7 หลุ่มบ่อบนเส้นทางบริหาร อบจ.

7 หลุมบ่อบนเส้นทางบริหาร อบจ.

ประเด็นสำคัญ

  • รัฐส่วนกลางกระจายแต่งาน ไม่กระจายอำนาจ ทำให้ท้องถิ่นขาดอิสระในการบริหารงาน เงิน คน อันเป็นสามอุปสรรคสำคัญที่ อปท.ทุกระดับต้องเผชิญ
     
  • อบจ. มีขอบเขตหน้าที่กว้างขวาง แต่ในการทำงานจริงกลับต้องขออนุญาตหน่วยราชการส่วนภูมิภาคไปทุกเรื่อง ทั้งยังต้องได้รับความยินยอมจากอปท.ใต้สังกัด เนื่องจากไม่มีพื้นที่กายภาพเป็นของตัวเอง อบจ. จึงกลายเป็น 'ท่อผ่านงบ' มากกว่าเป็นผู้กำหนดทิศทางการบริหารจังหวัดในภาพใหญ่
     
  • นายก อบจ. ยังต้องทำงานใต้เงาผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีอำนาจตรวจสอบล้นมือ และถูกตีกรอบด้วยระเบียบมหาดไทยที่ทำให้การเบิกจ่ายไม่ยืดหยุ่น ทำให้การจัดบริการสาธารณะให้ตอบโจทย์ประชาชนมีต้นทุนที่แพงโดยไม่จำเป็น

คนไทยใน 47 จังหวัดจะได้ออกไปลงคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 นี้ แต่มองไปทางไหนก็มีแต่การพูดถึงสนามเลือกตั้งนี้ในฐานะสนามซ้อมเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติในอีกสองปีข้างหน้า ราวกับว่าตำแหน่งนายก อบจ. ไม่ได้มีความหมายต่อการพัฒนาจังหวัดเท่าใดนัก

ทำไม อบจ. ถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงในจังหวัดของตัวเองไม่ได้? ทำไมถึงมุ่งทำแต่ถนน? ทำไมถึงได้ทำงานเชื่องช้า? ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิมีเสียงมาร่วมกันสำรวจพื้นผิวถนนบนเส้นทางบริหารงาน อบจ. ว่ามีอุปสรรคหลุมบ่ออะไรที่ทำให้การพัฒนาจังหวัดยังคงติดหล่มจมโคลน หลังจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเริ่มต้นมาแล้วถึง 25 ปี

งานแยกส่วน เงินไม่มี คนไม่พอ
ปัญหาคลาสสิกท้องถิ่นไทย

ตลอดระยะเวลา 25 ปีของการกระจายอำนาจที่ผ่านมาของไทย รัฐส่วนกลางถ่ายโอนภารกิจจำนวนมากให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับไปทำ แต่กลับยังไม่ยอมปล่อยมือจาก ‘อำนาจ’ ในการบริหารจัดการงานเหล่านั้นแก่ผู้บริหารท้องถิ่น จนเกิดเป็นสามหลุมใหญ่ คือข้อจำกัดเกี่ยวกับอำนาจในการบริหาร ‘งาน-เงิน-คน’ ที่ไม่เอื้อให้ท้องถิ่นทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

3 ปัญหาคลาสสิกท้องถิ่นไทย

หลุมที่ 1
งานแยกส่วน ให้อำนาจบริหารมาไม่ครบ

การถ่ายโอนภารกิจสู่ท้องถิ่นต้องสะดุดลงภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2014 แม้จะในเวลาต่อมาจะมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เดินหน้าต่อ จนกระทั่งคืบหน้าไปแล้วราว 45.9% ใน 63 จังหวัด[1]The Coverage. 2024. ‘อัปเดต ตัวเลข “ถ่ายโอน รพ.สต. ปี 68” ล่าสุด’. 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/7614.
แต่ภารกิจอื่นๆ ที่เหลือยังคืบหน้าไปน้อยมาก และมักเป็นการถ่ายโอนที่หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เลือกแบ่งงานให้แบบ ‘แยกส่วน’ ท้องถิ่นไม่สามารถรับไปบริหารได้เต็มที่ เพราะอำนาจถูกถ่ายโอนมาไม่ครบ ตัวอย่างเช่น การจัดบริการขนส่งสาธารณะ ที่ อบจ. ได้รับถ่ายโอนมาเฉพาะสถานีขนส่ง แต่เมื่อไม่มีอำนาจกำหนดเส้นทางเดินรถ ก็ยากที่จะบริหารให้เกิดบริการที่ดีมีประสิทธิภาพ[2]สรัช สินธุประมา. 2023. ‘จัดความสัมพันธ์ท้องถิ่น-ส่วนกลางใหม่ ไปให้ถึงการ “ถ่ายโอนอำนาจ”’. 101 PUB . 27 กรกฎาคม 2023. https://101pub.org/next-step-devolution/.

หลุมที่ 2
เงินไม่มี เพราะขาดอิสระในการหาเงิน-ใช้เงิน

อบจ. เป็นส่วนราชการท้องถิ่นที่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่กว้างขวาง และมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาและจัดบริการสาธารณะที่มากกว่าท้องถิ่นระดับตำบลอย่างมาก ในปีงบประมาณ 2024 อบจ. ทั่วประเทศใช้งบประมาณเฉลี่ยจังหวัดละ 924 ล้านบาท[3]Rocket Media Lab (2025) คำนวนโดย 101 PUB แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่าอำนาจในการบริหารเงินของท้องถิ่นถูกจำกัดเอาไว้ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ไม่สามารถระดมทุน เช่น ออกพันธบัตร ล็อตเตอรี ไม่สามารถกำหนดประเภทภาษีที่จัดเก็บได้เอง จนทำให้ต้องพึ่งพาเงินกว่า 88.8% จากส่วนกลาง โดยเงินอุดหนุนดังกล่าวก็มักมาพร้อมเงื่อนไข ไม่สามารถนำเงินไปบริหารได้อย่างอิสระ

หลุมที่ 3
คนไม่พอ เพราะส่วนกลางดึงอำนาจบริหารคนกลับคืน

ความไม่ไว้วางใจให้ท้องถิ่นบริหารตัวเองยิ่งรุนแรงมากขึ้นในสมัยรัฐบาลทหาร โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 ได้เรียกอำนาจในการบริหารจัดการบุคลากรของราชการส่วนท้องถิ่นกลับคืน และยังคงเป็นเช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานท้องถิ่นไม่สามารถประกาศรับสมัคร คัดเลือก เลื่อนขั้น โอนย้ายบุคลากรได้เอง แต่จะต้องทำผ่านส่วนกลางเท่านั้น ทำให้เกิดความล่าช้าและไม่คล่องตัว[4]สรวิศ มา. 2022. ‘ประเมินสถานะการกระจายอำนาจ: 2 ทศวรรษที่ยังไปไม่ถึงเป้า’. 3 พฤศจิกายน 2022. https://101pub.org/two-decades-decentralization/.
ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างบุคลากรของหน่วยงานท้องถิ่นยังถูกกำหนดไว้อย่างตายตัว ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งงานให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างเฉพาะตัวไปในแต่ละพื้นที่

ข้อจำกัดด้านการบริหารงาน-เงิน-คน ข้างต้น นับเป็นปัญหาระดับพื้นฐานที่ อปท. ทุกระดับต้องเผชิญ แต่สำหรับนายก อบจ. ยังมีอีกหลายหลุมบ่อรออยู่ข้างหน้าบนถนนสายนี้

อบจ. ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง ผลักดันโครงการใหญ่ได้ยาก

หลุมที่ 4
อบจ. ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง ผลักดันโครงการใหญ่ได้ยาก

ในขณะที่ภารกิจของเทศบาลและ อบต. มุ่งเน้นไปที่การจัดบริการสาธารณะระดับพื้นฐานที่ใกล้ชิดกับประชาชน อาทิ ระบบน้ำประปา จัดการขยะ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ อบจ. ซึ่งเป็นส่วนราชการระดับบนจะมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาในภาพกว้างขึ้น กำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด เชื่อมประสาน อปท. ระดับย่อยให้ทำงานตอบเป้าหมายใหญ่

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ อบจ. ไม่ได้มีพื้นที่ในทางกายภาพเป็นของตัวเอง อีกทั้งระเบียบยังกำหนดให้การดำเนินโครงการต่างๆ ต้องได้รับความยินยอมจาก อปท. ระดับล่าง อบจ. จึงถูกบีบให้ต้องต่อรองผลประโยชน์กับพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นในรูปแบบของการเกลี่ยงบประมาณให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) แต่ละคนนำไปซอยย่อยเป็นโครงการเล็กๆ จำนวนมาก การพัฒนาจังหวัดจึงเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ แทนที่จะรวมกันเป็นทิศทางการพัฒนาที่มุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่

ที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่ที่ อบจ. ทำ จึงมักลงเอยเป็นการก่อสร้างถนนและอาคารซึ่งสามารถกระจายลงสู่ตำบลต่างๆ ได้อย่างสะดวก โดยในปี 2024 อบจ. ทั่วประเทศไทยใช้งบประมาณถึง 1 ใน 3 ไปกับงานอุตสาหกรรมและโยธา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นการสร้างและซ่อมถนนมากถึง 71.1%[5]Rocket Media Lab. 2025. ‘4 ปี อบจ. 76 จังหวัด ใช้งบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในการทำถนน 71.11%’. 20 January 2025. https://rocketmedialab.co/pao-2025-collab-3/.

อบจ. จะทำอะไร ต้องขอ ‘อนุญาต’ ไปเสียทุกเรื่อง

หลุมที่ 5
อบจ. จะทำอะไร ต้องขอ ‘อนุญาต’ ไปเสียทุกเรื่อง

นอกจากคิดทำการใหญ่ได้ยาก แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ ที่ อบจ. ควรทำได้ง่ายดายก็ยังมิวายมีหลุมบ่อดักรออยู่ในรูปแบบของพื้นที่อำนาจทับซ้อนกับราชการส่วนภูมิภาค การจะเข้าไปซ่อมแซมถนนเลียบคันคลองต้องขออนุญาตกรมชลประทาน การเข้าไปตัดแต่งกิ่งไม้ริมตลิ่งอาจต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่า บ่อยครั้งที่การประสานขออนุญาตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้กินเวลาหลายเดือนไปจนถึงหลักปี จนทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกเอือมระอา คิดว่าหน่วยงานท้องถิ่นทำงานเชื่องช้า ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วปัญหาเกิดจากการที่ท้องถิ่นไม่มีอำนาจบริหารจัดการได้อย่างแท้จริง

พื้นที่อำนาจทับซ้อนที่มีมากที่สุด ได้แก่พื้นที่ของกรมป่าไม้ โดยในปัจจุบันไทยมีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนถึง 6,906 หมู่บ้าน[6]กรมป่าไม้. ม.ป. ‘ระบบบริหารจัดการป่าชุมชน’. เข้าถึงเมื่อ 27 มกราคม 2025. https://fp.forest.go.th/rfd_app/rfd_community/app/index.php.
พื้นที่เหล่านี้เป็นชุมชนเมืองที่มีบ้านเรือน ถนน ระบบน้ำประปา มาตั้งแต่ก่อนถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแล หรืออาจถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานในภายหลัง การจะเข้าไปปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ซ่อมแซมถนนในพื้นที่เหล่านี้ ท้องถิ่นจะต้องทำเรื่องผ่านสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ซึ่งจะต้องส่งเรื่องต่อไปยัง ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ระดับภาค และบางกรณีต้องไปถึงอธิบดีกรมป่าไม้[7]คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ. 2024. ‘บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ … Continue reading ในบางกรณี ท้องถิ่นอาจต้องวิ่งเต้นขออนุญาตจากราชการส่วนภูมิภาคถึง 19 ลายเซ็น ซึ่งทำให้กระบวนการล่าช้าอย่างมาก

อำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่นี้ส่งผลให้มีคำขออนุญาตจากท้องถิ่นค้างพิจารณาอยู่กับกรมป่าไม้หลายแสนเรื่อง แม้จะมีความพยายามในการเร่งรัดเพื่อแก้ไขข้อติดขัดนี้บ้างแล้วในปีที่ผ่านมา แต่ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2024 พบว่ายังคงมีการค้างพิจารณาอยู่มากถึง 137,000 คำขอ[8]บ้านเมือง. 2024. “ท้องถิ่นเฮ! ‘เฉลิมชัย’ เร่งแก้ไขปัญหาการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ ให้แล้วเสร็จเป็นของขวัญปีใหม่”. 2024. https://www.banmuang.co.th/news/region/400295.

ระเบียบไม่ยืดหยุ่น ทำต้นทุนบริการสาธารณะแพงโดยใช่เหตุ

หลุมที่ 6
ระเบียบไม่ยืดหยุ่น ทำต้นทุนบริการสาธารณะแพงโดยใช่เหตุ

นอกจากจะต้องเสียต้นทุนเวลาไปกับการรอคอยการอนุญาตจากส่วนกลาง อบจ. ยังต้องแบกรับต้นทุนจากการเบิกจ่ายที่ไม่ยืดหยุ่น แม้กระทั่งในเรื่องที่มีอำนาจทำได้เองโดยไม่ต้องขอใคร จนทำให้ต้นทุนของการจัดบริการสาธารณะมีราคาแพงโดยไม่จำเป็น

พลวัตการเมืองท้องถิ่นในห้วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มทำให้นโยบายท้องถิ่นเริ่มปรับตัวให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การขยายเวลาให้บริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ให้รองรับผู้ปกครองที่อาจต้องทำงานค้าขายในเวลากลางคืน หรือในวันเสาร์-อาทิตย์[9]ทุนท้องถิ่น. 2024. “‘ศูนย์เด็กเล็ก 365 วัน’ ความฝันดูแลเด็กไทยให้ดีเหมือนที่เดนมาร์ก ของ ‘นายกฯ อบต. เชิงทะเล’”. 2024. … Continue reading ผู้บริหารท้องถิ่นที่เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้สามารถเซ็นอนุมัติขยายเวลาบริการ ศพด. ได้ทันที แต่ทว่าไม่สามารถเบิกเงินออกมาใช้ดำเนินงานได้ เนื่องจากระเบียบการเบิกจ่ายของกระทรวงมหาดไทยไม่อนุญาตให้เบิกค่านม และค่าครูพี่เลี้ยงได้นอกวันและเวลาราชการ อปท. บางแห่ง เลี่ยงไปใช้วิธีเขียนโครงการขึ้นมาโดยเบิกจ่ายเป็นค่าอาหารว่าง และค่าวิทยากรซึ่งต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น สร้างความยุ่งยาก และยังเสี่ยงถูกกล่าวหาว่าทุจริตหากมีการเพ่งเล็งตรวจสอบ 

อีกหนึ่งบริการสาธารณะที่ประชาชนในหลายจังหวัดเฝ้าฝัน ได้แก่ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งอำนาจในการบริหารจัดการยังคงอยู่กับกรมการขนส่งทางบก ความพยายามที่ผ่านมาเคยทำให้นายก อบจ. ถูกพักงานมาแล้วจากกรณีจัดบริการขนส่งสาธารณะที่ขาดทุน[10]สำนักข่าวอิศรา. 2015. “ชัดๆ ข้อกล่าวหา ‘นายกอบจ.ภูเก็ต’ ก่อนถูก”บิ๊กตู่”ใช้ ม.44 สั่งระงับปฏิบัติหน้าที่”. 28 มิถุนายน 2015. https://isranews.org/content-page/item/39567-report_39567.html.
ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้โครงการที่มุ่งตอบโจทย์การขนส่งแก่ประชาชน จำต้องหลีกเลี่ยงนิยาม ‘ขนส่งสาธารณะ’ เพื่อให้ดำเนินการได้ เช่น เดินรถในเส้นทางที่ไม่ประจำ หรือไม่เก็บค่าบริการจากผู้ใช้ โดยต่ออายุการ ‘ทดลองเดินรถ’ ออกไปเรื่อยๆ 

นายก อบจ. ต้องทำงานภายใต้เงาผู้ว่าราชการจังหวัด

หลุมที่ 7
นายก อบจ. ต้องทำงานภายใต้เงาผู้ว่าราชการจังหวัด

แม้เส้นทางการบริหารงาน อบจ. จะเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ แต่ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีความสามารถก็อาจหาทางก้าวข้ามหลุมบ่อข้างต้นมาได้ โดยอาจต้องแลกกับต้นทุนการบริหารที่สูงขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม หลุมลึกฉกรรจ์ที่สุดซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้พ้นก็คือการต้องทำงานอยู่ใต้เงาของผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกย่างก้าว

พระราชบัญญัติองค์การบริการส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง แต่ละครั้งมีการเพิ่มขอบเขตอำนาจกำกับดูแลโดยส่วนกลางมากขึ้นตามลำดับ ในปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการสอบสวน พักงานผู้บริหาร อบจ. สามารถเสนอให้รัฐมนตรีให้นายก อบจ. พ้นจากตำแหน่ง รวมไปจนถึงการเพิกถอนมติและยุบสภาท้องถิ่น นอกจากนี้ผู้ว่าฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของ อบจ.[11]พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ซึ่งบีบให้ อบจ. จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดที่ผู้ว่าฯ เป็นคนร่างไปโดยปริยาย

ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน นายก อบจ. จึงต้องทำงานตอบสนองแนวนโยบายของส่วนกลางมากกว่าตอบสนองความต้องการประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้ และในขณะที่นายก อบจ. ยังถูกถ่วงดุลด้วย ส.อบจ. ที่ยึดโยงกับประชาชน การใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของ อบจ.โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกลับเป็นสิ่งที่ตัดขาดจากประชาชนและตรวจสอบได้ยากยิ่ง 

ความหวังของการซ่อม ‘หลุม’ กระจายอำนาจ

บรรยากาศการแข่งขันในสนาม อบจ.ที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องการประลองกำลังของนักการเมือง ‘บ้านใหญ่’ และพรรคการเมืองระดับชาติเพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2027 ยิ่งตอกย้ำว่าเก้าอี้ผู้บริหารจังหวัดตัวนี้แทบไม่มีความหมายต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในจังหวัดอย่างที่ควรเป็น ขณะเดียวกันความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายสำคัญ หรือกระทั่งการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ริบอำนาจคืนไปตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ[12]The Coverage. 2024. “สภาฯ ตีตก ‘ร่าง กม.บริหาร ขรก.ท้องถิ่น’ หลัง กมธ.เสนอแก้เพิ่มเติม | TheCoverage.info”. 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/7663.

แม้จะยังไม่เห็นทางของการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอำนาจตามกฎหมาย แต่หลุมบ่อเหล่านี้ก็อาจไม่ได้อยู่ทนถาวรอย่างที่คิด ระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผลหลายเรื่องเริ่มถูกตั้งคำถามและเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นบ้างแล้ว อาทิ การปรับลดขั้นตอนในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้ที่ดินเพื่อสาธารณะประโยชน์เพื่อให้ท้องถิ่นทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 29 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา การเปิดให้ท้องถิ่นสามารถเปิดกิจการรถโดยสารสาธารณะได้ในปี 2024[13]https://www.dhr.go.th/post/publicity/891 รวมไปจนถึงการถ่ายโอน รพ.สต. ที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการทบทวนอำนาจบริหารบุคลากรของ อปท. เสียใหม่[14]The Coverage. 2024. “‘กม.บริหาร ขรก.ท้องถิ่น’ ถ้าไม่ให้อิสระ อปท.บรรจุ ขรก.เอง กระทบ ‘ถ่ายโอน รพ.สต.’ แน่”. 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/7668.

ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการต่อรองกับอำนาจส่วนกลางยังคงมีพลวัตอยู่ตลอด และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าผลการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อแนวโน้มการผลักดันให้การกระจายอำนาจเดินหน้าต่อ หลังจากย่ำอยู่กับที่มานานถึง 1 ใน 4 ศตวรรษ

References
1 The Coverage. 2024. ‘อัปเดต ตัวเลข “ถ่ายโอน รพ.สต. ปี 68” ล่าสุด’. 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/7614.
2 สรัช สินธุประมา. 2023. ‘จัดความสัมพันธ์ท้องถิ่น-ส่วนกลางใหม่ ไปให้ถึงการ “ถ่ายโอนอำนาจ”’. 101 PUB . 27 กรกฎาคม 2023. https://101pub.org/next-step-devolution/.
3 Rocket Media Lab (2025) คำนวนโดย 101 PUB
4 สรวิศ มา. 2022. ‘ประเมินสถานะการกระจายอำนาจ: 2 ทศวรรษที่ยังไปไม่ถึงเป้า’. 3 พฤศจิกายน 2022. https://101pub.org/two-decades-decentralization/.
5 Rocket Media Lab. 2025. ‘4 ปี อบจ. 76 จังหวัด ใช้งบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในการทำถนน 71.11%’. 20 January 2025. https://rocketmedialab.co/pao-2025-collab-3/.
6 กรมป่าไม้. ม.ป. ‘ระบบบริหารจัดการป่าชุมชน’. เข้าถึงเมื่อ 27 มกราคม 2025. https://fp.forest.go.th/rfd_app/rfd_community/app/index.php.
7 คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ. 2024. ‘บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34’. https://web.parliament.go.th/assets/portals/123/fileups/515/files/034_บัยทึกการประชุม%20ค34%20ว30ตค67%20ป้อม.pdf.
8 บ้านเมือง. 2024. “ท้องถิ่นเฮ! ‘เฉลิมชัย’ เร่งแก้ไขปัญหาการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ ให้แล้วเสร็จเป็นของขวัญปีใหม่”. 2024. https://www.banmuang.co.th/news/region/400295.
9 ทุนท้องถิ่น. 2024. “‘ศูนย์เด็กเล็ก 365 วัน’ ความฝันดูแลเด็กไทยให้ดีเหมือนที่เดนมาร์ก ของ ‘นายกฯ อบต. เชิงทะเล’”. 2024. https://xn--72c4abajd1l8b4a0og.com/2024/06/28/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5.
10 สำนักข่าวอิศรา. 2015. “ชัดๆ ข้อกล่าวหา ‘นายกอบจ.ภูเก็ต’ ก่อนถูก”บิ๊กตู่”ใช้ ม.44 สั่งระงับปฏิบัติหน้าที่”. 28 มิถุนายน 2015. https://isranews.org/content-page/item/39567-report_39567.html.
11 พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562
12 The Coverage. 2024. “สภาฯ ตีตก ‘ร่าง กม.บริหาร ขรก.ท้องถิ่น’ หลัง กมธ.เสนอแก้เพิ่มเติม | TheCoverage.info”. 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/7663.
13 https://www.dhr.go.th/post/publicity/891
14 The Coverage. 2024. “‘กม.บริหาร ขรก.ท้องถิ่น’ ถ้าไม่ให้อิสระ อปท.บรรจุ ขรก.เอง กระทบ ‘ถ่ายโอน รพ.สต.’ แน่”. 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/7668.

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

จัดความสัมพันธ์ท้องถิ่น-ส่วนกลางใหม่ ไปให้ถึงการ ‘ถ่ายโอนอำนาจ’

101 PUB ชวนทบทวนการกระจายอำนาจที่ผ่านมา ชวนสำรวจเครื่องมือ กลไกขับเคลื่อนทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในไทยและต่างประเทศ เพื่อผลักดันการ ‘ถ่ายโอนอำนาจ’ เต็มขั้นให้ท้องถิ่นซึ่งจะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

ประเมินสถานะการกระจายอำนาจ: 2 ทศวรรษที่ยังไปไม่ถึงเป้า

101 PUB ชวนสำรวจสถานะของการกระจายอำนาจท้องถิ่นในประเทศไทยในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาว่ามีพลวัตเป็นอย่างไรและมีปัญหาใดบ้างที่รอการแก้ไขเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

Policy What! EP.25: 7 หลุมบ่อ บนเส้นทางบริหาร อบจ.

ทำไมจังหวัดของเราถึงไม่มีขนส่งสาธารณะดีๆ? ทำไม อบจ.ถึงชอบทำแต่ถนน? ทำไมท้องถิ่นถึงได้ทำงานช้า? ขอชวนมาสำรวจพื้นผิวถนนบนเส้นทางบริหารงานอบจ. ว่ามีอุปสรรคหลุมบ่ออะไรที่ทำให้การพัฒนาจังหวัดยังคงติดหล่มจมโคลน

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.