ผ่าตัดใหญ่โครงสร้างราคาน้ำมัน ช่วยให้น้ำมันถูกลงหรือไม่?

นโยบายลดค่าครองชีพและปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน ถือเป็นนโยบาย ‘สำคัญ’ และ ‘เร่งด่วน’ ของรัฐบาลเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล[1]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2023). คำแถลงการณ์นโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา. หน้า 5; สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. … Continue reading เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งผู้มีรายได้น้อยมักจะเดือดร้อนมากที่สุด เพราะมีสัดส่วนการบริโภคสินค้าที่อ่อนไหวต่อวิกฤตเงินเฟ้อ เช่น อาหารสด พลังงาน มากกว่ากลุ่มอื่น ทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องรับความคาดหวังของประชาชนในการแก้ปัญหาเหล่านี้

หนึ่งในวิธีการลดราคาน้ำมันในสายตารัฐบาล คือการปรับ ‘โครงสร้างราคาน้ำมัน’ ทั้งเปลี่ยนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน วิธีอ้างอิงราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นจากการอ้างอิงตามกลไกตลาดเป็นการกำหนดราคาเองตามต้นทุนจริง และเปลี่ยนวิธีการลดความผันผวนของราคาน้ำมันจากการใช้กองทุนน้ำมันมาเน้นระบบน้ำมันสำรองแห่งชาติให้มากขึ้น (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องสมทบเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีกต่อไป รวมถึงการย้ายอำนาจการเก็บภาษีน้ำมันจากมือกระทรวงการคลังสู่มือกระทรวงพลังงาน การแก้กฎระเบียบในประเด็นเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ ‘การลดราคาน้ำมัน’ รวมถึงยกระดับความมั่นคงทางพลังงานให้มากยิ่งขึ้น

แล้วการปรับแก้กฎระเบียบเหล่านี้จะส่งผลต่อการลดราคาน้ำมันได้จริงหรือไม่? 101 PUB ชวนผู้อ่านประเมินกลไกและข้อจำกัดในการควบคุมน้ำมันแบบปัจจุบัน สำรวจความพยายามของกระทรวงพลังงานในการปรับกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงประสิทธิผลของการปรับกฎระเบียบต่อราคาน้ำมัน

โครงสร้างราคาน้ำมันประเทศไทยเป็นอย่างไร? ใครกำหนด?

น้ำมันที่เราเติมที่ปั๊มไม่ได้ถูกกำหนดราคามาจากต้นทุนของน้ำมันดิบและการกลั่นเท่านั้น แต่ราคาขายยังสูงกว่าราคาหน้าโรงกลั่น เพราะต้องบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าสมทบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าสมทบกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และค่าการตลาดที่แบ่งให้ตามปั๊มน้ำมันแต่ละแห่ง ตามตัวอย่างในภาพที่ 1 ดังนั้นแล้วราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นจึงเป็นเสมือนกับราคาน้ำมันฐานเท่านั้น

ภาพที่ 1: โครงสร้างราคาน้ำมันดีเซล B7
ที่มา: สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
หมายเหตุ 1: ภาษีมูลค่าเพิ่มนับรวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาขายส่งและค่าการตลาด
หมายเหตุ 2: ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2024

อำนาจการกำหนดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับน้ำมันก็ถูกกระจายออกตามกระทรวง โดยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับภาษี หน่วยงานที่มีอำนาจกำหนดคือกระทรวงการคลัง ผู้มีอำนาจกำหนดอัตราค่าสมทบกองทุนน้ำมันและอนุรักษ์พลังงาน คือกระทรวงพลังงาน ส่วนราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นอ้างอิงจากราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นในตลาด SIMEX ของประเทศสิงคโปร์ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกมากที่สุดประเทศหนึ่ง

กลไกการตรึงราคาในปัจจุบันมีต้นทุนสูงและทำได้เพียงชั่วคราว

ในปี 2024 รัฐบาลประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 33 บาท/ลิตร[2]ตรวจสอบการดำเนินนโยบายพลังงานย้อนหลังได้ในเว็บไซต์ Policy Watch. โดยปัจจุบันรัฐบาลมีกลไกอยู่สองส่วนในการควบคุมราคาไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร คือหนึ่ง ลดอัตราภาษีที่เก็บกับน้ำมัน เช่น ภาษีสรรพสามิต สอง ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนส่วนต่างที่เกินมาจากระดับราคาที่ตรึงไว้ ทั้งนี้ในช่วงเวลาอื่นที่ราคาน้ำมันไม่แพงอย่างในปัจจุบัน ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะถูกบวกเพิ่มจากราคาน้ำมันเดิม และนำมาสมทบกองทุนน้ำมัน

แม้กลไกการตรึงราคาเหล่านี้จะเห็นผลเร็วแต่ก็เป็นนโยบายระยะสั้นและทำได้ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากการลดภาษีที่เก็บกับน้ำมันย่อมหมายความว่ารัฐบาลจะมีรายได้ลดลง ในอีกความหมายหนึ่งกลไกนี้จึงเป็นเสมือนการจ่ายเงินอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันผ่านกลไกงบประมาณ ซึ่งไม่เหมาะกับบริบทของการคลังไทยที่กำลังเผชิญปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ส่งผลต่อฐานะทางการคลังของประเทศในระยะยาว ส่วนกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเงินมาอุดหนุนส่วนต่างก็ถือเป็นกลไกที่ช่วยพยุงราคาน้ำมันได้ชั่วคราว หากเกิดสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยาวนาน กองทุนก็จำเป็นต้องแบกภาระขาดทุนที่มากเกินไปจนมีหนี้มหาศาล

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงวิกฤตราคาน้ำมันในปี 2022 ที่ทำให้กองทุนน้ำมันต้องจ่ายเงินเพื่อตรึงราคาน้ำมันมากกว่า 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์สุทธิลดลงจาก 34,338 ล้านบาทในไตรมาส 1/2021 เป็น -82,674 ล้านบาทในไตรมาส 3/2022 ซึ่งเป็นไตรมาสที่กองทุนน้ำมันมีหนี้สินมากที่สุด (ภาพที่ 2) และ ณ ตอนนี้กองทุนก็ยังมีสินทรัพย์สุทธิติดลบอยู่ นั่นแสดงว่าเงินที่เราต้องจ่ายสมทบให้กองทุนน้ำมันตามตารางที่ 1 คือการใช้หนี้เก่าที่เคยจ่ายส่วนต่างราคาไปในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง

ภาพที่ 2: มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทน้ำมัน (ล้านบาท)
ที่มา: สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
หมายเหตุ: ไตรมาส 4 ปี 2024 คือฐานะกองทุน ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2024
ชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงราคาน้ำมัน ก่อนบวกเงินสมทบกองทุนน้ำมัน
(บาท/ลิตร)
เงินสมทบกองทุนน้ำมัน (บาท/ลิตร)ราคาน้ำมันที่จ่ายจริง (บาท/ลิตร)
เบนซิน 9533.710.744.4
แก๊สโซฮอล์ 95 E1031.64.636.2
แก๊สโซฮอล์ 9131.24.635.8
แก๊สโซฮอล์ 95 E2031.42.634.0
แก๊สโซฮอล์ 95 E8532.61.233.8
ดีเซล B730.62.332.9
ตารางที่ 1: ราคาน้ำมันก่อนบวกเงินสมทบกองทุนน้ำมัน เงินสมทบกองทุนน้ำมัน และราคาน้ำมันที่จ่ายจริง แบ่งตามประเภทน้ำมัน
ที่มา: สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2024

กระทรวงพลังงานกำลังจะแก้กฎระเบียบโดยคาดว่าจะช่วยลดราคาน้ำมัน

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศแนวทางการลดราคาน้ำมันผ่านการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำมันสามส่วน คือ

  1. เปลี่ยนการอ้างอิงราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น จากตลาดสิงคโปร์เป็นการกำหนดราคากลางตามต้นทุนจริง หรือ Cost–Plus ซึ่งจะช่วยการเพิ่มอำนาจกระทรวงพลังงานในการกำหนดราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นรายเดือนจากเดิมที่ขึ้นกับกลไกตลาดโลกมาเป็นต้นทุนการผลิตภายในประเทศ[3]ฐานเศรษฐกิจ. (25 กันยายน 2024). “พีระพันธุ์” รื้อขนานใหญ่ราคาน้ำมันไทย ตั้งราคากลาง-ปรับได้เดือนละครั้ง. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2024.
  2. เปลี่ยนกลไกการควบคุมความผันผวนของราคาน้ำมัน จากระบบกองทุนน้ำมันสู่การเก็บน้ำมันสำรองแทน ด้วยการเปลี่ยนจากการจ่ายเงินสมทบกองทุนน้ำมัน ซึ่งภาระตกอยู่ที่ผู้ซื้อน้ำมันเป็นการเก็บน้ำมันจากผู้ค้าแทน ควบคู่กับการขยายระยะเวลาสำรองน้ำมันจาก 25 วัน เป็น 90 วัน[4]ประชาชาติธุรกิจ. (6 กรกฎาคม 2024). ชูโมเดล ตปท.ตุนน้ำมันสำรอง 90 วัน รัฐควักเป๋าถือเป็นทุนสำรอง. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2024. รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยลดราคาน้ำมันได้ 2.5 บาท/ลิตร[5]ประชาชาติธุรกิจ. (27 พฤศจิกายน 2024). “พีระพันธุ์” ตรึงค่าไฟ-ดีเซลอีก 3 เดือน ดัน กม.สำรอง SPR กดน้ำมันถูกลง 2.50 บาท. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2024. เนื่องจากผู้ซื้อน้ำมันไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อสมทบกองทุนน้ำมันอีกต่อไปแล้ว
  3. ถ่ายโอนอำนาจการกำหนดอัตราภาษีน้ำมันให้มาอยู่ในมือกระทรวงพลังงาน จากปัจจุบันที่อำนาจอยู่กับกระทรวงการคลัง ช่วยให้กระทรวงพลังงานมีทางเลือกควบคุมราคาน้ำมันมากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อราคาน้ำมันแพง กระทรวงพลังงานอาจเลือกลดอัตราภาษีสรรพสามิตแทนการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเข้าอุดหนุนส่วนต่าง

กฎระเบียบที่กำลังจะแก้อาจไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันลดลงเสมอไป และอาจสร้างต้นทุนอื่นแก่สังคม

การแก้กฎระเบียบเหล่านี้มีเป้าหมายสุดท้ายคือการลดราคาน้ำมันเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่ปลายทางของมันก็อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง

การตั้งราคากลางของน้ำมัน ณ โรงกลั่นเพื่อให้สะท้อนต้นทุนจริงของทุกรายนั้นทำได้ยาก เนื่องจากต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่นแต่ละโรงไม่เท่ากัน[6]อ่านเพิ่มเติม วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล, ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ และจิราวัลย์ จิตรถเวช. (ม.ป.ป.). ปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น … Continue reading หากรัฐเลือกใช้ระดับราคาต่ำ ก็จะทำให้ผู้ผลิตส่วนมากหรือทั้งหมดไม่มีแรงจูงใจการผลิต แต่หากรัฐตั้งราคากลางสูงเกินไป ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ไม่ตั้งราคาขายให้ถูกตามต้นทุน และหากตั้งราคาให้สูงเท่ากับที่รัฐกำหนด ก็จะส่งผลให้การเปลี่ยนราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นเป็นระบบ Cost-Plus ซึ่งไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันมีราคาถูกตามต้นทุนการกลั่นเท่าที่ควร

การอ้างอิงราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นแบบ Cost–Plus ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง เพราะหากรัฐกำหนดราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นของไทยถูกกว่าราคาตลาดโลก ผลคือโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจะมีแรงจูงใจในการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังต่างประเทศมากขึ้นและลดแรงจูงใจในการขายน้ำมันในประเทศลง สุดท้ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจะขาดแคลนและราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นจะเพิ่มขึ้นจนเท่ากับราคาตลาดโลก ในทางตรงข้ามหากโรงกลั่นเลือกจะขายน้ำมัน ณ โรงกลั่นในราคาที่แพงกว่าราคาตลาด ผู้ใช้น้ำมันก็จะสรรหาช่องทางต่างๆ ในการซื้อน้ำมันนำเข้าที่มีราคาถูกกว่าแทนจนทำให้สุดท้ายโรงกลั่นจะต้องลดราคาลงมาเพื่อสู้กับน้ำมันนำเข้า ดังนั้นแล้วหากกระทรวงพลังงานจะเปลี่ยนวิธีอ้างอิงราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ก็จำเป็นต้องวางมาตรการควบคุมการนำเข้า–ส่งออกน้ำมันให้เข้มขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน การพัฒนาระบบเก็บสำรองน้ำมันผ่านการขยายระยะเวลาเก็บสำรองน้ำมันก็ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดว่าระบบดังกล่าวจะเป็นอย่างไร? ใครคือผู้ลงทุนในระบบกักเก็บและบริหารจัดการน้ำมันสำรอง? ในกรณีรัฐเป็นผู้บริหารจัดการ ก็จำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการและลงทุนในระบบกักเก็บและบริหารจัดการให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะท้าทายกว่าการใช้กลไกกองทุนน้ำมันแบบเดิม[7]ประชาชาติธุรกิจ. (27 พฤศจิกายน 2024). “พีระพันธุ์” ตรึงค่าไฟ-ดีเซลอีก 3 เดือน ดัน กม.สำรอง SPR กดน้ำมันถูกลง 2.50 บาท. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2024. โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าจะทำให้ต้นทุนการบริหารคลังน้ำมันและการบริหารจัดการสต็อกถูกจนคุ้มค่าได้หรือไม่? หรือหากให้เอกชนเป็นผู้บริหารจัดการหรือลงทุนเอง รัฐจะมีการชดเชยต้นทุนในส่วนนี้อย่างไร? สุดท้ายเงินชดเชยที่จ่ายไปจะแฝงมากับราคาน้ำมันหรือไม่? ล้วนเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบ

นอกจากนี้ การถ่ายโอนอำนาจการกำหนดอัตราภาษีให้กระทรวงพลังงานก็อาจสร้างแรงจูงใจในการบิดเบือนราคาน้ำมันให้ต่ำ โดยมีต้นทุนที่ต้องแลกคือสถานะการคลังของรัฐที่อาจอ่อนแอลง เนื่องจากการถ่ายโอนอำนาจแบบนี้จะแยก ‘ผู้ดำเนินนโยบายกำหนดอัตราภาษีน้ำมัน’ กับ ‘ผู้รับผิดรับชอบจากนโยบายกำหนดอัตราภาษี’ ออกจากกัน พรรคการเมืองที่คุมกระทรวงพลังงานไม่จำเป็นต้องแบกต้นทุนของนโยบาย มีแนวโน้มจะใช้อำนาจในการลดการเก็บภาษีน้ำมัน เพื่อหวังสร้างคะแนนนิยมมากกว่าแค่การลดค่าครองชีพให้เป็นธรรม ผลคือกระทรวงการคลัง (ที่ควบคุมโดยพรรคการเมืองคนละพรรค) จะเก็บภาษีได้น้อยลง ซ้ำเติมปัญหาการขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะให้รุนแรงมากขึ้น

ในอนาคตข้อเสนอปรับกฎระเบียบเหล่านี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นเพราะกฎหมายเหล่านี้ (อาจ) ได้เข้าสภา สิ่งที่เราต้องติดตามต่อไปคือการปรับแก้กฎระเบียบเหล่านี้จะมีความเป็นไปได้ทางการเมืองมากแค่ไหน? โดยเฉพาะประเด็นการถ่ายโอนอำนาจการกำหนดอัตราภาษีจากกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง หรือถ้าหากการปรับกฎระเบียบเหล่านี้เกิดขึ้นจริง จะส่งผลต่อราคาน้ำมันที่เราต้องจ่ายหน้าปั๊มน้ำมันมากแค่ไหน? ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ รีวิวนโยบายรัฐบาลส่งท้ายปี 2024 ของ 101 PUB

References
1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2023). คำแถลงการณ์นโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา. หน้า 5; สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2024). คำแถลงการณ์นโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา. หน้า 4.
2 ตรวจสอบการดำเนินนโยบายพลังงานย้อนหลังได้ในเว็บไซต์ Policy Watch.
3 ฐานเศรษฐกิจ. (25 กันยายน 2024). “พีระพันธุ์” รื้อขนานใหญ่ราคาน้ำมันไทย ตั้งราคากลาง-ปรับได้เดือนละครั้ง. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2024.
4 ประชาชาติธุรกิจ. (6 กรกฎาคม 2024). ชูโมเดล ตปท.ตุนน้ำมันสำรอง 90 วัน รัฐควักเป๋าถือเป็นทุนสำรอง. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2024.
5, 7 ประชาชาติธุรกิจ. (27 พฤศจิกายน 2024). “พีระพันธุ์” ตรึงค่าไฟ-ดีเซลอีก 3 เดือน ดัน กม.สำรอง SPR กดน้ำมันถูกลง 2.50 บาท. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2024.
6 อ่านเพิ่มเติม วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล, ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ และจิราวัลย์ จิตรถเวช. (ม.ป.ป.). ปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน. สืบค้นวันที่ 10 ธันวาคม 2024.

บทความที่เกี่ยวข้อง

รีวิว 15 นโยบายรัฐบาลส่งท้ายปี 2024

ประเมินผลลัพธ์ ติดตามความคืบหน้าและไม่คืบหน้าของ 15 นโยบายเด่นของรัฐบาลในปี 2024

29 December 2024
Soft Power without Power, without Future?

Soft Power without Power, without Future?

101 PUB ชวนสำรวจว่ารัฐบาลเดินหน้านโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หรือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ แบบใด? และไปถึงไหน? มีประเด็นอะไรที่น่าจับตาต่อไปในปีหน้า

‘นโยบายแก้หนี้’ แสงสว่างท่ามกลางวิกฤตหนี้ครัวเรือน?

ปี 2024 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือนทั้งหนี้ใน/นอกระบบ ผ่านการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ แต่นโยบายเหล่านี้จะเป็นอย่างไร? จะแก้หนี้ได้หรือไม่?

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.