“กลับบ้านใช่มีความสุข” ความเปราะบางทับซ้อนของครอบครัวไทยในช่วงโควิด-19

101 PUB

7 November 2022

ครอบครัวเปราะบาง

พ่อแม่ลูกอยู่กันอย่างอบอุ่น ครอบครัวขยายอยู่กันอย่างพร้อมหน้าและผาสุก นี่คือภาพฝันของครอบครัวไทยในอุดมคติ ถ้าบ้านไหนพ่อแม่ต้องออกไปทำงานไกลบ้านเพื่อปากท้อง และทิ้งลูกให้อยู่กับปู่ย่าตายายกลายเป็น ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ บ้านนั้นย่อมถูกมองว่ามีปัญหา

ใช่! – บ้านที่พ่อแม่ไม่มีโอกาสได้อยู่กลับลูกย่อมมีปัญหาและความยากลำบาก ข้อเท็จจริงข้างต้นได้รับการพิสูจน์ทั้งในรูปแบบของงานวิชาการและเรื่องราวดราม่าผ่านสื่อจำนวนมาก กระนั้นการแก้ปัญหาย่อมไม่ใช่แค่การเอาพ่อแม่กลับมาบ้านโดยที่ปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นที่ผลักให้พวกเขาออกไปไม่เคยถูกแก้ไข เพราะภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เหลื่อมล้ำอัปลักษณ์ยิ่งของสังคมไทย ‘การกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา’ อาจหมายถึงการซ้ำเติมปัญหายิ่งกว่าเดิม

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นบททดสอบใหญ่ของครอบครัวไทยจำนวนมาก เมื่อพ่อกับแม่ที่เคยออกจากบ้านจำเป็นต้องกลับไปอยู่บ้านเนื่องจากตกงาน หลายคนมองโลกในแง่ดีว่านี่คือ ‘ของขวัญจากโควิด-19’ ที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่กันพร้อมหน้าอีกครั้ง แต่อีกด้านหนึ่ง คำพูดเหล่านี้ก็สะท้อนว่าสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับครัวเรือนเปราะบางอยู่มากและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้ใหม่ในเรื่องนี้  

101 ชวนสำรวจและทำความเข้าใจความเปราะบางของครอบครัวไทยในปัจจุบันที่หลากหลาย ทับซ้อน และลื่นไหล ผ่านงานวิจัยใหม่ล่าสุดเรื่อง “พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19 : การปรับตัวของครัวเรือนเปราะบาง และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว” โดย ผศ.ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วาสนา ละอองปลิว วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจุดเด่นของงานวิจัยนี้คือ การฉายภาพให้เห็นพลวัตของครัวเรือนเปราะบางในชนบทประเทศไทยผ่านแว่นตานักสังคมวิทยาชนบทและมานุษยวิทยาการย้ายถิ่น โดยศึกษาแบบเจาะจงลงพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือและภาคอีสาน

นอกจากนี้ 101 ยังได้รวบรวมความเห็นของ ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายสำหรับเด็กและครอบครัวไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในหลากมุมมองด้วย


(จากซ้ายไปขวา) บุศรินทร์ เลิศชวลิตกุล, สร้อยมาศ รุ่งมณี, วาสนา ละอองปลิว, ธร ปีติดล, จะเด็จ เชาวน์วิไล


พลวัตครอบครัวไทยในสถานการณ์โควิด–19


งานวิจัยเชิงคุณภาพชิ้นนี้ได้ทำความเข้าใจพลวัตการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ความท้าทายในเรื่องการดูแลและการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กในครอบครัวเปราะบาง และออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวไทย ผ่านการลงพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี ลำปาง พิษณุโลก ตาก และเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีครอบครัวย้ายถิ่นและครอบครัวแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ โดยผลงานวิจัยพบว่า…

(1) คำว่า ‘ครอบครัว’ มีความซับซ้อน ไม่สามารถจำกัดความได้และมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ไม่ได้แหว่งกลางตลอดไป ไม่ได้เลี้ยงเดี่ยวตลอดไป เนื่องจากพ่อหรือแม่อาจมีการแต่งงานใหม่ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งคำว่า ‘แหว่งกลาง’ ยังสะท้อนหลายความหมาย ทั้งการที่รุ่นพ่อแม่ย้ายถิ่นไปหารายได้เพื่อครอบครัว รุ่นพ่อแม่ติดยาเสพติดเรื้อรัง รุ่นพ่อแม่ถูกจำคุกในคดีอาชญากรรม หรือรุ่นพ่อแม่ย้ายถิ่นเพื่อหนีหนี้สิน ฯลฯ

(2) ความแหว่งกลางอาจไม่ได้ถูกเติมเต็มเมื่อสมาชิกครอบครัวกลับมาอยู่พร้อมหน้า เนื่องจากลูกอาจจะไม่มีความผูกพันกับผู้ให้กำเนิด หรือคนรุ่นพ่อแม่อาจมีปัญหาสุขภาพหรือปัญหาอื่นๆ ที่ไม่พร้อมทำหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร

(3) ครอบครัวแรงงานข้ามชาติอยู่อย่างเปราะบาง แต่ ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ เพราะสถานการณ์การเมืองในประเทศบ้านเกิดและการมีชีวิตทางเศรษฐกิจอยู่ในประเทศไทยของคนในครอบครัว


บุศรินทร์ เลิศชวลิตกุล


สำหรับการศึกษาประเด็นผลกระทบจากโควิด-19 ต่อครอบครัวเปราะบาง พบว่าโควิด-19 ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการดูแลเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากครอบครัวไทยเผชิญความเปราะบางทับซ้อนตั้งแต่ก่อนโควิด-19 บางครอบครัวเผชิญความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหารายได้น้อย/ไม่มีรายได้ ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น ขณะที่บางครอบครัวเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่รุ่นพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ ผู้ดูแลเด็กจึงเป็นผู้สูงอายุ คนรุ่นปู่ย่าตายายที่มีปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านรายได้ ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเต็มที่ เฉกเช่นกรณีศึกษาของครอบครัวบ้านหัวทุ่ง ต.บ้านใหม่พัฒนา อ.เกาะคา ลำปาง ซึ่งเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่คุณยายอาศัยกับหลานอายุ 15 ปี มีความเปราะบางทับซ้อนด้านรายได้ กล่าวคือมีรายได้น้อยและมีหนี้สินรุงรัง โดยคุณยายเคยมีประวัติย้ายถิ่นไปต่างประเทศ แต่ปัจจุบันกลับมาและเลี้ยงหลานเป็นหลัก ความทับซ้อนคือคุณยายมีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากสภาพร่างกายผ่านการทำงานหนัก และหลานมีปัญหาด้านสมาธิ รวมถึงปัญหาเรื่องการเรียนจนโรงเรียนเชิญให้ออกถึง 2 ครั้ง

จากปัญหาที่ครอบครัวเปราะบางเผชิญมาอย่างยาวนาน เมื่อต้องเจอกับมรสุมโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ปัญหาของครอบครัวไทยทวีความรุนแรงและเป็นปัญหาต่อเนื่องทับซ้อนมากขึ้น ผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้หาเช้ากินค่ำไม่สามารถหารายได้ในช่วงโควิด-19 มาจุนเจือครอบครัว ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ในครัวเรือน ประกอบกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศให้มีการปิดโรงเรียนก็กระทบต่อเด็กในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้เด็กในโรงเรียนที่มีโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอหรืออยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยขาดการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม รวมไปถึงผู้ปกครองต้องรับผิดชอบดูแลเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษในระหว่างปิดโรงเรียน

แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการในการควบคุมผู้ติดเชื้อในภายหลัง แรงงานรายวันก็ยังคงเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงในการนำเชื้อมาติดสมาชิกในครอบครัว ผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ทำให้เด็กที่มีสมาชิกในครอบครัวติดโควิดนำความเสี่ยงไปยังโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนรับภาระหนักในการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพการเรียนรู้

งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาการดูแลและสวัสดิการที่ครอบครัวเปราะบางได้รับ โดยพบว่าครอบครัวเปราะบางส่วนใหญ่ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้ แต่ภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังอยู่บนบ่าของครอบครัวไทย เด็กบางส่วนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบางสวัสดิการอย่างการเรียนฟรีได้เต็มที่ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนไปโรงเรียน เช่น ไม่มีผู้ปกครองไปส่งหรือถนนหนทางไม่สะดวกต่อการไปโรงเรียน นอกจากนี้สวัสดิการเด็กบางอย่างยังไม่เพียงพอต่อเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ เด็กที่มีภาวะออทิสติก หรือเด็กพิการ เป็นต้น

ด้านครอบครัวแรงงานข้ามชาติ งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการที่เชื่อมโยงกับสถานะพลเมืองและการเข้าเมืองของครอบครัวแรงงานข้ามชาติอันเป็นปัญหาตั้งต้นและเรื้อรังต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงก่อนจนถึงหลังโควิด-19 เด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้อย่างแท้จริง เนื่องด้วยเด็กไม่มีสถานะทางทะเบียน ยิ่งเมื่อหลังโควิด-19 ส่งผลให้ครอบครัวข้ามชาติบางส่วนขาดรายได้และไม่สามารถรักษาต่อสถานะดังกล่าวก็ยิ่งทำให้ครอบครัวข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการได้ อีกทั้งข้อมูลยังเผยให้เห็นว่าเหตุการณ์รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในประเทศพม่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายลูกหลานแรงงานข้ามชาติเพื่อเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย


สร้อยมาศ รุ่งมณี


ข้อเสนอในการดูแลเด็กและเยาวชนจากงานชิ้นนี้จึงอาจสรุปได้ 4 ประการได้แก่

(1) ให้ความสำคัญกับรัฐบาลท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ เพื่อสร้างสวัสดิการที่สามารถตอบโจทย์คนในพื้นที่อย่างแท้จริง พร้อมทั้งอบรม ให้ความรู้รัฐบาลท้องถิ่นในการช่วยเหลือครอบครัวเปราะบาง ไม่ให้เด็กในครอบครัวเปราะบางถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

(2) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาเด็กในระดับชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยครูในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ตัวแทนอปท. เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานแก้ไขปัญหาสำหรับเด็กที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง และทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เด็กอาจได้รับร่วมกับหน่วยงานภายนอก และนักวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักจิตวิทยา นักโภชนาการ ฯลฯ

(3) รัฐจัดสรรสวัสดิการในรูปแบบเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและจัดเตรียมทรัพยากร บุคลากรหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อเติมเต็มความทับซ้อนของครอบครัวเปราะบางและสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม

(4) ยกระดับระบบการจ้างงานและสวัสดิการให้เข้าถึงง่าย รวมถึงการเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมให้เคารพความเป็นมนุษย์ เพื่อไม่ให้ครอบครัวแรงงานข้ามชาติถูกกันออกจากสวัสดิการและถูกตีกรอบเป็นคนนอก ทั้งที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

ในช่วงท้ายผู้วิจัยได้ให้ความเห็นถึงความท้าทายและข้อสังเกตเพิ่มเติมจากการทำวิจัยชิ้นนี้ โดยสร้อยมาศเผยว่าบริบทของชุมชนไทยที่มีคติ ‘ความในอย่านำออก ความนอกอย่าเอาเข้า’ ทำให้ชาวบ้านอายและไม่กล้าสื่อสารถึงปัญหาครอบครัวโดยตรง ขณะที่บุศรินทร์ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ครอบอยู่อาจมีส่วนทำให้ครอบครัวฝั่งหญิงต้องรับมรดกความเปราะบางและภาระในการดูแลลูกและครอบครัวมากกว่าครอบครัวฝั่งชาย

“สิ่งที่ค่อนข้างตกใจก็คือว่าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เองที่สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีบทบาทโดยตรงในการดูแลคนเปราะบาง แต่การจัดสรรสวัสดิการกลับอยู่บนฐานของงบประมาณที่กระทรวงได้รับ การจัดสรรงบประมาณก็ถูกกระจายไปในพมจ.แต่ละพื้นที่ว่ามีโควตาควรจะได้รับเท่าไหร่ ซึ่งมันกลายเป็นว่าการดูแลอยู่บนกรอบของงบประมาณมากกว่าที่จะอยู่บนฐานของสถานการณ์ความเปราะบาง” วาสนาตั้งข้อสังเกตปิดท้าย พร้อมให้ความเห็นว่าวิธีคิดในการจัดสวัสดิการของรัฐควรจะวางอยู่บนฐานของสถานการณ์ความเปราะบาง มากกว่าจัดตามโควตาและควรคำนึงถึงความหลากหลายของปัญหาที่เด็กเผชิญ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความยืดหยุ่น


วาสนา ละอองปลิว


เงินอุดหนุนต้องเพียงพอ และระบบคุ้มครองดูแลต้องมีคุณภาพ


ธร ปีติดล กล่าวว่า “งานวิจัยนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับคนทำงานนโยบายที่ทำงานภาพใหญ่ โดยเฉพาะการลงไปดูรายละเอียดของแต่ละครอบครัว และทำให้เห็นความเปราะบางลึกลงไปจากตัวเลข ทั้งยังเผยให้เห็นความทับซ้อนและละเอียดอ่อนของครอบครัว เช่น ครัวเรือนแหว่งกลางที่ไม่ได้มีเพียงลักษณะพ่อแม่ไปทำงานต่างพื้นที่ แต่ยังมีลักษณะครัวเรือนแหว่งกลางที่พ่อแม่หย่าร้างและไม่ได้เลี้ยงดูลูก” นอกจากนี้ ธรยังมองว่า การฉายภาพความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีพลวัตของครอบครัวไทยที่ไม่ตั้งอยู่บนฐานครอบครัวแบบคนชนชั้นกลางในเมือง คือหัวใจสำคัญของการทำนโยบายเด็กและครอบครัว


ธร ปีติดล


ธรเสนอให้เพิ่มสวัสดิการเงินอุดหนุนบุตร เนื่องด้วยปัจจุบันเงินอุดหนุนบุตรมีจำนวนเพียง 600-1,000 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยบริโภคต่อหัวของครัวเรือไทยอยู่ที่ 4,000-5,000 บาท ทำให้เงินดังกล่าวไม่ได้มีบทบาทในการพยุงฐานะของครอบครัว และไม่สามารถเปลี่ยนคุณลักษณะการใช้ชีวิตของครัวเรือนย้ายถิ่นได้ พร้อมเสนอให้ปฏิรูปทั้งระบบสวัสดิการ เนื่องจากปัญหาเปราะบางของครอบครัว มีทั้งเด็กและเยาวชน แรงงานและผู้สูงอายุเกี่ยวข้องจึงต้องปรับปรุงให้ครบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงระบบประกันสังคมให้มีความยืดหยุ่นสอดรับภาวะเข้า-ออกของแรงงานในประเทศและแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ และสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุ

อีกทั้งยังเห็นด้วยเรื่องการจัดทำระบบคุ้มครองดูแลครอบครัวร่วมกันระหว่างชุมชนและท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการและกลุ่มคนเปราะบางผ่านการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เตรียมความพร้อมกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้ในการดูแลเด็กและครอบครัว และนักจิตวิทยา นักบำบัดที่จะช่วยดูแลเด็กที่มีปัญหา ฯลฯ โดยธรเชื่อว่าระบบคุ้มครองนี้เองจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความแตกต่างในระยะยาว ขณะเดียวกันเขาก็ตั้งคำถามท้าทายถึงเส้นแบ่งระหว่างการทำหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือของภาครัฐว่าจะสามารถทำหน้าที่แทนครอบครัวที่แท้จริงได้แค่ไหน


ลดชายเป็นใหญ่ในครอบครัว สนับสนุนการรวมกลุ่มของชุมชน


จะเด็จเกริ่นว่างานวิจัยนี้ช่วยให้สังคมไทยตระหนักถึงภาวะครอบครัวเปราะบางในประเทศไทย โดยเขาได้เพิ่มเติมมุมมองที่น่าสนใจด้วยการเชื่อมโยงวิธีการมองครอบครัวไทยกับนโยบายรัฐ และปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ เช่น ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเพิ่มที่ต่ำ ส่งผลต่อรายได้ของครอบครัวไทย ประเด็นเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาทที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือกระทั่งเบี้ยชราภาพที่ยังมีสัดส่วนไม่มากพอจะช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงปัญหาในครอบครัวกับการใช้อำนาจของคนในครอบครัว เช่น การใช้อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ในครอบครัว การมองเด็กเป็นสมบัติของครอบครัว เพื่อควบคุมหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก

“ปัญหาปัจเจกเกิดจากนโยบายแย่ที่ทับถมกันจนเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าข้อเสนอต้องไปประกอบไปด้วยหลายส่วน ข้อเสนอในเชิงสวัสดิการที่รัฐบาลท้องถิ่นทำไม่ได้ก็จำเป็น เพราะจะมีผลต่อคนในท้องถิ่น เช่น อุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท เบี้ยชราภาพ เงินพวกนี้ทำให้กลุ่มเปราะบางมีกำลังในการช่วยตัวเอง ขณะเดียวกันต้องทำงานควบคู่กับการปรับวิธีคิดในการทำความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศภายในครอบครัว” จะเด็จกล่าวถึงข้อเสนอในการลดความเปราะบางครอบครัวไทย


จะเด็จ เชาวน์วิไล


นอกจากนี้ จะเด็จได้กล่าวถึงสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนอยู่ ได้แก่ การเพิ่มวันลาคลอด การปรับทัศนคติของผู้ชายให้ดูแลลูก การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในภาคอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน เพื่อให้พ่อแม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูลูก ขณะที่ข้อเสนอของงานชิ้นนี้ที่กล่าวถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในการสร้างคณะทำงานเพื่อดูแลครอบครัวเปราะบาง เขาเห็นว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะต้องมีการโอนย้ายโรงเรียน หรือโรงพยาบาลไปยังหน่วยงานท้องถิ่น และปฏิรูปงบประมาณ เพื่อเพิ่มอำนาจท้องถิ่นในการจัดการความเป็นอยู่ของครอบครัวไทย

ไม่เพียงเท่านั้นจะเด็จยังเน้นย้ำถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของกระบวนการประชาชนและสนับสนุนการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในการพัฒนาสวัสดิการสำหรับครอบครัวไทย รวมถึงมีบทบาทเข้มแข็งในการจัดการกับวิกฤตในอนาคต



หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงาน ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ “นโยบายเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต: ขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของเด็กไทย” โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ครอบครัวเปราะบาง

ครอบครัวเปราะบาง

วิจัย/เขียน

กรกมล ศรีวัฒน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19

101 PUB ชวนสำรวจความซับซ้อนของครอบครัวเปราะบางในสังคมไทย เข้าใจความท้าทายในการดูแลเด็กและสมาชิกเปราะบางของครอบครัวเหล่านั้น พร้อมทั้งเสนอนโยบายเพื่อสนับสนุนพวกเขาในการก้าวข้ามความท้าทาย

Research Roundup 2022 : “จินตนาการใหม่-แผลเป็น-เปราะบาง” : อนาคตนโยบายเด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต

พบกับการนำเสนองานวิจัยและวงสนทนาความรู้ 4 วงใน 4 หัวข้อแห่งยุคสมัยว่าด้วยนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้

25 September 2022

“ความช่วยเหลือไม่ใช่แค่การแจกเงิน แต่ต้องมองลึกถึงรายละเอียดปัญหา” สำรวจครอบครัวไทยในภาวะเปราะบาง กับ บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

101 ชวน ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตกุล เล่าประสบการณ์จากการลงพื้นที่สำรวจสภาวะครอบครัวเปราะบางในสังคมไทย ทั้งครอบครัวไทยและครอบครัวแรงงานข้ามชาติ

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.