หลักสูตร นบส.: นักบริหารระดับสูง vs. เน็ตเวิร์ก บารมี สถานะ

ประเด็นสำคัญ

  • การอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) มุ่งสร้างทักษะผู้นำให้ข้าราชการพร้อมเป็นผู้บริหาร แต่หลักสูตรเหล่านี้หล่อเลี้ยงระบบเส้นสายและพวกพ้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมตระหนักดี แต่ยังไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจังโดยรัฐบาล
  • หน่วยงานภาครัฐแทบทุกหน่วยแห่กันจัดหลักสูตร นบส. โดยเฉพาะหลังปี 2550 ที่ ก.พ. กำหนดให้เป็นเงื่อนไขในการขึ้นตำแหน่งบริหารของข้าราชการ ไม่เว้นแม้แต่ศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
  • การอบรมหลักสูตรเหล่านี้สร้างต้นทุนสาธารณะในแง่เงินภาษีประชาชนและการใช้เวลาราชการ โดยเฉพาะการดูงานต่างประเทศที่เป็นข้อครหาของสังคม จึงต้องทบทวนความคุ้มค่าและความจำเป็นของหลักสูตร นบส.

“เส้นสายสัมพันธ์ คอนเนกชั่นของพวกท่านในประเทศ ทำให้พวกท่านเป็นบุคคลพิเศษ หรืออาจจะใช้คำว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนก็ว่าได้ เป็นเพราะ 1% หรือน้อยกว่า ของประเทศนี้  เป็นสถาบันที่มีคนอย่างมากอยากเข้ามาศึกษา ที่อยากได้รับเกียรติคัดเลือกเข้ามาอยู่ในที่นี้ คอนเนกชั่นที่ท่านได้รับจากสถาบันนี้จะสามารถให้ประโยชน์ต่ออาชีพการงานของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคประชาสังคม หรือต่อยอดธุรกิจได้อย่างมหาศาล”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 65[1]3 Plus News. “เศรษฐา จัดหนัก วปอ. ลั่นเป็น 1% อภิสิทธิ์ชน วอนใช้คอนเนกชันเผื่อแผ่สังคม.” Ch3Plus.com, เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.

แม้แต่ (อดีต) นายกรัฐมนตรียังตระหนักดีว่าเน็ตเวิร์ก บารมี และสถานะทางสังคม เป็นปัญหาของหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) แต่ละปีหลักสูตรที่มีชื่อเสียงอย่าง หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หรือ หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) ฯลฯ จะประกาศรายชื่อผู้เข้าอบรมที่ประกอบด้วยข้าราชการระดับสูง บิ๊กทหาร บิ๊กตำรวจ ผู้พิพากษา เจ้าสัว CEO บริษัทชั้นนำ สื่อมวลชนอาวุโส และภาคประชาสังคม

การรวมตัวของ ‘คนใหญ่คนโต’ ผู้มีอำนาจรัฐและตลาดทุน เป็นที่กังขาว่าสายสัมพันธ์เชิงอำนาจและระบบอุปถัมภ์ที่เกิดจากหลักสูตรเหล่านี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความศักดิ์สิทธิ์ของระบบนิติรัฐนิติธรรม และตลาดเสรี

ข้อถกเถียงนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้นในระดับรัฐสภาที่มีข้อเสนอให้ยกเลิกหลักสูตรประเภทนี้[2]สำนักข่าวอิศรา. “กมธ.พัฒนาการเมือง ถกข้อเสนอยกเลิกหลักสูตรดังล่ม เลขาธิการฯขรก.ศาลยุติธรรม ติดภารกิจ.” เข้าถึงเมื่อ 24 พฤษภาคม 2568. แต่การดำรงอยู่ของหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของประเทศไทย มิได้มีเพียง 4-5 หลักสูตรที่มีชื่อเสียง และมิได้มีเพียงบทบาทเป็นจุดเชื่อมต่ออำนาจรัฐ-เอกชนเท่านั้น

101 PUB ชวนสำรวจ สถานการณ์หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (นบส.) เจาะลึกถึงเป้าหมาย จำนวนหลักสูตร การใช้เวลาราชการ และค่าใช้จ่าย โดยรวบรวมข้อมูลจากหลักสูตรที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐ ประเภท กรม กระทรวง ศาล และองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อถอดรหัสประสิทธิภาพ ความจำเป็น และความคุ้มทุนของการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน อันเป็นฐานในการยกระดับข้อเสนอเชิงนโยบายถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหลักสูตรนักบริหารระดับสูงต่อไป

หลักสูตร นบส. มีไว้ทำไม ?

หลักสูตรนักบริหารระดับสูง หรือ นบส. อักษรย่อที่หลายหน่วยงานใช้ เป็นการฝึกอบรมโดยหน่วยงานภาครัฐ มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ให้ข้าราชการ เพิ่มขีดความสามารถผู้บริหาร เตรียมพร้อมขึ้นตำแหน่งบริหารซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเส้นทางอาชีพข้าราชการ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งบริหาร[3]สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.). กรอบมาตรฐานหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (ฉบับปี พ.ศ. 2567). เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568. ปัจจุบันหลักสูตร นบส. มีทั้งที่จัดอบรมโดยสำนักงาน ก.พ. (หลักสูตรหลักตามมาตรฐานตำแหน่ง) และหลักสูตรที่จัดโดยหน่วยงานราชการอื่นๆ ภายใต้กรอบมาตรฐานของสำนักงาน ก.พ. ดังนั้น หลักสูตร นบส. ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงแรกจึงเป็นหลักสูตรที่จัดโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรในสังกัด เช่น วปอ. ของกระทรวงกลาโหม หลักสูตรของสำนักงาน ก.พ. หรือ หลักสูตร นปส. ของกระทรวงมหาดไทย แต่ที่น่าสังเกตคือปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐเกือบทุกประเภททั้งกระทรวง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และศาลต่างมีหลักสูตร นบส. เป็นของตัวเอง

โครงสร้างหลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่จัดโดยหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักร่วมกัน 3 ประการ ประการแรก สร้างองค์ความรู้เฉพาะทางตามพันธกิจของหน่วยงานผู้จัด ประการที่ 2 สร้างทักษะความเป็นผู้นำ ผู้บริหาร ให้มีความพร้อมทำงานบริหารองค์กรและบุคคล และประการที่ 3 สร้างเครือข่ายผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมให้มีพื้นที่และช่องทางปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบูรณาการการทำงานแบบข้ามภาคส่วน

หลักสูตรหน่วยงานจัดอบรมตัวอย่างวัตถุประสงค์หลักสูตร
หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร– การป้องกันราชอาณาจักร การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.)สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย– พัฒนานักปกครองระดับสูงให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีของข้าราชการ เป็นผู้นำมีวิสัยทัศน์ สมรรถนะและขีดความสามารถในการบริหาร เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.)สำนักงบประมาณ– การบริหารจัดการงบประมาณของผู้บริหาร
– ความร่วมมือในการบริหารงานและการบริหารจัดการงบประมาณในกลุ่มนักบริหารระดับสูง
หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.)สถาบันวิทยาการพลังงาน ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน).– ความสำคัญของพลังงานต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดหาพลังงาน – การวิเคราะห์ผลกระทบของธุรกิจพลังงานที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม – สร้างเครือข่ายผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม
หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.)สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม– ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรม  – กระชับความร่วมมือทางการศาลยุติธรรม และความร่วมมือทางวิชาการ
หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.)สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง– การเมืองและการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมและชอบด้วยกฎหมาย การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและพรรคการเมือง – การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองที่ถูกต้อง – พัฒนาศักยภาพและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง
หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.)วิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ– หลักนิติธรรม ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน – หลักการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ – สร้างเครือข่ายของศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในระดับผู้นำองค์กร
หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.)สถาบันพระปกเกล้า– ความรู้การปกครองไทยและผลกระทบของกระบวนการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างค่านิยมประชาธิปไตย ทักษะการวิเคราะห์และพฤติกรรมประชาธิปไตย – เสริมสร้างบทบาทและเครือข่ายในการสร้างสรรค์และเผยแพร่ประชาธิปไตย
หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)สถาบันวิทยาการตลาดทุน– สร้างผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถทางธุรกิจตลาดทุน

ที่มา: รวบรวมโดย 101 PUB

ปี 2550 สำนักงาน ก.พ. กำหนดมาตรฐานหลักสูตรอบรมเป็นมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ดังนั้น ข้าราชการจะขึ้นตำแหน่งบริหารไม่ว่าจะเป็นระดับต้น (ผู้ช่วยปลัดกระทรวง รองอธิบดีกรม รองเลขาธิการสำนักงาน รองผู้ว่าราชการจังหวัด) หรือระดับสูง (ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการ) ก็ต้องผ่านการอบรม นบส. เช่น ประกาศรับสมัครข้าราชการตำแหน่งนักบริหาร ระดับต้น ระบุคุณสมบัติชัดเจนว่าต้อง “ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.พ. (นบส. 1) หรือผ่านการอบรมหลักสูตรใดๆ ที่ ก.พ. พิจารณาให้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเสมือนได้ผ่านการอบรม นบส. 1” และ “สำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่จัดโดยหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง”

ข้าราชการที่จะขึ้นตำแหน่งบริหารมี 2 ทางเลือก ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ผ่านการอบรมหลักสูตร นบส. 1 ของสำนักงาน ก.พ. หรือ หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) ของกระทรวงมหาดไทย (รับรองถึงรุ่นที่ 82)

ทางเลือกที่ 2 ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่จัดโดยส่วนราชการอื่น ๆ ที่สำนักงาน ก.พ. ประกาศรับรอง แต่ ต้องผ่านการอบรม โครงการเสริมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (ส.นบส.) ของสำนักงาน ก.พ. ประกอบด้วย จึงจะเทียบเท่าเสมือนผ่านการอบรม นบส. 1 โดยปัจจุบัน สำนักงาน ก.พ. รับรองหลักสูตรที่จัดโดยหน่วยงานอื่นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จำนวน 7 หลักสูตร และมีหลักสูตรที่ สำนักงาน ก.พ. รับรองเฉพาะบางรุ่น (ไม่รับรองต่อเนื่องถึงปัจจุบัน) อีก 8 หลักสูตร ปรากฏตามรายชื่อหลักสูตรฯ ที่ ก.พ. รับรอง

หลังจากสำนักงาน ก.พ. มีมาตรฐานหลักสูตรอบรมเป็นมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารในปี 2550 หน่วยงานราชการต่างๆ จึงจัดตั้งหลักสูตร นบส. ของตนเอง เพื่อพัฒนาข้าราชการในสังกัด หากหลักสูตร นบส. ของหน่วยงานใดผ่านการรับรองตามกรอบมาตรฐาน ก.พ.[4]สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.). กรอบมาตรฐานหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (ฉบับปี พ.ศ. 2567). เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568. สามารถเสริมโอกาสและความก้าวหน้าของข้าราชการในหน่วยงาน นำประสบการณ์อบรมไปประกอบการขึ้นตำแหน่งระดับสูงได้

เครือข่ายรุ่น: เครื่องบ่งชี้สถานะทางสังคม

วัตถุประสงค์หลักของการอบรมหลักสูตร นบส. คือการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำของข้าราชการระดับบริหาร แต่กลับขาดการประเมินผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะการทำงานของผู้บริหาร หรือผลต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐโดยรวม มีเพียงการวัดผลการเข้าเรียน การส่งรายงานศึกษาส่วนบุคคล และรายงานกลุ่ม แต่ไม่ปรากฏการวัดประสิทธิภาพต่อสังคมที่ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีหลักสูตรต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป

แต่วัตถุประสงค์ที่ดูจะได้ผลลัพธ์เป็นอย่างดีคือการสร้าง “เครือข่ายเชิงสร้างสรรค์” เพราะ นบส. ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสามารถประสานงานกันได้อย่างราบรื่น สืบเนื่องมาจากโครงสร้างสังคมไทยที่ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ ดังที่ นวลน้อย ตรีรัตน์ และภาคภูมิ วาณิชกะ ตั้งข้อสังเกตว่า “สังคมไทยมีความไม่เป็นทางการสูงมาก” กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มักผ่านการเจรจาแบบไม่เป็นทางการ หรือ “ความเป็นพวกพ้องซึ่งเป็นลักษณะของระบบเศรษฐกิจและการเมืองไทย” และเป็นเงื่อนไขความสำเร็จ โดยหลักสูตรเหล่านี้มีลักษณะเป็น Fast Track เลียนแบบกิจกรรมทางสังคมที่ใช้เวลาไม่นานในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และพัฒนาไปสู่ระบบพวกพ้องและสายสัมพันธ์ที่เป็นคุณต่อการแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องในอนาคต[5]นวลน้อย ตรีรัตน์ และ ภาคภูมิ วาณิชกะ. “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษาพิเศษ.” ใน สู่สังคมไทยเสมอหน้า, บรรณาธิการโดย … Continue reading

เครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้นในหลักสูตรจากการรวมตัวกันของ ‘คนใหญ่คนโต’ ทุกแวดวงทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ศาล อัยการ CEO เจ้าสัว ฯลฯ หลายหลักสูตรมีกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ เช่น กิจกรรมปฐมนิเทศ หรือกิจกรรมละลายพฤติกรรม ซึ่งอยู่บนต้นทุนงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันบุคคลระดับสูงบางรายไม่ได้มีเจตนาร่วมอบรมในหลักสูตร นบส. เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และประสิทธิภาพการทำงาน หรือเพื่อให้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขมาตรฐานการขึ้นตำแหน่งบริหารเท่านั้น แต่การเข้าร่วมอบรมเป็นโอกาสสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการทำงานราชการ ประดับบารมี ต่อยอดธุรกิจส่วนตัว หรือชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ

ตัวอย่างปัญหาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น ความเหมาะสมของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่จะเข้าร่วมในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมด้วย สมมติว่าผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ นักการเมือง ทนายความ และ CEO ของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นนักเรียนร่วมรุ่นในหลักสูตรเดียวกัน หากวันใดโคจรมาพบกันในกระบวนการพิจารณาคดี ประชาชนจะเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมและความโปร่งใสได้อย่างไร หรือในกรณีอื่นๆ ซึ่งข้าราชการมีอำนาจให้คุณให้โทษกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรได้

ดังปรากฏกรณีผู้พิพากษา 2 รายทำบันทึกข้อความถึงประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และประธานกรรมการตุลาการ เพื่อขอให้ยกเลิกการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) และไม่ให้ส่งผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรมหลักสูตร วปอ. ปปร. และ วตท. หรือหลักสูตรอื่นในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน และอาจนำไปสู่การผิดวินัยของผู้พิพากษา ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ และการเลือกปฏิบัติในสังคม รวมทั้งเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า นำมาซึ่งความเชื่อถือต่อศาลยุติธรรมที่ลดลง”[6]สำนักข่าวอิศรา. “ขอ ปธ.ศาลฏีกา เลิกจัดอบรม บ.ย.ส.-ห้าม ‘พ.’ร่วมหลักสูตรดัง ชี้ไม่เกิดปย.เสริมระบบอุปถัมภ์.” เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.

ไม่ใช่แค่คนเลือกหลักสูตร แต่หลักสูตรก็เลือกคน

หลักสูตร นบส. มีรูปแบบการรับบุคคลเข้าอบรมตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน เช่น บางหลักสูตรเน้นพัฒนาความเป็นผู้นำและกระชับเครือข่ายเฉพาะในหมู่ข้าราชการ แต่บางหลักสูตรเน้นการขยายเครือข่ายเป็นวงกว้าง ดังนั้น นบส. จึงรับผู้เข้าอบรม 2 ประเภท คือ รับเฉพาะข้าราชการ และ รับทั้งข้าราชการ เอกชน สื่อมวลชน และประชาสังคม โดยมีทั้งที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครด้วยตนเอง และแบบที่ให้แต่ละหน่วยงานเสนอรายชื่อให้ผู้จัดหลักสูตรคัดเลือก (ให้โควตาที่นั่งเรียน) นอกจากนี้ หน่วยงานผู้จัดอบรมสามารถเลือกเชิญบุคคลใดก็ได้ให้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร โดยทั่วไปแล้วแต่ละหลักสูตรกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม ดังนี้

ประเภทผู้สมัครระดับตำแหน่ง
ข้าราชการพลเรือนตำแหน่งอำนวยการ/ระดับ 9 ขึ้นไป
ข้าราชการตำรวจพ.ต.อ. (พิเศษ) ขึ้นไป
ข้าราชการทหารพ.อ. (พิเศษ) ขึ้นไป
ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมชั้น 3 ขึ้นไป
ข้าราชการตุลาการศาลปกครองชั้น 2 ขึ้นไป
ข้าราชการอัยการชั้น 4 ขึ้นไป/รองอธิบดี
ข้าราชการการเมืองที่ปรึกษา/เลขาธิการนายกรัฐมนตรี/รองนายกรัฐมนตรี
พนักงานรัฐวิสาหกิจ/องค์การมหาชนระดับกรรมการ
สมาชิกรัฐสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร/วุฒิสมาชิก
บุคลากรจากภาคเอกชนระดับกรรมการบริหาร/กรรมการผู้จัดการ
ภาคเอกชนระดับกรรมการบริหาร/กรรมการผู้จัดการ/เจ้าของกิจการ
ภาคประชาสังคมผู้บริหารระดับสูงองค์การพัฒนาเอกชน
ทนายความอายุงาน 20 ปีขึ้นไป
สื่อมวลชนอายุงาน 20 ปีขึ้นไป

ที่มา: รวบรวมโดย 101 PUB

การคัดเลือกผู้แทนจากเอกชนและประชาสังคมมาอบรม นบส. จากเจตนารมย์แรกเริ่มเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานให้กับข้าราชการระดับสูงของแต่ละหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น กระทรวงพาณิชย์ จะพัฒนาข้าราชการระดับสูงให้มีทักษะผู้นำด้านนโยบายการค้า ด้วยเนื้องานแล้วข้าราชการไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายการค้าโดยลำพังได้ แต่ต้องทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบตลาด ดังนั้น การเชิญภาคเอกชนมารับการอบรมร่วมกันสามารถสร้างพื้นฐานความรู้และความเข้าใจที่ตรงกัน เช่น เรื่องสินค้าควบคุม หลักการเจรจาการค้า สิทธิประโยชน์ทางการค้า หรือ FTA ฯลฯ เครือข่ายเชิงสร้างสรรค์เหล่านี้เป็นกลไกเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถประสานงานกันได้อย่างราบรื่น แต่บางหลักสูตรไม่ได้มีความจำเป็นเช่นนั้น แต่เป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างเครือข่ายในการแสวงหาประโยชน์ให้กับผู้เรียนได้

“การมาเข้ารับการศึกษาของทุกท่านนั้น เป็นความสมัครใจของทุกคนที่เข้ามา เพราะทุกคนก็วิ่งเต้นกันทั้งนั้น นอกจากผู้ที่หน่วยงานส่งมา นอกนั้นก็วิ่งเต้นด้วยกันทั้งนั้น”

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 61[7]WassanaNanuam. บิ๊กป้อม แฉ วปอ. วิ่งเต้นมาเรียนทั้งนั้น เตือนไปดูงาน ไม่ใช่ไปเที่ยว ขอเข้าห้องเรียน. YouTube video. เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.

โดยสรุปหลักสูตร นบส. จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเส้นทางอาชีพข้าราชการให้มีคุณสมบัติพร้อมขึ้นตำแหน่งบริหาร แต่ผลพลอยได้คือเครือข่ายที่เกิดขึ้นจากการอบรม นบส. ซึ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานจริงสำหรับบางหน่วยงาน แต่สำหรับบางหลักสูตรเครือข่ายกลับกลายเป็นค่านิยม เครื่องบ่งชี้สถานะทางสังคม และช่องทางการแสวงหาประโยชน์ของผู้เรียน สิ่งที่ตามมาคือแต่ละหน่วยงานต่างสร้างเครือข่ายของตนเอง

หน่วยงานรัฐแห่เปิดหลักสูตร หลัง ก.พ. ตั้งเงื่อนไขขึ้นตำแหน่งบริหาร

หลักสูตรนักบริหารระดับสูงในช่วงแรกเป็นเพียงโครงการตามพันธกิจของหน่วยงานรัฐ ในการฝึกอบรมข้าราชการระดับสูง และเชิญข้าราชการนอกหน่วยงานมาร่วมอบรมเพื่อขยายฐานองค์ความรู้ในการปฏิบัติงาน แต่หลังปี 2550 ซึ่งสำนักงาน ก.พ. กำหนดมาตรฐานหลักสูตรอบรมเป็นมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร พบว่าระหว่างปี 2551-2568 มีหลักสูตรที่จัดโดยหน่วยงานรัฐเพิ่มจำนวนขึ้นไม่น้อยกว่า 29 หลักสูตร อย่างไรก็ตาม บางหลักสูตรจัดอบรมเพียง 1-3 รุ่น หรือถูกยุบรวมกับหลักสูตรอื่น แนวโน้มที่สูงขึ้นของจำนวนหลักสูตรที่จัดโดยหน่วยงานรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงนัยต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้าเรียน การใช้เวลาราชการ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มเครือข่ายความสัมพันธ์ชั้นสูงของรัฐ-เอกชน และการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินสำหรับข้าราชการและผู้บริหารเอกชน

ปีก่อตั้งหลักสูตรหน่วยงานจัดอบรม
2498หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
2516หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.)กระทรวงมหาดไทย
2530หลักสูตรนักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม (นบส.1)สำนักงาน ก.พ.
2532หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.)วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
2539หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.)สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
2546หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐ เอกชน และการเมือง (วปม.)วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
2548หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)สถาบันวิทยาการตลาดทุน
2550หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT)กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, หอการค้าไทย และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
2552หลักสูตรนักบริหารการทูต (นบท.)กระทรวงการต่างประเทศ
โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้บริหารส่วนราชการ (นบส. 2)สำนักงาน ก.พ.
หลักสูตรฝึกอบรมนักบริหารระดับสูง (นบส.กษ.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.)สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
2553หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.)สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
หลักสูตรผู้บริหารงานยุติธรรมระดับสูง (ยธส.)สถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
2555หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.)กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน).
2556หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.)ศาลรัฐธรรมนูญ
หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปธส.)กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2557หลักสูตรการบริหารงานอุดมศึกษาสายสนับสนุนระดับสูง (นบสส.)กระทรวงการอุดมศึกษาฯ
หลักสูตรนักบริหารการเงินการคลังภาครัฐระดับสูง (บงส.)กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
2560หลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง (TME)การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2561หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital CEO)สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
2562หลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ (GCIO)สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.)สำนักงบประมาณ
หลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม (นบส.คค.)กระทรวงคมนาคม
หลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปสม.)สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2563หลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (นบส.สธ.)กระทรวงสาธารณสุข
หลักสูตรนักบริหารการพาณิชย์ระดับสูง (นพส.)กระทรวงพาณิชย์
2564หลักสูตรนักบริหารระดับสูงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นบส.พม.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
หลักสูตรนักบริหารการอุตสาหกรรมระดับสูง (นอส.)กระทรวงอุตสาหกรรม
หลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โครงการฝึกอบรมเสริมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (ส.นบส.)สำนักงาน ก.พ.
2565หลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นบส.ทส.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หลักสูตรนักบริหารระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง (บสป.)มูลนิธิวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ร่วมกับสำนักงานศาลปกครอง
2566หลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน (นบส.รง.)กระทรวงแรงงาน
หลักสูตรนักบริหารด้านสิทธิมนุษยชนระดับสูง (บสส.)กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
2567หลักสูตรการบริหาร การกำกับดูแลและพัฒนากฎหมายกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ระดับสูง (ปกส.)สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
2568หลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (นบ.บส.)สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
ไม่ปรากฏปีจัดตั้ง – หลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูง (นบส.ศธ.)
– หลักสูตรพัฒนานักบริหารการศึกษาระดับสูง (นศส.ศธ.)
– หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.)
– หลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.)
– หลักสูตรการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปศส.)
– หลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพอากาศ (พสบ.ทอ.)
– หลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (พสบ.บก.ทท.)
– กระทรวงศึกษาธิการ

– กระทรวงศึกษาธิการ

– สถาบันพระปกเกล้า


– สถาบันพระปกเกล้า

– สถาบันพระปกเกล้า


– กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ

– สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

ที่มา: รวบรวมโดย 101 PUB

ปี 2568 มีหลักสูตรผู้บริหารเปิดอบรมไม่ต่ำกว่า 39 หลักสูตร

หลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่เปิดอบรมในปี 2568 พบว่า มีหลักสูตรที่จัดอบรมโดยหน่วยงานรัฐ ไม่น้อยกว่า 39 หลักสูตร

  • หน่วยงานในสังกัดกระทรวง จำนวน 29 หลักสูตร (มีหลักสูตร นบส. จัดโดย 19 กระทรวง จากทั้งหมด 20 กระทรวง ยกเว้น กระทรวงวัฒนธรรม)  
  • ศาล จำนวน 3 หลักสูตร
  • องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 หลักสูตร
  • หน่วยงานประเภทอื่นๆ จำนวน 3 หลักสูตร

ทั้งนี้ บางหน่วยงานจัดอบรมมากกว่า 1 หลักสูตร ตามพันธกิจหลักของหน่วยงาน เช่น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงาน ก.พ.

หลักสูตรเหล่านี้จะมีข้าราชการระดับสูงและ CEO ภาคเอกชน ฯลฯ ร่วมการอบรมไม่น้อยกว่า 3,376 คน เฉลี่ยหลักสูตรละ 91 คน หลักสูตรที่มีผู้เรียนน้อยที่สุด 21 คน (หลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-นบส.ทส.) มากที่สุด 243 คน (โครงการฝึกอบรมเสริมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง-ส.นบส.)

ข้อมูลจำนวนหลักสูตรและจำนวนผู้บริหารที่เข้ารับการอบรม สะท้อนให้เห็นว่าแทบทุกกระทรวง ศาล และองค์กรอิสระฯ ต่างมีหลักสูตรและเครือข่ายของตนเอง ซึ่งไปไกลเกินกว่าเจตนารมย์ของหลักสูตร นบส. ที่เป็นเพียงเงื่อนไขให้ข้าราชการมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานการขึ้นตำแหน่งบริหารของสำนักงาน ก.พ. เท่านั้น ก่อให้เกิดคำถามว่าหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานมีความจำเป็นอันใดที่ต้องจัดตั้งหลักสูตร นบส. ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่หลัก เช่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ตรวจสอบความโปร่งใสการบริหารราชการ หรือ ศาล ซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมโดยไม่เอนเอียงฝ่ายใด

3 ใน 4 ของหลักสูตร นบส. ไปดูงานต่างประเทศ

“ไปดูงานก็ไปดูงานจริงๆ ไม่ใช่ไปเที่ยว … คือก็ต้องมีการไปเที่ยวบ้าง แต่ต้องดูว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากการไปดูงานแต่ละประเทศ”

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 61[8]WassanaNanuam. บิ๊กป้อม แฉ วปอ. วิ่งเต้นมาเรียนทั้งนั้น เตือนไปดูงาน ไม่ใช่ไปเที่ยว ขอเข้าห้องเรียน. YouTube video. เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.

39 หลักสูตรที่เปิดอบรมนักบริหารระดับสูงในปีนี้ มีเพียง 4 หลักสูตรเท่านั้นประกาศว่าไม่มีการดูงานต่างประเทศ ขณะที่มีไม่น้อยกว่า 29 หลักสูตรที่ประกาศกำหนดการดูงานต่างประเทศอย่างชัดเจน จากการศึกษาพบว่า ประเทศยอดนิยมของข้าราชการไทยปีนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น (5 หลักสูตร) ยุโรป (3 หลักสูตร) จีน (3 หลักสูตร) เกาหลีใต้ (1 หลักสูตร) สิงคโปร์ (1 หลักสูตร) และอีก 16 หลักสูตรที่มีกำหนดดูงานต่างประเทศแต่ยังไม่ระบุประเทศ ขณะที่อีก 6 หลักสูตรไม่ปรากฏข้อมูล

จากการสัมภาษณ์เชิงลึกข้าราชการฝ่ายต่างประเทศของหน่วยงานหนึ่งพบว่า สาเหตุที่หลักสูตรนิยมไปศึกษาดูงานประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากการติดต่อประสานงานกับฝ่ายญี่ปุ่นมีความง่าย มีหน่วยงานที่เปิดรับการดูงานจำนวนมากทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่น และเป็นประเทศที่ตรงกับรสนิยมของผู้เรียนส่วนใหญ่ในหลักสูตร[9]สัมภาษณ์ข้าราชการ ‘นายสมศักดิ์ (นามสมมติ)’, สัมภาษณ์วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 นอกจากนี้ จากข้อมูลประกาศจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าหลายหน่วยงานนิยมใช้วิธีการจ้างเหมาบริการศึกษาดูงานต่างประเทศ โดยมีบริษัททัวร์เป็นผู้รับจ้าง

หลักสูตร นบส. มีการเก็บค่าใช้จ่ายเดินทางไปดูงานต่างประเทศ 2 รูปแบบ ดังนี้

1) หลักสูตรที่ไม่เรียกเก็บค่าเดินทางเพิ่ม (ทั้งหลักสูตรที่เรียนฟรี และหลักสูตรที่คิดค่าเดินทางรวมในค่าเรียนแล้ว

2) หลักสูตรกำหนดให้การดูงานต่างประเทศเป็นภาคสมัครใจ ผู้ใดประสงค์เดินทางต้องจ่ายเพิ่ม

การดูงานต่างประเทศเป็นประเด็นที่สังคมจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากหลายหลักสูตรมีกำหนดการเดินทางไปดูงานต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3-5 วัน แม้ว่าในมิติหนึ่งการศึกษาประสบการณ์ความสำเร็จด้านการบริหารจัดการในต่างประเทศสามารถเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจกลับมาพัฒนาระบบราชการไทยไทยได้ แต่การเดินทางไปดูงานต่างประเทศด้วยงบประมาณแผ่นดินซึ่งไม่สามารถแจกแจงเวลา 24 ชั่วโมงอย่างชัดเจนได้ว่าถูกใช้ไปกับการศึกษาดูงาน การท่องเที่ยว และกิจกรรมสันทนาการว่ามีสัดส่วนเท่าใด (ในกำหนดการมักปรากฏเพียงการศึกษาดูงาน สรุปผลการดูงาน และถอดบทเรียน) ก่อให้เกิดคำถามถึงความคุ้มทุนของประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ เมื่อเปรียบเทียบเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายไป

ตัวอย่างกำหนดการศึกษาดูงานต่างประเทศ หลักสูตรฝึกอบรมนักบริหารระดับสูง (นบส.กษ.) สถาบันเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รุ่นที่ 8 (ปีงบประมาณ 2568)

ที่มา: สถาบันเกษตราธิการ[10]สถาบันเกษตราธิการ. (ร่าง) กำหนดการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร หลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์. สถาบันเกษตราธิการ. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2568.

ข้าราชการเข้าเรียน นบส. บนต้นทุนสาธารณะ?

เข้าเรียนฟรีด้วยภาษีประชาชน

หลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐมีรูปแบบการเก็บค่าใช้จ่ายในการเรียน 5 แบบ ได้แก่

  1. เรียนฟรี หน่วยงานผู้จัดอบรมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
  2. เรียนฟรี แต่เก็บเฉพาะค่าเดินทางดูงานต่างประเทศ เช่น หลักสูตรนักบริหารด้านสิทธิมนุษยชนระดับสูง (บสส.) ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เก็บไม่เกิน 148,000 บาท/คน (ยุโรป)
  3. เก็บค่าลงทะเบียนทั้งข้าราชการและเอกชนในอัตราเดียว ประมาณ 19,000-288,000 บาท/คน (ข้อสังเกตงบหลักหมื่นไม่มีดูงานต่างประเทศ งบหลักแสนดูงานต่างประเทศ)
  4. เก็บค่าลงทะเบียนข้าราชการอัตราที่ต่ำกว่า เก็บเอกชนสูงกว่า เช่น หลักสูตร TEPCoT ข้าราชการ 125,000 บาท/คน เอกชน/รัฐวิสาหกิจ 250,000 บาท/คน
  5. เก็บค่าลงทะเบียนในอัตราหนึ่ง ถ้าไปดูงานต่างประเทศเก็บเพิ่ม เช่น หลักสูตรการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปศส.) สถาบันพระปกเกล้า 150,000 บาท/คน ถ้าไปต่างประเทศจ่ายเพิ่มตามจริงไม่เกิน 120,000 บาท/คน

ต้นทุนสาธารณะที่ถูกใช้ไปในการอบรมหลังสูตร นบส. สรุปได้ ดังนี้

  1. หลักสูตรที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เรียนมีต้นทุนการบริหารจัดการ เฉลี่ย 22.2 ล้านบาท/รุ่น/หลักสูตร โดยมีจำนวนผู้เรียนเฉลี่ย 89 คน/รุ่น/หลักสูตร
  2. หลักสูตรอื่นๆ ที่เก็บค่าใช้จ่ายซึ่งข้าราชการสามารถขออนุมัติงบประมาณจากโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานต้นสังกัดได้ ค่าอบรม เฉลี่ย 139,233 บาท/คน
  3. ในกรณีที่ต้องจ่ายเฉพาะค่าดูงานต่างประเทศ มีค่าใช้จ่าย เฉลี่ย 111,333 บาท/คน

ไม่ว่าจะหลักสูตรเรียนฟรี หรือ หลักสูตรที่ผู้เรียนเบิกงบประมาณจากต้นสังกัดได้ ล้วนมาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน สุดท้ายแล้วประเทศ สังคม และประชาชนได้ อะไรจากงบประมาณจำนวนมากขนาดนี้ นอกจากข้าราชการระดับสูงมี Profile มีประกาศนียบัตรใส่ Portfolio เพื่อขึ้นไปถึงขึ้นจุดสูงสุดในสายอาชีพ แถมมาด้วยเครือข่ายสถานะทางสังคมที่ประกอบด้วย คนระดับอธิบดี บิ๊กสีกากี/สีเขียว สส./สว. และลูกหลานเจ้าสัว

นอกจากนี้ การใช้งบประมาณพัฒนาบุคลากรระดับสูงยังก่อให้เกิดคำถามถึงความสมดุลในการจัดสรรงบประมาณพัฒนาบุคลากรและกำลังพลชั้นผู้น้อยที่อาจมีความจำเป็นต้องอบรมทักษะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน แต่อาจถูกเบียดบังงบประมาณจากข้าราชการระดับสูง

เข้าเรียนแต่นับเป็นเวลางาน

หน่วยงานราชการมีระเบียบและขั้นตอนการขออนุมัติเข้ารับการฝึกอบรม ขออนุมัติงบประมาณ และขออนุมัติเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศได้โดยไม่ถือเป็นวันลา[11]ตัวอย่างขั้นตอนการขออนุมัติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม. “ขั้นตอนการขออนุมัติเข้ารับการฝึกอบรม … Continue reading ระยะเวลาในการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง โดยภาพรวมจะนับจำนวนชั่วโมงอบรมระหว่าง 66-469 ชั่วโมง หรือ ใช้เวลาอบรม (รวมดูงานต่างประเทศ) ระหว่าง 4-22 สัปดาห์ เฉลี่ย 14 สัปดาห์ แต่ละหน่วยงานมีรูปแบบการจัดตารางวันอบรมที่แตกต่างกันโดยสรุป ดังนี้

  1. สัปดาห์ละ 5 วัน เช่น หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) กระทรวงมหาดไทย (จันทร์-ศุกร์) ต่อเนื่องรวม 11 สัปดาห์
  2. สัปดาห์ละ 4 วัน เช่น หลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (นบส.สธ.) (อังคาร-ศุกร์)
  3. สัปดาห์ละ 3 วัน เช่น หลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูง (นบส.ศธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (จันทร์-พุธ) ต่อเนื่อง 15 สัปดาห์
  4. สัปดาห์ละ 2 วัน เช่น หลักสูตรผู้บริหารงานยุติธรรมระดับสูง (ยธส.) กระทรวงยุติธรรม (พฤหัสบดี-ศุกร์) หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital CEO) (ศุกร์-เสาร์)
  5. สัปดาห์ละ 1 วัน เช่น หลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง (TME) (พุธ) หลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) กระทรวงเกษตรฯ (ศุกร์) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.) (พฤหัสบดี) หลักสูตรการบริหาร การกำกับดูแลและพัฒนากฎหมายกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ระดับสูง (ปกส.) กสทช. (ศุกร์)
  6. สัปดาห์ละ 1 วัน (เฉพาะวันเสาร์) เช่น หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.) สำนักงบประมาณ และหลักสูตรนักบริหารการเงินการคลังภาครัฐระดับสูง (บงส.) กระทรวงการคลัง

สะท้อนให้เห็นว่าหลักสูตรนักบริหารระดับสูงส่วนใหญ่จัดอมรมในวันและเวลาราชการ หมายความว่าข้าราชการระดับสูงที่ได้รับอนุมัติจากต้นสังกัดได้ใช้วันทำงานไปกับการอบรม โดยไม่ถือเป็นวันลา แม้ว่าจะเป็นช่วงเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศก็ตาม ขณะที่จากฐานข้อมูลมีเพียง 2 หลักสูตรเท่านั้นที่อบรมเฉพาะวันเสาร์ซึ่งไม่กระทบต่อวันทำงานราชการ

บางหลักสูตรใช้เวลาอบรม 5 วันต่อสัปดาห์ต่อเนื่องติดกัน 11 สัปดาห์ เช่น หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) กระทรวงมหาดไทย ณ วิทยาลัยมหาดไทย จังหวัดชลบุรี เท่ากับว่าเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ตามภาระงานประจำสูญหายไปเกือบ 3 เดือน

ยิ่งไปกว่านั้น การเรียนหลักสูตรนักบริหาร อาจ ต้องใช้เวลาราชการที่นอกเหนือจากวันเรียน เช่น การทำรายงานศึกษาส่วนบุคคล (IS) ทำรายงานกลุ่ม ในเวลาราชการ หรือการไหว้วานผู้ใต้บังคับบัญชาช่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอบรม

รากเหง้าปัญหาสังคมกับความล้มเหลวในการจัดการของรัฐไทย

แม้เจตนารมย์ของหลักสูตรนักบริหารระดับสูงในการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำและองค์ความรู้ที่ทันสมัยจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาบุคลาการในการขับเคลื่อนส่วนราชการ ในขณะที่การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์มีเจตนารมย์แก้ปัญหาการทำงานแบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำ ดังนั้นการสร้างพื้นที่ให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นนั้นๆ จึงจำเป็นต่อการเข้าใจบทบาทที่แตกต่างกัน เรียนรู้ที่จะสื่อสารกัน เพื่อให้การแก้ปัญหาหรือผลักดันนโยบายของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผลกระทบเชิงลบของหลักสูตร นบส. กลายเป็นกระแสสังคมที่จับตามองมาตลอด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างไร แต่หลักสูตรของภาครัฐกลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เข้าอบรมเต็มอัตราในทุกหลักสูตร

“คอร์สอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย ในส่วนตัวผมไม่เรียนหรอก … ไม่ได้หมายความว่าคอร์สเหล่านี้เป็นคอร์สที่ไม่ดี แต่ Process การคัดเลือกต้องให้ Fair ต้องให้เหมาะสม ขั้นตอนเลือกวิทยากรต้องให้เหมาะสม ไม่ใช่พวกใครก็เลือกแต่พวกนั้นมา … เราไม่ได้มาสร้างสังคมอภิสิทธิ์ชน เรามาร่วมกันสร้างสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่ใช่มาสร้างเครือข่าย เส้นสาย เพื่อที่จะไต่เต้าในอนาคตในหน้าที่การงานที่พวกท่านทำอยู่”

นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในหลักสูตร ปปร. รุ่นที่ 28[12]แนวหน้าออนไลน์. “เศรษฐา ซัดเดือด! วปอ. ด่ากราดหลักสูตร ‘อภิสิทธิ์ชน’.” YouTube, 2 เมษายน 2568. เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.

ความพยายามแก้ปัญหาของหลักสูตรของรัฐบาลไม่ได้มุ่งไปที่การยกเลิกหลักสูตร จำกัดจำนวนหลักสูตร หรือตัดวงจรเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ แต่แก้ปัญหาเฉพาะประเด็นที่ถูกสังคมวิจารณ์ ดังมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ได้เห็นชอบ แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐโดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานต่างๆ ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยให้หน่วยงานผู้จัดอบรมต้องคัดสรรบุคลากรเข้าอบรมให้เหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร หน่วยงานที่ส่งบุคลากรไปอบรมไม่ควรส่งผู้ใกล้เกษียณอายุราชการ ส่วนการดูงานต่างประเทศควรเน้นให้ผู้เข้าอบรมรายงานประโยชน์และความรู้จากการดูงานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเหมาะสมกว่าการห้ามไม่ให้ไปดูงานต่างประเทศ นอกจากนี้ รายงานของนายวิษณุ เครืองาม ยังเสนอให้ผู้ที่ไปอบรมหลักสูตรหนึ่งแล้ว จะลาไปอบรมหลักสูตรอื่นได้ต่อเมื่อเว้นระยะเวลา 2 ปี กำหนดให้รับผู้อบรมจากภาคเอกชนได้ไม่เกิน 15% ของรุ่น ส่วนหลักสูตรที่เน้นพัฒนาภาคเอกชนก็ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม การดูงานในประเทศควรเน้นสถานที่และกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น โครงการพระราชดำริ โครงการปิดทองหลังพระ ส่วนในกรณีจำเป็นต้องไปดูงานต่างประเทศให้พิจารณาไปประเทศ ASEAN+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) เป็นอันดับแรก เป็นต้น[13]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ที่ นร 0506/ว 160: แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐโดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานต่าง ๆ. 10 พฤษภาคม 2559. เข้าถึงเมื่อ 15 … Continue reading

ท้ายที่สุดความพยายามของรัฐบาลที่มีต่อการบริหารจัดการหลักสูตรนักบริหารระดับสูงจึงหนีไม่พ้น ‘การพิจารณาถึงความเหมาะสม’ ในประเด็นที่เป็นข้อครหาของสังคม

นอกจากนี้  ยังมีความพยายามของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ได้พิจารณาวาระ ศึกษาข้อเสนอยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) และกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ปปร.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หรือหลักสูตรอื่นในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากมีการเลื่อนวาระการประชุมออกไป[14]สำนักข่าวอิศรา. “กมธ.พัฒนาการเมือง ถกข้อเสนอยกเลิกหลักสูตรดังล่ม เลขาธิการฯขรก.ศาลยุติธรรม ติดภารกิจ.” เข้าถึงเมื่อ 24 พฤษภาคม 2568.

นบส. แบบเน้นนำไปปฏิบัติจริง ไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ยืดระบบอุปถัมภ์

แรงขับเคลื่อนจากฝ่ายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหลักสูตร นบส. ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดมีเพียงมติ ครม. ปี 2559 ที่เห็นชอบตามแนวทางของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเพียงข้อเสนอลักษณะการอุดรอยรั่วเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อครหาของสังคม เช่น การดูงานต่างประเทศ คุณสมบัติผู้อบรม การใช้เวลาราชการกับการอบรม เป็นต้น แต่มิได้มีมาตรการเชิงโครงสร้าง หรือ มาตรการที่มีสภาพบังคับ เราจึงได้เห็นหลักสูตรเกิดใหม่ที่มีการดูงานต่างประเทศและการสร้างเครือข่ายเป็นองค์ประกอบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหลือไว้แต่เพียงการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนและประชาชน ไม่มีหน่วยงานรับไปดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

หากหน่วยงานรัฐมองว่าหลักสูตร นบส. ยังคงมีความสำคัญในมิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน และมีหนทางในการดำเนินงานร่วมกันบนผลประโยชน์ของประเทศในอนาคต การยกเลิก นบส. ทุกหลักสูตรจากทุกหน่วยงานโดยทันทีจึงอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ดังนั้น ความเป็นไปได้เชิงนโยบายคือการ “ลีน” (Lean) หลักสูตร นบส. เพื่อย้อนกลับไปที่เจตนารมย์ในมิติการพัฒนาบุคลากรและขจัดวงจรเครือข่ายเชิงอำนาจ ใน 8 ประเด็นหลัก ดังนี้

  1. ลดจำนวนหลักสูตรของหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และไม่มีความจำเป็นต้องจัดอบรมและสร้างเครือข่าย เช่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และศาล
  2. มุ่งเน้นด้านเนื้อหาการเรียนการสอนและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการนำไปปฏิบัติ (Implementation) ในแต่ละหน่วยงาน สามารถย่นระยะเวลาเรียน และต้นทุนการจัดการได้
  3. หลักสูตรที่ยังจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายควรพิจารณาคัดเลือกเฉพาะผู้มีบทบาทจริง (Key Actors) และลดจำนวนผู้เข้าเรียน
  4. กำหนดวันอบรมไม่ให้กระทบวันเวลาทำการของราชการ เช่น วันเสาร์-อาทิตย์
  5. กำหนดโควตาการขออนุมัติไปอบรมของข้าราชการอย่างรัดกุม
  6. ยกเลิกการดูงานต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการประชุมและสัมมนาออนไลน์ สามารถรับฟังการบรรยาย การสาธิต และการเยี่ยมชมสถานที่เสมือนจริงจากวิทยากรในต่างประเทศ และตอบโต้กันแบบ Real time ได้
  7. ใช้กลไกงบประมาณของรัฐสภาควบคุมการขออนุมัติงบประมาณจัดหลักสูตรที่ไม่จำเป็น หรือตัดลดงบประมาณการเดินทางดูงานต่างประเทศ ฯลฯ
  8. ระงับการอนุมัติโครงการจัดตั้งหลักสูตรใหม่ เพื่อปรับปรุงหรือลดปริมาณหลักสูตรที่มีในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าปลายทางของการบริหารจัดการหลักสูตร บนส. จะออกมาในรูปแบบใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักสูตรเหล่านี้ยังคงมีความหมายต่อผู้บริหารระดับสูงทั้งข้าราชการ เอกชน และประชาสังคมในฐานะศูนย์รวมอำนาจรัฐและอำนาจทุน เนื่องจากเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ได้รับจากการอบรมยังเป็นตัวแปรสำคัญกว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ หากภาครัฐยกเลิกหลักสูตร นบส. ลง การเกิดขึ้นของหลักสูตรที่จัดโดยภาคเอกชนอาจมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเพื่อทดแทน ดังนั้น การแก้ปัญหาผลกระทบเชิงลบของหลักสูตร นบส. ต้องอาศัยนโยบายการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีสภาพบังคับ และคาดการณ์ไปถึงอนาคต

ในโอกาสต่อไป 101 PUB จะนำท่านสำรวจลงลึกว่าไปอีกขั้นว่า แต่ละหลักสูตรเรียนอะไร มีความคล้ายกันอย่างไร วิธีการบริหารจัดการหลักสูตร หรือกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์โครงสร้างความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกของหลักสูตรต่อไป

References
1 3 Plus News. “เศรษฐา จัดหนัก วปอ. ลั่นเป็น 1% อภิสิทธิ์ชน วอนใช้คอนเนกชันเผื่อแผ่สังคม.” Ch3Plus.com, เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.
2, 14 สำนักข่าวอิศรา. “กมธ.พัฒนาการเมือง ถกข้อเสนอยกเลิกหลักสูตรดังล่ม เลขาธิการฯขรก.ศาลยุติธรรม ติดภารกิจ.” เข้าถึงเมื่อ 24 พฤษภาคม 2568.
3, 4 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.). กรอบมาตรฐานหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (ฉบับปี พ.ศ. 2567). เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.
5 นวลน้อย ตรีรัตน์ และ ภาคภูมิ วาณิชกะ. “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษาพิเศษ.” ใน สู่สังคมไทยเสมอหน้า, บรรณาธิการโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 109–141. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.
6 สำนักข่าวอิศรา. “ขอ ปธ.ศาลฏีกา เลิกจัดอบรม บ.ย.ส.-ห้าม ‘พ.’ร่วมหลักสูตรดัง ชี้ไม่เกิดปย.เสริมระบบอุปถัมภ์.” เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.
7, 8 WassanaNanuam. บิ๊กป้อม แฉ วปอ. วิ่งเต้นมาเรียนทั้งนั้น เตือนไปดูงาน ไม่ใช่ไปเที่ยว ขอเข้าห้องเรียน. YouTube video. เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.
9 สัมภาษณ์ข้าราชการ ‘นายสมศักดิ์ (นามสมมติ)’, สัมภาษณ์วันที่ 13 พฤษภาคม 2568
10 สถาบันเกษตราธิการ. (ร่าง) กำหนดการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร หลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์. สถาบันเกษตราธิการ. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2568.
11 ตัวอย่างขั้นตอนการขออนุมัติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม. “ขั้นตอนการขออนุมัติเข้ารับการฝึกอบรม ศึกษาดูงานต่างประเทศภายใต้หลักสูตรการฝึกอบรม (สำหรับนักบริหาร).” เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.
12 แนวหน้าออนไลน์. “เศรษฐา ซัดเดือด! วปอ. ด่ากราดหลักสูตร ‘อภิสิทธิ์ชน’.” YouTube, 2 เมษายน 2568. เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.
13 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ที่ นร 0506/ว 160: แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐโดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานต่าง ๆ. 10 พฤษภาคม 2559. เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการธิปไตย

คณะกรรมการธิปไตย: เมื่อรัฐไทยขับเคลื่อนด้วยการตั้ง ‘คณะกรรมการ’

รัฐไทยมี ‘คณะกรรมการ’ ขับเคลื่อนงานระดับชาติไม่น้อยกว่า 220 คณะ กลไกนี้ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงไหม? ปัญหาที่ผ่านมาของการใช้กลไกคณะกรรมการคืออะไร? และมีแนวทางในการปรับแก้อย่างไร?

คณะกรรมการธิปไตย

คณะกรรมการธิปไตย 2: เมื่อกลไกคณะกรรมการตอบสนองต่อ ‘ข้าราชการ’ ไม่ใช่ ‘งานราชการ’?

‘คณะกรรมการเฟ้อ’ เป็นปรากฎการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในหน่วยงานราชการของไทย ซึ่งกินเวลาการทำงานของข้าราชการและกินทรัพยากรภาครัฐ (เบี้ยประชุม ค่าเดินทาง) คณะกรรมการเหล่านี้งอกเงยขึ้นมาได้ไง? และการเกิดขึ้นของคณะกรรมการเหล่านี้มีประโยชน์ต่อใคร?

รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ

101 PUB เสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐราชการไทย ด้านกำลังคนภาครัฐและรายจ่ายบุคลากร เพื่อตั้งหลักว่าการปฏิรูประบบราชการควรมีทิศทางแบบใด

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.