แต่ไม่มีคุณภาพดีเท่าที่ควร ดังนั้น การจัดความสัมพันธ์แนวดิ่งในเชิงหน้าที่ จึงต้องทำพร้อมการจัดความสัมพันธ์แนวราบในเชิงพื้นที่เสมอ อำนาจที่ถ่ายโอนลงไปจึงจะสามารถทำงานได้ ท้องถิ่นขนาดเล็กอาจต้องพิจารณา ‘รวมกัน’ ทำงานให้มีทรัพยากรมากขึ้นและเพื่อให้ได้ความประหยัดเชิงขนาด (economy of scale) ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

การจัดสรรภาระงานใหม่ต้องเริ่มจากล่างขึ้นบน

แผนถ่ายโอนภารกิจที่ผ่านมาร่างขึ้นจากส่วนกลาง เป็นการถ่ายโอนภารกิจแบบ ‘เสื้อโหล’ คือใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมหรือความต้องการของท้องถิ่นแต่ละแห่งตั้งแต่ต้น นอกจากนี้หน่วยงานเจ้าของภารกิจยังมีแนวโน้มจะปล่อยมือจากภารกิจบางอย่างที่ล้นมือแล้วเท่านั้น แต่ไม่ยินยอมส่งมอบภารกิจทั้งหมด งานที่ถ่ายโอนออกไปจึงมักมีลักษณะกระจัดกระจาย ให้อำนาจไม่ครบถ้วน ท้องถิ่นไม่สามารถรับช่วงต่อไปทำงานได้จริง

การจัดสรรภาระงานใหม่ต้องเริ่มจากล่างขึ้นบน

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาข้างต้น คือ กรณีของการถ่ายโอนภารกิจด้านขนส่งมวลชน กรมการขนส่งทางบกได้ถ่ายโอนสถานีขนส่งให้แก่ อปท. ขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 98 แห่ง ซึ่งตามแผนจะต้องถ่ายโอนมาพร้อมอำนาจในการให้อนุญาตสัมปทานเดินรถ และอำนาจในการก่อสร้างสถานีขนส่ง ทว่าอำนาจ 2 ประการหลังนี้ไม่ได้ถูกถ่ายโอนแก่ อปท. โดยกรมการขนส่งทางบกให้เหตุผลว่าขัดกับวิธีทางปกครอง และการออกแบบโครงข่ายการเดินรถควรเป็นหน้าที่ของรัฐ[15]รายงานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 5/2554 ในปัจจุบัน อปท. จึงมีอำนาจหน้าที่เฉพาะการดูแลสถานีขนส่ง แต่ไม่สามารถออกแบบระบบขนส่งมวลชนเองได้

ที่ตั้งของสถานีขนส่งสัมพันธ์กับแนวโน้มการพัฒนาเมือง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด แต่สถานีที่สร้างขึ้นใหม่โดยกรมการขนส่งทางบกมักถูกนำไปตั้งไว้นอกเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด จึงอาจไม่ได้เหมาะกับบริบทการเติบโตของเมืองในทุกพื้นที่ การตั้งอยู่ไกลจากชุมชนนอกจากจะไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการ ยังส่งผลให้บริษัทเดินรถหลีกเลี่ยงไม่นำรถเข้ามาจอด แต่เลือกไปตั้งจุดรับส่งผู้โดยสารเอง[16]คชาณพ จันทร์ภักดี. “การเมืองในการถ่ายโอนสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดอำนาจเจริญให้แก่เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ”. นนทบุรี: … Continue reading ในบางจังหวัดมีการก่อสร้างสถานีขนส่งเพิ่มอีกแห่งโดยกรมการขนส่งทางบก ทำให้ไม่มีผู้ใช้งานสถานีของ อปท. มากเท่าที่ควร[17]รายงานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 5/2554 เมื่อภารกิจถ่ายโอนมาแค่ ‘สถานที่’ การถ่ายโอนในหลายจังหวัดจึงเต็มไปด้วยอุปสรรคและใช้เวลายาวนาน ตัวอย่างเช่น สถานีขนส่งจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งเพิ่งจะมีการลงนามถ่ายโอนในปี 2020 หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2013

สถานีขนส่งจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งใช้เวลา 7 ปีในการดำเนินการถ่ายโอน

เบื้องหลังการกระจายอำนาจแบบ ‘Big Bang’ ที่ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อในอินโดนีเซีย คือ องค์กรให้คำปรึกษาด้านการสร้างความร่วมมือนานาชาติเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Technische Zusammenarbeit)[18]ภายหลังถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GTZ) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับการกระจายอำนาจในอีกหลายประเทศ อาทิ อินเดีย เนปาล GTZ ได้สรุปบทเรียนจากการกระจายอำนาจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาว่า การกระจายอำนาจที่ประสบความสำเร็จจะต้องเปิดให้ท้องถิ่นมีพื้นที่เจรจาต่อรอง มีการแจกแจงงานออก (unbundle) เพื่อให้เห็นรายละเอียดอย่างชัดเจนว่าหน่วยงานใดบ้างเกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว กิจกรรมต่างๆ ใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณเท่าใด แล้วจึงจัดสรรให้ท้องถิ่นแต่ละระดับแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน จึงจะสามารถประกอบงานคืนให้เดินหน้าต่อได้อย่างไม่ติดขัด

ตัวอย่างแบบฟอร์มการแจกแจงและจัดสรรงานในรัฐหิมาจัลประเทศ, อินเดีย[19]Ferrazzi, Gabe, and Rainer Rohdewohld. “Functional Assignment in Multi-Level Government Volume II: GTZ-Supported Application of Functional Assignment,” 2009.

การแจกแจงงานช่วยขจัดความสับสนและซ้ำซ้อนของงานตั้งแต่แรก รวมถึงช่วยให้ประเด็นที่ต้องทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานต่างๆ ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาในคราวเดียวกัน แม้ว่าจะกระบวนการนี้จะใช้เวลายาวนานโดย GTZ ประเมินว่าโดยทั่วไปจะใช้เวลา 2 ปีในการเจรจาร่างแผน และอีก 2 ปีในการทดลองและปรับแก้ แต่เป็นหลักประกันว่าการร่วมงานกันในอนาคตจะมีความราบรื่นมากขึ้นและช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากกระบวนการถ่ายโอนที่ติดขัด

อย่างไรก็ตาม การแจกแจงงานก็มีข้อควรระวังคืออาจนำไปสู่การแจกแจงแยกย่อยเกินจำเป็น เช่นที่เกิดมาแล้วในกรณีของอินเดียและไทย ในกรณีของอินเดีย งานบริหารโรงเรียนระดับประถมศึกษาถูกถ่ายโอนจากส่วนกลางไปยังอปท.ถึง 4 ระดับ การตัดสินใจบางเรื่องจึงต้องผ่านการอนุมัติหลายชั้นแทนที่จะทำได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่ การแจกแจงกิจกรรมโดยละเอียดจึงควรใช้ไปเพื่อประโยชน์ของการทำความตกลงเท่านั้น แต่ในขั้นของการทำแผนปฏิบัติการ งานเหล่านี้ควรได้รับการประกอบคืนเป็นองค์รวมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้อปท.ที่รับไปบริการจัดการมีอำนาจตัดสินใจในตัวเอง[20]เพิ่งอ้าง

ในกรณีของไทย การถ่ายโอนภารกิจสถานีขนส่งถูกแจกแจงงานออกเป็น 15 งานย่อย อาทิ การบริหารช่องจอดรถ การจัดพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร การจัดให้มีบริการฝากของ จำหน่ายสินค้า ห้องสุขา ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นข้อผูกมัดให้ อปท. ต้องจัดบริการทั้งหมดโดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และยังเป็นช่องทางที่ส่วนกลางใช้แทรกแซงการบริหารของท้องถิ่นแม้ถ่ายโอนอำนาจไปแล้ว เช่น สั่งการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้กำชับมิให้มีการเก็บค่าบริการห้องสุขา[21]ผู้จัดการออนไลน์. “ย้ำ 61 ผู้ว่าฯ กำชับ 96 บขส.หลังถ่ายโอนให้ท้องถิ่น จัดบริการห้องน้ำ ‘ฟรี’ จ่อรับอุดหนุนซ่อมแซมเพิ่ม 100 ล้าน,” 2566. … Continue reading ปัญหาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ อปท. มีโอกาสเจรจาตกลงขอบเขตอำนาจที่ชัดเจนกับส่วนกลางตั้งแต่ต้น

คู่มือนโยบายกระจายอำนาจของ OECD แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องถ่ายโอนภารกิจเหมือนกันทุกท้องถิ่นแต่เลือกถ่ายโอนตามความต้องการและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ และควรให้ อปท. มีบทบาทเป็นฝ่ายร่างข้อเสนอถ่ายโอนอำนาจขึ้นมาโดยระบุถึงขอบเขตอำนาจที่เห็นว่าจำเป็นต่อการจัดบริการสาธารณะที่สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ของตน ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาที่มุ่งเน้น ‘เนื้องาน’ ไม่ใช่การพิจารณาให้อำนาจเป็นเรื่องๆ รายหน่วยงานรายกระทรวงอย่างที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การ ‘พลิกกลับ’ กระบวนการให้เริ่มจากล่างขึ้นบนก็อาจเผชิญอุปสรรคในการเจรจาระหว่าง อปท. กับหน่วยส่วนกลาง หาก ‘โต๊ะเจรจา’ ไม่ได้ถูกออกแบบอย่างรอบคอบ การจัดสรรงานใหม่จึงจำเป็นจะต้องมี ‘แกน’ บางอย่างที่ทุกฝ่ายตกลงใช้เป็นกรอบของการเจรจาร่วมกัน

ท้องถิ่นระดับไหน ควรทำงานอะไร?

แม้การถ่ายโอนอำนาจจะใช้หลักการ ‘เริ่มต้นจากท้องถิ่นระดับล่างสุด’ แต่ไม่ได้หมายความว่าท้องถิ่นขนาดเล็กควรทำทุกอย่าง งานบางเรื่องอาจไม่คุ้มค่าที่จะแยกกันทำ และบางเรื่องอาจมีผลกระทบข้ามพื้นที่ เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนย่อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับเส้นแบ่งตำบล/จังหวัด แต่มีการโยกย้ายถ่ายเทและใช้บริการข้ามพื้นที่กันไปมา การกระจายอำนาจของไทยที่ผ่านมามีการทบทวนข้อนี้บ้างแล้ว เช่น ในรายงานประเมินผลการกระจายอำนาจในรอบ 15 ปี ที่ได้สำรวจและเสนอว่างานจำนวนหนึ่งควรถ่ายโอนให้แก่ อปท. ระดับเทศบาลเมืองขึ้นไป อาทิ การดูแลโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการมลพิษ งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การก่อสร้างและดูแลท่าเรือ งานวิศวกรรมจราจรทางบก สถานีขนส่ง การผังเมือง และระบบประปาหมู่บ้าน[22]คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “รายงานโครงการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย,” 2557.  อย่างไรก็ตาม เกณฑ์เหล่านี้ไม่ควรถูกกำหนดเป็นสูตรตายตัวจากส่วนกลาง แต่ควรเกิดจากการทำข้อตกลงร่วมกับท้องถิ่น

จัดสรรงานให้เหมาะสมกับท้องถิ่นระดับต่างๆ

หลักเกณฑ์การจัดสรรงานในประเทศที่ดำเนินการถ่ายโอนอำนาจมีรายละเอียดต่างกันออกไปบ้าง แต่มีจุดร่วมกันคือการจัดสรรงานให้แก่ระดับที่จัดบริการสาธารณะได้ประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด งานที่มีต้นทุนสูงหรือต้องการอุปกรณ์เฉพาะทางควรยกให้ อปท. ระดับที่ใหญ่ขึ้นไปจนถึงคงไว้กับส่วนกลาง ขึ้นอยู่กับประเภทและระดับของผลกระทบข้ามพื้นที่ (spill-over)[23]Ontario Advisory Committee to the Minister of Municipal Affairs on the Provincial-Municipal Financial Relationship. Report of the Advisory Committee to the Minister of Municipal Affairs on the Provincial-Municipal Financial Relationship., 1991. ผลกระทบที่ว่านี้ไม่ใช่เฉพาะผลในเชิงลบแต่รวมถึงผลในเชิงบวกด้วย เช่น ประชาชนอาจเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดซึ่งอยู่ข้ามพื้นที่ไปยังอีก อปท. หนึ่ง ในทางกลับกัน งานที่ต้องการการตัดสินใจอย่างฉับไว และต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่นอย่างเข้มข้น ควรยกให้ อปท. ระดับล่างทำเพราะจะสามารถตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่ได้ดีที่สุด[24]Ferrazzi, Gabe, and Rainer Rohdewohld. “Functional Assignment in Multi-Level Government Volume II: GTZ-Supported Application of Functional Assignment,” 2009.

แม้เกณฑ์ที่ว่ามาข้างต้นจะมีเหตุผลรองรับอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติ การจัดสรรงานในแต่ละพื้นก็อาจมีเงื่อนไขอันเป็นข้อยกเว้นต่างกันออกไป เช่น อำนาจในการบริหารจัดการลำน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ต้นน้ำอาจมอบให้อปท.ระดับล่างสุดทำได้เอง แต่การบริหารจัดการในพื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งต่อเนื่องหลายพื้นที่จะต้องทำในระดับที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ ผลการตัดสินใจก็อาจขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นที่เข้ามาร่วมในการเจรจาด้วย เช่น หากเทศบาลมีบริษัทพัฒนาเมืองในพื้นที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน เทศบาลนั้นก็อาจรับจัดสรรงานที่มีต้นทุนสูงขึ้นได้

มีงานให้ส่วนกลางทำอีกมาก แม้อำนาจถูกถ่ายโอนออกไป 

การถ่ายโอนอำนาจเต็มขั้นแก่ อปท. ไม่ได้แปลว่าส่วนกลางจะหมดบทบาทลง แต่จะยิ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและประสานงานระหว่างหน่วยบริหารระดับต่างๆ ให้ราบรื่นและ ‘คงความหลากหลายภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียว’ (uniform but not unified)[25]Green, Amanda. “Managing Human Resources in a Decentralized Context.” In East Asia Decentralizes, 24, 2005. รักษาสมดุลระหว่างการกำกับดูแลไปพร้อมๆ กับให้อิสระ อปท. ในการแข่งขันกันคิดค้นนวัตกรรมในการบริหารท้องถิ่น ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือการกำหนดให้มี มาตรฐานขั้นต่ำการจัดบริการสาธารณะ (minimun service standard) หรือ MSS ซึ่งไทยได้พัฒนาและเริ่มใช้งานในปี 2015 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจในอนาคต MSS ช่วยประกันมาตรฐานบริการสาธารณะที่ประชาชนพึงได้รับ เช่น กำหนดให้สะพานและถนนได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 มีโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างน้อย 1 โครงการ ฯลฯ ในขณะที่ อปท. ก็มีอิสระเลือกวิธีการที่จะบรรลุมาตรฐานในแบบของตัวเอง และยังอาจใช้เป็นเครื่องมือ ‘เกลี่ยทรัพยากร’ เติมงบประมาณให้แก่ อปท. ขนาดเล็กได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ระบบในปัจจุบันยังคงขาดแรงจูงใจให้ท้องถิ่นร่วมการประเมิน เห็นได้จากรายงานผลการประเมินในปี 2022 ซึ่งมี อปท. ตอบแบบสำรวจเข้ามา 3,987 แห่ง คิดเป็นเพียงกึ่งหนึ่งของอปท.ทั้งหมด

ตัวอย่างผลการประเมินมาตรฐานของ อบต. ในปี 2021

ส่วนกลางยังมีงานสำคัญอีกอย่างน้อย 2 ด้านที่ต้องทำสำหรับการถ่ายโอนอำนาจก้าวต่อไป คือ การพัฒนาระบบสารสนเทศและการปรับบทบาทกลไกขับเคลื่อนที่มีอยู่ อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ส.ถ.) และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ให้เปลี่ยนจากควบคุมและสั่งการ เป็นสนับสนุนและประสานงานมากขึ้น

ส่วนกลางปรับบทบาทเป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนท้องถิ่น

การถ่ายโอนอำนาจในปัจจุบัน มีบริบทแตกต่างจากเมื่อครั้งที่ไทยเริ่มต้นกระจายอำนาจ เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ‘การพัฒนาระบบสารสนเทศและศูนย์ข้อมูลการกระจายอำนาจฯ’ ปรากฏอยู่ในพันธกิจของ ก.ก.ถ. ก็จริง ทว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันยังคงห่างไกลจากความสมบูรณ์อยู่มาก ที่ผ่านมา ก.ก.ถ. ใช้วิธีการขอความร่วมมือให้ท้องถิ่นตอบแบบสำรวจเข้ามา ส่วนการวิจัยเพื่อติดตามผลก็เป็นการสุ่มตัวอย่างเท่านั้น การติดตามผลการดำเนินงานของ อปท. ทั้ง 7,850 แห่งในอดีตอาจเป็นเรื่องยาก แต่การพัฒนา ‘ฐานข้อมูลท้องถิ่น’ ในปัจจุบันอาจไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับประเทศไทยอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อมีตัวอย่างมากมายให้สามารถดำเนินรอยตามได้ทันที 

ฐานข้อมูลท้องถิ่นที่โดดเด่นมากที่สุดอันหนึ่งคือ KOSTRA ของนอร์เวย์ซึ่งเริ่มเปิดใช้งานออนไลน์มาตั้งแต่ปี 1997 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความซับซ้อนในการรายงานข้อมูลแก่รัฐบาลให้จบในที่เดียว ทุกหน่วยงานของส่วนกลางสามารถดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลนี้ไปใช้โดยไม่ต้องร้องขอจากท้องถิ่นอีก ข้อมูลจึงประกอบด้วยสถิติที่ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกด้าน ตั้งแต่รายได้ การใช้ทรัพยากร และการจัดบริการสาธารณะทุกประเภท ผู้ใช้สามารถเลือกกรองข้อมูลที่ต้องการ และเลือกเปรียบเทียบระหว่างท้องถิ่นสองแห่งขึ้นไปได้ด้วย เครื่องมือนี้ช่วยให้ท้องถิ่นสามารถเปรียบเทียบการดำเนินงานของตนเองกับแห่งอื่นๆ เพื่อใช้วางแผนการจัดสรรทรัพยากรและยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้โดยเสรี ทำให้การดำเนินงานมีความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้นด้วย 

หน้าเว็บไซต์ฐานข้อมูลท้องถิ่น KOSTRA ของนอร์เวย์

ท้ายสุดคือบทบาทในการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแก่ อปท. ซึ่งแม้จะมีอำนาจและอิสระเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ยังคงถูกผูกมัดด้วยข้อกฎหมายภายใต้รูปแบบรัฐเดี่ยว ข้อกฎหมายเป็นหนึ่งในความชำนาญที่ส่วนกลางสามารถเป็นที่ปรึกษาให้แก่ อปท. ได้ นอกจากนี้ หน่วยงานอย่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังอาจมีบทบาทเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่าง อปท. กับหน่วยงานต่างๆ และระหว่าง อปท. ด้วยกันเอง เช่น ช่วยสนับสนุนการจัดตั้งสหการระหว่าง อปท. สองแห่งขึ้นไป

อปท. ขนาดเล็กต้อง ‘รวมกัน’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการถ่ายโอนอำนาจโดยเน้นที่ท้องถิ่นระดับล่างสุด คือการที่ อปท. ขนาดเล็กหลายแห่งขาดศักยภาพในการดำเนินงานที่ควรทำได้ ส่งผลให้ต้องพึ่งพา อปท. ระดับสูงขึ้น หรือกระทั่งต้องโอนภารกิจคืนส่วนกลาง ทางแก้พื้นฐาน คือการควบรวม อปท. ขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อให้มีทรัพยากรมากขึ้น และเกิดความประหยัดเชิงขนาดมากพอที่จะจัดบริการสาธารณะได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การควบรวมก็อาจสร้างปัญหาตามมาโดยเฉพาะในบริบทที่การกระจายอำนาจได้เริ่มต้นมานานกว่าสองทศวรรษและ อปท. ต่างๆ ได้กลายเป็นสถาบันที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับชุมชนไปแล้วเรียบร้อย

ที่ผ่านมา รัฐไทยพยายามจะควบรวม อบต. ขนาดเล็กโดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ยุบ อบต. ที่มีประชากรต่ำกว่า 7,000 คน และมีรายได้ก่อนรับเงินอุดหนุนต่ำกว่า 20 ล้านบาท เรื่องนี้ถูกต่อต้านจากสมาคม อปท. อย่างมาก[26]TCIJ. “สมาคม อปท. ค้านยุบควบรวม อปท. พร้อมเสนอ จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ”. 10 มิถุนายน 2559. https://www.tcijthai.com/news/2016/06/current/6242 และในขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปพิจารณาหลักการสำคัญของการถ่ายโอนอำนาจ ก็จะพบว่าการควบรวมในบางกรณีอาจขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการ ‘ทำให้อำนาจตัดสินใจอยู่ใกล้ชิดประชาชน’ ตั้งแต่ต้น ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล อาจถูกพรากช่องทางในการสะท้อนความต้องการและมีส่วนร่วมทางการเมืองหาก อบต. ในตำบลนั้นถูกยุบไปรวมกับตำบลข้างเคียง นอกจากนี้ การบังคับควบรวมลักษณะนี้ยังอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งใน อบต. ที่รวมกัน ไปจนถึงการขอแยกตัวคืนในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลนโยบายระดับชาติ

ท้องถิ่นไทยมีขนาดเล็กเกินไป การ 'รวมกัน' อาจทำได้หลายแบบ

อย่างไรก็ตาม การ ‘รวมกัน’ ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือการทำความร่วมมือข้าม อปท. (Inter-Municipal Cooperation) ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น 2 แห่งขึ้นไป โดยอาจมีรูปแบบ ขอบเขตอำนาจ และการแบ่งปันทรัพยากรหลากหลายตามแต่ตกลงกัน เช่น อาจรวมกันจัดตั้งเป็นนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจจัดเก็บภาษีหรือไม่ก็ได้ อาจรวมกันจัดบริการสาธารณะเป็นเพียงบางเรื่องก็ได้ ทางเลือกนี้ถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 เรียกหน่วยบริหารที่รวมกันว่า ‘สหการ’ ซึ่งรวมกันได้เฉพาะเทศบาลด้วยกันเท่านั้น ข้อบัญญัติลักษณะนี้ปรากฏในกฎหมายอีก 2 ฉบับคือ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ส่วน อบต. ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังไม่มีข้อบัญญัติไว้ชัดเจน ที่ผ่านมาจึงแทบไม่มีการร่วมมือกันในรูปแบบนี้[27]พวงงาม โกวิทย์. 2020. “ความร่วมมือระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย”. วารสารสถาบันพระปกเกล้า 2 (1). https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/view/244803. แม้กระทั่งการจัดตั้งคลัสเตอร์บริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นได้จากการผลักดันในรัฐบาล คสช. ก็เป็นเพียงการทำความตกลงร่วม (MOU) เท่านั้น

ฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งซึ่งท้องถิ่นมีขนาดเล็กมาก มีประชากรเฉลี่ยต่อแห่งเพียง 2,068 คน ทว่าคนในท้องถิ่นรู้สึกหวงแหนอัตลักษณ์และสนับสนุนแนวทางสหการมากกว่าจะควบรวมกัน อปท. ของฝรั่งเศสกว่า 80% จึงเป็นสมาชิกสหการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยชนิดที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือความร่วมมือแบบผสม (Syndicat mixte) ซึ่งสามารถร่วมมือกับ อปท. ต่างระดับกันหรือร่วมกับกระทั่งหน่วยงานของส่วนกลางได้[28]Swianiewicz, P., Gendźwiłł, A. and Zardi, A. “Territorial reforms in Europe: Does size matter?”. 2017

ในหลายประเทศ การจัดตั้งสหการเป็นขั้นตอนแรกที่นำไปสู่การควบรวมโดยสมัครใจในภายหลัง การเริ่มต้นร่วมมือกันทำงานเป็นเรื่องๆ ยังช่วยให้การควบรวมมีเนื้องานเป็นตัวตั้ง ใช้ประเมินว่าท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะได้มีคุณภาพดีพอหรือไม่ ซึ่งเป็นการจัดวางประชาชนผู้รับบริการให้เป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องการต่อรองทางการเมืองเพียงลำพัง

ข้อเสนอสู่ก้าวถัดไปของการถ่ายโอนอำนาจเต็มขั้น

นอกเหนือไปจากกระบวนการพื้นฐานในการเดินหน้ากระจายอำนาจ เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออกเดินครั้งใหม่ไปสู่การถ่ายโอนอำนาจเต็มขั้นให้ท้องถิ่นอาจต้องพิจารณาปรับปรุงและเพิ่มเติมกลไกที่จะช่วยประกันความสำเร็จในระยะยาวได้มากขึ้น 3 ข้อดังนี้

3 ข้อเสนอต่อก้าวถัดไปของการถ่ายโอนอำนาจเต็มขั้น

ให้ท้องถิ่นร่างข้อเสนอถ่ายโอนโดยประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ

จัดให้มีกระบวนการจัดทำข้อเสนอในระดับจังหวัด ให้ อปท. ทุกระดับในจังหวัดออกแบบโครงสร้างการบริหารภายในของตนเอง อำนาจหน้าที่ซึ่งต้องการรับถ่ายโอน และโครงสร้างการทำงานร่วมกันในพื้นที่ เช่น การจัดบริการสาธารณะบางอย่างร่วมกัน โดยส่วนกลางอาจพัฒนาชุดเครื่องมือและให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ แต่จะต้องไม่แทรกแซงทิศทางของการร่าง  ในกระบวนการทั้งหมดจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นและรายงานผลคืบหน้าในแต่ละขั้นแก่ประชาชน รวมถึงอาจพิจารณาจัดให้มีการทำประชามติระดับจังหวัดโดยพ่วงไปกับการลงประชามติระดับชาติ หากประชาคมในจังหวัดนั้นเห็นว่ามีข้อถกเถียงซึ่งต้องการมติคนส่วนใหญ่

ติดตามผลการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึงและโปร่งใส

จัดทำฐานข้อมูลท้องถิ่น และปรับบทบาทอนุกรรมการอำนวยการกระจายอำนาจระดับจังหวัด ให้เป็นหน่วยประสานงานและติดตามผลการกระจายอำนาจ โดยมีหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อนำเข้าสู่ระบบ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าของการถ่ายโอนอำนาจ เพื่อกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานในทุกพื้นที่เดินหน้าถ่ายโอนงานอย่างเต็มที่ภายใต้การจับจ้องของสาธารณชน

ออกพระราชกฤษฎีกาสร้างความชัดเจนให้ท้องถิ่นร่วมมือกันง่ายขึ้น

กระบวนการนิติบัญญัติที่แก้ไขกฎหมายปรับความสัมพันธ์ในแนวดิ่งจะต้องใช้เวลานานหลายปี แต่ในระหว่างนั้นรัฐสามารถเปิดให้ท้องถิ่นเดินหน้าปรับความสัมพันธ์ในแนวราบไปก่อนโดยออกพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ในการทำความร่วมมือกันจัดบริการสาธารณะระหว่างอปท. ให้สามารถทำได้อย่างชัดเจนโดยอาจพัฒนาต่อยอดจากระบบคลัสเตอร์บริหารจัดการขยะซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว 

References
1 Boex, Jamie, Timothy Stephen Williamson, and Serdar Yilmaz. “Decentralization, Multilevel Governance and Intergovernmental Relations : A Primer (English),” February 3, 2023.
2 Philippines Information Agency. “National Government commits to equitable devolution”. March 22, 2023. https://pia.gov.ph/news/2023/03/22/national-government-commits-to-equitable-devolution
3 ข้อมูลปี 2020 จากสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คำนวนโดย 101 PUB
4 สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. “ปฏิทินการเตรียมการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566,” ม.ป.ป..
5 ข้อมูลปี 2023 จากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คำนวนโดย 101 PUB
6 เป็นไปตามหลักการ subsidiarity ซึ่งมุ่งเน้นให้งานจัดบริการสาธารณะไปอยู่ที่ท้องถิ่นระดับล่างสุดเป็นลำดับแรก ส่วนท้องถิ่นระดับถัดขึ้นไปเน้นสนับสนุน หรือทำให้แทนในกรณีที่ระดับล่างทำไม่ได้เท่านั้น
7 วีระศักดิ์ เครือเทพ และคณะ. “รายงานโครงการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย,” 2557.
8 คำสั่งคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6/2553
9 สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี. “มติคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจฯ ครั้งที่ 5/2555”. http://suphanburilocal.go.th/public/reporttransfer/data/detail/reporttransfer_id/18
10 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. “การจัดทำฐานข้อมูลภารกิจที่ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”. มท 0810.8/ว3187. 8 ตุลาคม 2561.
11 Vongsayan, Hatchakorn, and Viengrat Nethipo. “The Roles of Thailand’s City Municipalities in the COVID-19 Crisis.” Contemporary Southeast Asia 43, no. 1 (2021): 15–23.
12 วีระศักดิ์ เครือเทพ และคณะ. “มาตรฐานบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาเกณฑ์ชี้วัด ข้อมูลเชิงประจักษ์ และนัยเชิงนโยบาย, 2560.
13 ปาณิส โพธิ์ศรีวงชัย. “‘ขอนแก่นโมเดล’ ฝันไกลที่รัฐส่วนกลางไม่ยอมให้ไปถึง?” The 101 World, 5 กุมภาพันธ์ 2566. https://www.the101.world/khon-kaen-model/.
14 รัฐบาลไทย. “รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-‘นายอำเภอคือความหวังของประชาชน’ ปลัด มท. เปิดอบรมหลักสูตร ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ให้กับนักเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 84,” 2566. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/69741.
15, 17 รายงานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 5/2554
16 คชาณพ จันทร์ภักดี. “การเมืองในการถ่ายโอนสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดอำนาจเจริญให้แก่เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ”. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2554.
18 ภายหลังถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GTZ)
19, 24 Ferrazzi, Gabe, and Rainer Rohdewohld. “Functional Assignment in Multi-Level Government Volume II: GTZ-Supported Application of Functional Assignment,” 2009.
20 เพิ่งอ้าง
21 ผู้จัดการออนไลน์. “ย้ำ 61 ผู้ว่าฯ กำชับ 96 บขส.หลังถ่ายโอนให้ท้องถิ่น จัดบริการห้องน้ำ ‘ฟรี’ จ่อรับอุดหนุนซ่อมแซมเพิ่ม 100 ล้าน,” 2566. https://mgronline.com/politics/detail/9660000005126.
22 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “รายงานโครงการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย,” 2557.
23 Ontario Advisory Committee to the Minister of Municipal Affairs on the Provincial-Municipal Financial Relationship. Report of the Advisory Committee to the Minister of Municipal Affairs on the Provincial-Municipal Financial Relationship., 1991.
25 Green, Amanda. “Managing Human Resources in a Decentralized Context.” In East Asia Decentralizes, 24, 2005.
26 TCIJ. “สมาคม อปท. ค้านยุบควบรวม อปท. พร้อมเสนอ จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ”. 10 มิถุนายน 2559. https://www.tcijthai.com/news/2016/06/current/6242
27 พวงงาม โกวิทย์. 2020. “ความร่วมมือระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย”. วารสารสถาบันพระปกเกล้า 2 (1). https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/view/244803.
28 Swianiewicz, P., Gendźwiłł, A. and Zardi, A. “Territorial reforms in Europe: Does size matter?”. 2017

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

เรียบเรียง/นำเสนอ

วนา ภูษิตาศัย

เรียบเรียง/นำเสนอ

พิรุฬพร นามมูลน้อย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประเมินสถานะการกระจายอำนาจ: 2 ทศวรรษที่ยังไปไม่ถึงเป้า

101 PUB ชวนสำรวจสถานะของการกระจายอำนาจท้องถิ่นในประเทศไทยในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาว่ามีพลวัตเป็นอย่างไรและมีปัญหาใดบ้างที่รอการแก้ไขเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.