Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the ultimate-addons-for-gutenberg domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114
นโยบายแก้หนี้ ความประสงค์ดีที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย

นโยบายแก้หนี้ ความประสงค์ดีที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย

101 PUB

12 April 2023

ประเด็นสำคัญ

  • แม้นโยบายพักหนี้ (ทั้งหนี้เกษตรกรหรือหนี้ทั้งระบบ) จะมีความประสงค์ดี แต่ผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามคาด เพราะในกรณีหนี้เกษตรกร เมื่อเข้าโครงการพักหนี้เป็นเวลานานเท่าไหร่ หนี้ก็ยิ่งเพิ่ม โอกาสชำระหนี้ตรงเวลาน้อยลง นอกจากนั้นแล้วแนวนโยบายดังกล่าวยังสร้างภาระทางการคลังอีกด้วย
  • การยกเลิกแบล็คลิสต์เครดิตบูโรเป็นสิ่งที่หลายคนยังเข้าใจผิดเนื่องจากไทยไม่มีการให้แบล็คลิสต์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
  • ส่วนนโยบายรื้อระบบการให้สินเชื่อให้ด้วยการนำข้อมูลรายได้หรือรูปแบบการจ่ายเงินมาร่วมพิจารณาพร้อมกับประวัติการชำระหนี้จะช่วยผู้ให้กู้ปล่อยสินเชื่อได้ดียิ่งขึ้น

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ถกเถียงกันในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะระดับหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีปริมาณหนี้ครัวเรือนในระบบกว่า 15 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดที่ครัวเรือนไทยเคยมีนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา[1]ธนาคารแห่งประเทศไทย. เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน. สถิติเศรษฐกิจการเงิน. 2023.

หนี้ครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึง 86.9% ซึ่งนับว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาเดียวกัน นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ที่ไม่อาจสร้างรายได้และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้[2]ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และโสมรัตน์ จันทรัตน์. “หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมไม่ควรมองข้าม?.”เมษายน 6, 2023. https://www.pier.or.th/blog/2023/0202/

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ไปใช้คืนหนี้มากขึ้น จำกัดกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้เศรษฐกิจไม่อาจเติบโตจากภายในได้อย่างแข็งแกร่ง หนี้ภาคครัวเรือนขนาดใหญ่เกินไปยังสามารถทำลายเสถียรภาพของระบบการเงินหรือการคลังได้ ดังที่เคยเป็นชนวนเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกหลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นเชื้อไฟที่ทำให้วิกฤตการณ์นั้นรุนแรงและยาวนานขึ้น

ท่ามกลางเทศกาลการหาเสียงเพื่อเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทย มีพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ชูนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นนโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจ โดยมีหลากหลายแนวทาง ตั้งแต่การพักหนี้ ไปจนถึงการรื้อระบบสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี แนวนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนด้วยความหวังดีเหล่านี้อาจไม่มีประสิทธิผลมากอย่างที่หวังไว้ ในกรณีเลวร้าย อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจย่ำแย่ลง แทนที่จะดีขึ้นดังความตั้งใจที่คาดหวังจะช่วยประชาชนไว้          

101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ชวนประเมินแนวนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีการเสนอจากพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ว่าหน้าตาของแนวนโยบายแบบไหนที่เมื่อทำแล้วอาจได้ไม่คุ้มเสีย

แนวนโยบายที่ 1: การพักหนี้เกษตรกร ความประสงค์ดีที่อาจได้ผลน้อย

เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความไม่แน่นอนทางรายได้สูง เพราะผลผลิตจากการเพาะปลูกมักขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรมักอ้างอิงราคาตลาดโลก แต่รายจ่าย เช่น ค่าเช่าที่ดินเพาะปลูก ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย กลับไม่ผันผวนตาม ทำให้ในบางเดือนเกษตรกรอาจไม่มีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายต่างๆ จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อนำรายได้ในอนาคตมาทำการเพาะปลูก

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของผลผลิตหรือราคาสินค้าด้านเกษตรก็ทำให้เกษตรกรอาจไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ในหลายครั้งหลายครา เกษตรกรจึงจำต้องกู้ยืมเงินก้อนใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้ก้อนเก่า กลายเป็นวงจรหนี้เกษตรกร จากการสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกรของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าครัวเรือนภาคเกษตร 47% มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสำหรับการชำระหนี้ โดยที่ 27% มีรายได้ไม่พอรายจ่ายจำเป็นพื้นฐาน[3]โสมรัตน์ จันทรัตน์, ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และชญานี ชวะโนทย์. (2022). “กับดับหนี้ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินฐานราก.”เมษายน 8, 2023. https://www.pier.or.th/abridged/2022/15/. เป็นสัญญาณอันตรายมากสำหรับสุขภาพการเงินของเกษตรกรไทย

ดังนั้น เมื่อพูดถึงนโยบายภาคเกษตร นอกจากนโยบายเงินอุดหนุนต่างๆ ยังมีนโยบายพักหนี้เกษตรกร ให้หยุดจ่ายเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปในอนาคตได้ นโยบายลักษณะนี้ตั้งใจช่วยให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายน้อยลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีเงินออมมากขึ้นพอสำหรับการลงทุนรอบใหม่ จนสร้างผลตอบแทนพอที่จะชำระหนี้และหลุดจากวงจรหนี้ได้ในที่สุด

พรรคการเมืองหนึ่งที่มีนโยบายพักหนี้เกษตรกรคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งกำหนดว่าจะพักหนี้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 ปี[4]Voice TV. (14 มีนาคม 2023). LIVE! พรรคเพื่อไทย แถลงทลายหนี้ 4 กอง หนี้ประเทศ-เกษตรกร-SME-นอกระบบ โดย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล [วิดีโอ]. ยูทูป. https://www.youtube.com/watch?v=85hotkzGT2M โดยพรรคยังไม่ได้ระบุรายละเอียดมากนักว่า จะเลือกพักหนี้เกษตรกรกลุ่มใด กำหนดเพดานหนี้ที่สามารถพักได้สูงสุดต่อคนที่เท่าไหร่ ครอบคลุมสินเชื่อจากแหล่งใดบ้าง

ในการดำเนินนโยบายพักหนี้ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ของเจ้าหนี้ที่จะต้องเสียไปจากการพักชำระหนี้เกษตรกรเมื่อคำนวณงบประมาณที่ภาครัฐต้องชดเชยแก่เจ้าหนี้ โดยคาดการณ์จากปริมาณสินเชื่อของเกษตรกรในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)[5]งบการเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ไตรมาส 1/2022 ซึ่งมีมูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องจ่ายประมาณ 2–4% ต่อปี[6]101 PUB อ้างอิงดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อของ ธกส. ที่มักจะเป็นสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ตามนโยบายของภาครัฐ … Continue reading หากรัฐต้องการพักหนี้และช่วยเหลือภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรชั่วคราว โดยให้สิทธิแก่ทุกคนอัตโนมัติอย่างไม่มีเพดานวงเงิน รัฐจะต้องจัดสรรเงินชดเชยแก่ ธกส. 30,000–60,000 ล้านบาทต่อปี (ภาพที่ 1)

พักหนี้เกษตรกร ความประสงค์ดีที่อาจได้ผลน้อย
ภาพที่ 1: ประมาณการภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นจากแนวนโยบายพักหนี้เกษตรกร
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของสำนักงบประมาณ
หมายเหตุ: งบประมาณรวมถึงภาระดอกเบี้ยพันธบัตรเฉลี่ย 2.5% จากการกู้เงินเพื่อดำเนินการ

การเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ตลอดจนการช่วยเหลือด้วยการพักหนี้อย่างไม่มีวงเงินกำหนด ก็จะมีลักษณะเหลื่อมล้ำ คืออาจช่วยเหลือเกษตรกรที่มีฐานะดีมากกว่ากลุ่มเกษตรกรรายเล็กและเปราะบาง เนื่องจากการเข้าถึงสินเชื่อมักจะขึ้นกับหลักทรัพย์และความสามารถในการสร้างรายได้ จากข้อมูลสำมะโนเกษตรกรของไทยปี 2013 ซึ่งเป็นการสำรวจเกษตรกรขนาดใหญ่ที่เผยแพร่ล่าสุด ชี้ว่ากลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด 20% แรก มีหนี้ในระบบประมาณ 120,000 บาท ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยที่สุด 20% มีหนี้ในระบบประมาณ 50,000 บาท[7]101 PUB ใช้ข้อมูลสำมะโนการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2013) ในการวิเคราะห์ โดยกำหนดให้ปริมาณที่ดินรวมของเกษตรกรเป็นตัวแทน (proxy) … Continue reading

แม้ว่านโยบายพักหนี้เกษตรกรอาจช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้ในหลักการ แต่จากงานศึกษาเชิงประจักษ์พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ในช่วงปี 2015-2021 ซึ่งมีทั้งนโยบายที่พักชำระหนี้เฉพาะเงินต้น นโยบายพักชำระเงินต้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย และนโยบายพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สุดท้ายมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-4% ต่อปี และหากเกษตรกรสามารถพักหนี้ได้หลายบัญชีหรือได้รับระยะเวลาพักหนี้นาน ก็จะยิ่งทำให้เกษตรกรสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดิม สำหรับผลกระทบต่อการชำระหนี้ แม้เกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ 1 ปี จะสามารถชำระหนี้ได้ตรงต่อเวลามากขึ้นเนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายลดลง แต่ในทางกลับกัน หากเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้ 3-4 ปี จะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นโยบายพักชำระหนี้ยังไม่ได้ช่วยเพิ่มปริมาณการออมและพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด[8]Ratanavararak, L., & Chantarat, S. “Do Agricultural Debt Moratoriums Help or Hurt? The Heterogenous Impacts on Rural Households in Thailand.” PIER Discussion Paper, no. 195. https://www.pier.or.th/dp/195/.          

นอกจากนโยบายพักหนี้เกษตรกรแล้ว ยังมีอีกหนึ่งแนวนโยบายคล้ายคลึงกันที่ถูกพูดถึงบ่อยคือ การ ‘พักหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่เกิดขึ้นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19’ ซึ่งหวังช่วยให้ SME ที่มีหนี้เสียในช่วงโควิดได้มีภาระการชำระหนี้ลดลง ทำให้สามารถกลับมาฟื้นฟูกิจการและมีเงินชำระหนี้ที่ได้ก่อไว้ ซึ่งแม้นโยบายพักหนี้ SME จะมีความหวังดีเหมือนนโยบายพักหนี้เกษตรกร แต่ก็อาจได้ผลน้อยหรือได้ผลในทางตรงข้ามเฉกเช่นกรณีการพักหนี้เกษตรกร

แนวนโยบายที่ 2: นโยบายพักหนี้ครัวเรือน หยุดต้น ปลอดดอก รายจ่ายรัฐโป่ง 

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้เป็นหนี้ราว 25 ล้านคน ซึ่งมีหนี้สินโดยเฉลี่ยราว 5–6 แสนบาทต่อคน[9]ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และโสมรัตน์ จันทรัตน์. “หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมไม่ควรมองข้าม?.” เมษายน 6, 2023. https://www.pier.or.th/blog/2023/0202/. เมื่อพิจารณาโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในระบบปัจจุบันจากข้อมูลปริมาณหนี้ในระบบ ทั้งหมด 15.4 ล้านล้านบาท[10]101 PUB รวมข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไตรมาส 4/2022 แต่เนื่องจากข้อมูลของ ธปท. ยังไม่ได้รวมหนี้ในระบบอื่น เช่น … Continue reading ส่วนใหญ่คือสินเชื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 34.4 รองลงมาคือสินเชื่อเพื่ออุปโภคหรือบริโภคร้อยละ 27.5 ตามมาด้วยสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ และยานพาหนะ ร้อยละ 17.6 และ 11.7 ตามลำดับ โดยสินเชื่อแต่ละประเภทมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน (ตารางที่ 1)

ประเภทสินเชื่อสัดส่วนต่อหนี้ในระบบทั้งหมดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเฉลี่ย
ที่อยู่อาศัย34.4%3.0%
อุปโภค/บริโภค27.5%16.8%
ทำธุรกิจ17.6%16.2%
ซื้อ/เช่ายานพาหนะ11.7%6.0%
การศึกษา3.4%1.0%
อื่นๆ5.3%5.0%
อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั้งหมดโดยเฉลี่ย9.5%
ตารางที่ 1: โครงสร้างหนี้ครัวเรือนในระบบ
ที่มา: 101 PUB รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย
หมายเหตุ: ดอกเบี้ยสินเชื่ออุปโภค/บริโภคและสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจคือ เพดานดอกเบี้ยสูงสุดกรณีที่ไม่มีการค้ำประกันและเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ส่วนดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทอื่นคือ ดอกเบี้ยทั่วไปของสินเชื่อประเภทนั้นๆ

หนึ่งในนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2023 คือนโยบายพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่หนี้ครัวเรือนในระบบ นโยบายพักหนี้กรณีนี้มีขนาดใหญ่กว่านโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นอย่างมาก อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปก็สูงกว่าสินเชื่อเกษตรกร โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคหรือบริโภค ดังนั้นภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นจากแนวนโยบายนี้ย่อมมีปริมาณที่สูงกว่าแนวนโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นอย่างมาก

นโยบายพักชำระหนี้ครัวเรือนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทย ภายใต้ชื่อ ‘พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท’ ซึ่งเป็นการพักหนี้รายคน โดยกำหนดเพดานวงเงินเข้าโครงการไม่เกินคนละ 1 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมทั้งสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน สหกรณ์ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนหมู่บ้าน บัตรเครดิต ไฟแนนซ์ และลีซซิ่ง[11]อ่านเพิ่มเติม https://bhumjaithai.com/policy/80677 อย่างไรก็ตาม อาจมีพรรคการเมืองอื่นนำเสนอการพักหนี้ครัวเรือนอีกได้ในอนาคต        

เนื่องจากข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวกับหนี้สินรายบุคคลยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึง 101 PUB จึงจำลองความเป็นได้ของภาระงบประมาณที่ใช้ในแต่ละกรณี ซึ่งมีเงื่อนไขในการคำนวณดังนี้

  • ปริมาณหนี้เฉลี่ยที่แต่ละคนจะนำเข้าโครงการพักหนี้ แบ่งเป็น 3 ระดับย่อยคือ 150,000 บาท/คน 350,000 บาท/คน และ 550,000 บาท/คน ในกรณีหนี้เฉลี่ยรายคนน้อยที่สุดอาจเกิดขึ้นได้เพราะคนที่มีหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่กู้เงินเพิ่มเพื่อหวังพักหนี้ ส่วนคนที่มีหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาทสามารถพักหนี้ได้เพียง 1 ล้านบาท ทำให้หนี้เฉลี่ยรายคนที่เข้าโครงการพักหนี้ไม่สูง ในกรณีหนี้เฉลี่ยรายคนสูงสุด (550,000 บาท/คน) อาจเกิดจากคนกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้สิทธิ์พักหนี้ให้ได้มากที่สุด หรืออาจมีนโยบายของพรรคใดที่เสนอเพิ่มเติมโดยผ่อนคลายเพดานวงเงิน
  • ดอกเบี้ยเฉลี่ยของสินเชื่อที่เข้าโครงการพักหนี้ แบ่งเป็น 3 ระดับคือร้อยละ 9, 12, และ 15 ต่อปี ในกรณีดอกเบี้ยสินเชื่อน้อยที่สุด (ร้อยละ 9) อาจเกิดขึ้นได้ถ้าคนที่พักหนี้ไม่ปรับโครงสร้างหนี้ตัวเองจากเดิม ส่วนกรณีดอกเบี้ยสินเชื่อสูงที่สุด (ร้อยละ 15) อาจเกิดขึ้นเมื่อคนที่พักหนี้ เลือกพักหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เพื่อลดภาระการชำระหนี้ในระหว่างพักหนี้ให้ได้มากที่สุด

ในกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการน้อย (เฉลี่ย 150,000 บาท/คน) และดอกเบี้ยเป็นไปตามค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยสินเชื่อปัจจุบัน (ร้อยละ 9) รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ปีละ 345,938 ล้านบาท คิดเป็น 13.9% ของรายรับของรัฐบาล[12]สำนักงบประมาณ. (2022). เอกสารงบประมาณฉบับที่ 2 งบประมาณรายรับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566. ในกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการปานกลาง (เฉลี่ย 350,000 บาท/คน) และมีเฉพาะคนบางส่วนที่เลือกพักหนี้ดอกเบี้ยสูงแทนหนี้ดอกเบี้ยต่ำ (ร้อยละ 12) รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้รวมกับจ่ายผลตอบแทนพันธบัตรเพื่อกู้เงินมาดำเนินนโยบายปีละ 1,076,250 ล้านบาท คิดเป็น 43.2% ของรายรับของรัฐบาล ส่วนกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการมาก (เฉลี่ย 550,000 บาท/คน) และมีคนจำนวนมากเลือกพักหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงเพื่อที่จะได้ใช้สิทธิ์การพักหนี้ให้มากที่สุด รัฐอาจต้องต้องจัดสรรงบประมาณมากถึง 2,114,063 ล้านบาท คิดเป็น 84.9% ของรายรับรัฐบาล (ภาพที่ 2)

พักหนี้ หยุดต้น ปลอดดอก รายจ่ายรัฐโป่ง
ภาพที่ 2: ประมาณการภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นจากแนวนโยบายพักหนี้ครัวเรือนในระบบ
ที่มา: 101PUB คำนวณจากข้อมูลของธนาคารพาณิชย์, สำนักบริหารหนี้สาธารณะ, ลัทธพรและโสมรัศมิ์ (2023), ธนาคารแห่งประเทศไทย, กองทุนให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา, และสำนักงบประมาณ

แนวนโยบายที่ 3: กล้าที่จะยกเลิก ‘แบล็กลิสต์เครดิตบูโร’ ที่ไม่มีอยู่จริง

นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอีกทางหนึ่งที่ถูกหาเสียง คือ การยกเลิก ‘แบล็กลิสต์เครดิตบูโร’ พร้อมทั้งรื้อระบบการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะพรรคชาติพัฒนากล้า โดยมีเป้าหมายให้คนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินนอกระบบซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่ามาก

ในรายละเอียด ข้อเสนอนี้ต้องการยกเลิกระบบ ‘แบล็กลิสต์’ ของเครดิตบูโร ที่ทำให้ผู้ขอกู้ถูกปฏิเสธสินเชื่อ แล้วปรับระบบการประเมินสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) ร่วมด้วย เช่น รายได้ของผู้กู้  รูปแบบการใช้จ่ายเงิน ประวัติการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น อีกทั้งยังเสนอให้เครดิตบูโรต้องปรับเปลี่ยนการรายงานข้อมูลเป็นคะแนนเครดิต (credit score) แทนการรายงานแบบเดิมที่มีเพียงประวัติการชำระหนี้ ทำให้ผู้ที่เคยมีประวัติเสีย (ผิดนัดชำระหนี้) อาทิ ผู้ขาดรายได้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องถูก ‘แบล็กลิสต์’ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ทั้งที่ในปัจจุบันอาจมีรายได้และความสามารถในการชำระหนี้กลับคืนมาแล้ว[13]กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ศิริกัญญา ตันสกุล, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, สุพันธุ์ มงคลสุธี, ชาญกฤช เดชวิทักษ์, วินท์ สุธีรชัย, โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, และ … Continue reading

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กลับไม่มีการรายงานหรือจัดทำข้อมูล ‘แบล็กลิสต์’ ดังที่พรรคชาติพัฒนากล้าระบุไว้ หากแต่มีเพียงข้อมูลด้านสินเชื่อของผู้กู้ เช่น ประวัติการชำระหนี้ วงเงินที่ได้รับอนุมัติและวงเงินที่ใช้ไป สถานะของบัญชีสินเชื่อ เป็นต้น โดยสิ่งที่ใกล้เคียงคำว่า ‘แบล็กลิสต์’ มากที่สุดคือประวัติการผิดชำระหนี้ที่ผ่านมาเท่านั้น นอกจากนี้ เครดิตบูโรยังมีการจัดทำและรายงานข้อมูลเป็นคะแนนเครดิตอยู่แล้ว[14]บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

สิ่งเดียวจากข้อเสนอของพรรคชาติพัฒนากล้าที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ คือการเพิ่มข้อมูลทางเลือกเข้าไปในระบบฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ซึ่งถือเป็นส่วนที่ช่วยคนจำนวนมากให้มีข้อมูลในระบบการประเมินสินเชื่อได้ ภายใต้สังคมที่มีแรงงานหรือธุรกิจนอกระบบมากกว่าครึ่งในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ดำเนินงานในต่างประเทศพบว่า การใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) ในการประเมินคะแนนเครดิตของผู้กู้เพียงทางเดียวจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำน้อยกว่าผลจากข้อมูลเครดิตแบบดั้งเดิม (traditional data) แต่หากผู้ประเมินสามารถนำชุดข้อมูลทั้งสองมารวมกัน (combined data) จะได้ผลลัพธ์การประเมินความน่าเชื่อถือที่แม่นยำที่สุด กล่าวคือการประเมินความน่าเชื่อถือด้วยชุดข้อมูลรวมจะช่วยให้ผู้ปล่อยกู้สามารถเลือกปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ได้แม่นยำที่สุด[15]“Using Alternative Data in Credit Risk Modelling.” FICO Blog. February 1, 2022. https://www.fico.com/blogs/using-alternative-data-credit-risk-modelling. (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3: ประสิทธิภาพในการคัดเลือกลูกหนี้ที่ดีจากการประเมินด้วยชุดข้อมูลต่างๆ
ที่มา: FICO Blog

การมุ่งแก้ไขที่จะรื้อระบบสินเชื่อด้วยความหวังดีที่จะให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นนี้ จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะหากรื้อระบบสินเชื่อโดยการลดความสำคัญของประวัติการชำระหนี้ จะทำให้การประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กู้ได้ไม่แม่นยำ อีกทั้งยังทำให้ลูกหนี้ได้รับผลเสียน้อยลงเมื่อเบี้ยวหนี้ และถ้ามีการเบี้ยวหนี้เพิ่มมากขึ้นกอปรกับผู้ปล่อยกู้ไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือได้อย่างแม่นยำ ผู้ปล่อยกู้ก็ย่อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่จะถูกเบี้ยวหนี้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเลือกปล่อยกู้น้อยลงด้วยความหวาดระแวง ทำให้ท้ายที่สุด โอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบลดลง แทนที่จะเพิ่มขึ้นดังที่หวังไว้

เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างมีประสิทธิผล แนวนโยบายที่ควรทำนั้นไม่ใช่การลดความสำคัญของประวัติการชำระหนี้ หากแต่เป็นการเพิ่มข้อมูลในระบบให้มากขึ้น ซึ่งต้องเพิ่มทั้งความครอบคลุมของคน ระยะเวลาของข้อมูล และประเภทข้อมูลที่ใช้ เพื่อช่วยให้ผู้ปล่อยกู้สามารถเข้าใจสถานการณ์ของผู้กู้และประเมินสินเชื่อได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

นอกจากระบบข้อมูลแล้ว การเพิ่มการแข่งขันในระบบการเงินโดยรวมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โดยการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการด้านการเงิน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีบริการสินเชื่อที่หลากหลายและสะท้อนตามความเสี่ยงของผู้กู้ จะช่วยเพิ่มความแข่งขันในระบบการเงินและช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพแต่เดิมไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

กล้าที่จะยกเลิก 'แบล็กลิสต์เครดิตบูโร' ที่ไม่มีอยู่จริง
ภาพที่ 4: ประเมินแนวนโยบายรื้อระบบข้อมูลสินเชื่อ
ที่มา: 101 PUB รวบรวมจากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

เสนอนโยบายแก้ปัญหาหนี้ แต่อาจสร้างปัญหาใหม่แทน…

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในขณะนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ และควรมีแนวทางบริหารจัดการโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่หลายพรรคการเมืองให้ความสนใจและทำให้มีข้อเสนอแนะจำนวนมากให้ได้วิเคราะห์และตัดสินใจกัน

อย่างไรก็ดี แนวนโยบายเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา อาทิ ปัญหาด้านภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลเลือกรับภาระหนี้ภาคครัวเรือนแทนประชาชน และปัญหาด้านประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของระบบการเงิน ตลอดจนการบั่นทอนเสถียรภาพระบบการเงินและการคลังไทย อาจกลายเป็นการกระทำที่ได้ไม่คุ้มเสีย

เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลารอทำร้ายระบบเศรษฐกิจไทย แนวนโยบายที่จะนำมาใช้ควรต้องคำนึงถึงผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การทำงานบนฐานของชุดข้อมูลความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากไร้ซึ่งชุดข้อมูลความรู้ ก็ไม่อาจที่จะเข้าใจถึงสถานการณ์และผลกระทบที่ตามมาจากการกระทำนั้นๆ ได้

References
1 ธนาคารแห่งประเทศไทย. เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน. สถิติเศรษฐกิจการเงิน. 2023.
2 ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และโสมรัตน์ จันทรัตน์. “หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมไม่ควรมองข้าม?.”เมษายน 6, 2023. https://www.pier.or.th/blog/2023/0202/
3 โสมรัตน์ จันทรัตน์, ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และชญานี ชวะโนทย์. (2022). “กับดับหนี้ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินฐานราก.”เมษายน 8, 2023. https://www.pier.or.th/abridged/2022/15/.
4 Voice TV. (14 มีนาคม 2023). LIVE! พรรคเพื่อไทย แถลงทลายหนี้ 4 กอง หนี้ประเทศ-เกษตรกร-SME-นอกระบบ โดย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล [วิดีโอ]. ยูทูป. https://www.youtube.com/watch?v=85hotkzGT2M
5 งบการเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ไตรมาส 1/2022
6 101 PUB อ้างอิงดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อของ ธกส. ที่มักจะเป็นสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ตามนโยบายของภาครัฐ ที่ตามปกติแล้วภาครัฐจะอุดหนุนดอกเบี้ยบางส่วนแก่เกษตรกรด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เกษตรกรเดิม 5% ภาครัฐอาจอุดหนุนโดยจ่ายดอกเบี้ยให้ 3% และอีก 2% เกษตรกรที่ขอกู้ต้องชำระด้วยตนเอง ดังนั้นหากรัฐจะพักหนี้และดอกเบี้ยของเกษตรกร ก็จะเป็นจ่ายอัตราดอกเบี้ยแก่ ธกส. แทนเกษตรกรที่พักหนี้
7 101 PUB ใช้ข้อมูลสำมะโนการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2013) ในการวิเคราะห์ โดยกำหนดให้ปริมาณที่ดินรวมของเกษตรกรเป็นตัวแทน (proxy) ของฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกร ส่วนหนี้ในระบบ 101 PUB รวมสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน และหน่วยงานราชการอื่นๆ
8 Ratanavararak, L., & Chantarat, S. “Do Agricultural Debt Moratoriums Help or Hurt? The Heterogenous Impacts on Rural Households in Thailand.” PIER Discussion Paper, no. 195. https://www.pier.or.th/dp/195/.
9 ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และโสมรัตน์ จันทรัตน์. “หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมไม่ควรมองข้าม?.” เมษายน 6, 2023. https://www.pier.or.th/blog/2023/0202/.
10 101 PUB รวมข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไตรมาส 4/2022 แต่เนื่องจากข้อมูลของ ธปท. ยังไม่ได้รวมหนี้ในระบบอื่น เช่น สินเชื่อเพื่อการศึกษาของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สินเชื่อจากกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น 101 PUB จึงนำปริมาณสินเชื่อของ กยศ. มารวมด้วย
11 อ่านเพิ่มเติม https://bhumjaithai.com/policy/80677
12 สำนักงบประมาณ. (2022). เอกสารงบประมาณฉบับที่ 2 งบประมาณรายรับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566.
13 กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ศิริกัญญา ตันสกุล, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, สุพันธุ์ มงคลสุธี, ชาญกฤช เดชวิทักษ์, วินท์ สุธีรชัย, โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, และ อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์. “ศึกประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายด้านเศรษฐกิจ”.” ตอบโจทย์ #เลือกอนาคตไทย. กรุงเทพมหานคร: Thai PBS, เมษายน 2023.
กรณ์ จาติกวณิช, ชุติมา พึ่งความสุข, และ วีระ ธีรภัทร. “The Special: คุยกับ “ชาติพัฒนากล้า”.” ฟังหูไว้หู. กรุงเทพมหานคร: 9 MCOT HD, มีนาคม 2023.
14 บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
15 “Using Alternative Data in Credit Risk Modelling.” FICO Blog. February 1, 2022. https://www.fico.com/blogs/using-alternative-data-credit-risk-modelling.

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

วิจัย/เขียน

ฉัตร คำแสง

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

101 Policy Forum: นโยบายเศรษฐกิจในสนามเลือกตั้ง

101 PUB ชวนชม ฉัตร คำแสง ร่วมสนทนากับตัวแทนด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก 5 พรรการเมือง ใน 101 Policy Forum

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย 'เงินอุดหนุนเกษตรกร' แบบเดิมๆ

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย เข้าใจช่องโหว่ของนโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรในปัจจุบันที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนสวัสดิการเติมรายได้ให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.