การจัดสรรเงินทุนและธรรมาภิบาลของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

การจัดสรรเงินทุนและธรรมาภิบาลของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

ประเด็นสำคัญ

  • การจัดสรรเงินทุนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มีลักษณะมุ่งสนับสนุนนโยบาย แผน และผลประโยชน์ของหน่วยงานภาครัฐเป็นพิเศษ หลายกรณีผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนอย่างสิ้นเชิง

  • ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการตีความกฎหมายอย่างไม่เหมาะสม ขณะที่องค์กรตัดสินใจของ กทปส. เช่น คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่างๆ ก็ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐในสัดส่วนสูงมาก

  • กทปส. เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อสาธารณะผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จำกัด ขาดความโปร่งใส

  • ควรปฏิรูปโครงสร้างและธรรมาภิบาลของ กทปส. โดยลดสัดส่วนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐในองค์กรตัดสินใจ แล้วเพิ่มสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายทดแทน เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อสาธารณะอย่างครบถ้วน

สรุปประเด็นสำคัญ

  • กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. คือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงาน กสทช. ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยมีเป้าหมายสาธารณะตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากร และการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยมีการจัดสรรเงินทุนหลายพันล้านบาทต่อปีให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการ มหาวิทยาลัย เอกชน และมูลนิธิ
  • การตรวจสอบข้อมูลการให้ทุนระดับโครงการ โดยจำแนกตามวัตถุประสงค์ในกฎหมาย ประเภทของทุน และหน่วยงานที่ได้รับทุน พบปัญหาหลายประการดังนี้
    • การตีความ “การบริการทั่วถึง” ในมาตรา 52(1) ให้ครอบคลุมถึงการสนับสนุนการผลิตสื่อที่มีเนื้อหา “อะไรก็ได้” โดยเฉพาะการให้ทุนผลิตสื่อกับหน่วยงานรัฐเพื่อผลิตเนื้อหาที่ตอบสนองวัตถุประสงค์หรือประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐเป็นหลัก เช่น โครงการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชิงแชมป์ประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือโครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อความมั่นคงของกองทัพบก กรมการทหารสื่อสาร เป็นต้น
    • การตีความ “บริการทั่วถึง” ในมาตรา 52(1) โดยไม่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมโดยตรง เช่น โครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสาร กระทรวงกลาโหม เป็นต้น
    • การตีความว่า “การวิจัยและพัฒนา” และ “การสนับสนุนและพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร” ในมาตรา 52(2) เป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTs) แม้จะไม่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมโดยตรง เช่น โครงการศึกษานวัตกรรมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความปลอดภัยสูง กระทรวงกลาโหม หรือโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านพระพุทธศาสนา (Buddhism Big Data) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น
    • การให้ทุนฝึกอบรมบุคลากรตามมาตรา 52(3) ในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เช่น โครงการส่งเสริมและสร้างการรับรู้นวัตกรรมด้านการปลูกและการผลิตกัญชาพืชสมุนไพรทางเลือกของกลุ่มอาชีพเกษตรกรรมพืชสมุนไพร ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในยุค 5G มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น
    • การให้ทุนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 52(4) ในสัดส่วนที่น้อยเกินไปและลดลงในช่วงหลัง รวมถึงการตีความเป้าหมายการคุ้มครองผู้บริโภคที่แคบเกินไป โดยขาดมิติความเป็นพลเมืองและการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงโครงสร้าง
    • ทุนประเภทที่ 1 ซึ่งเป็นทุนเปิดกว้างให้กับผู้ขอทุนที่มีโครงการคุณภาพ สร้างสรรค์ และสอดคล้องกับเป้าหมายของ กสทช. บนฐานของการแข่งขัน ได้งบประมาณน้อยกว่าทุนที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนด (ทุนประเภท 2) และยิ่งน้อยกว่าทุนจากนโยบาย กสทช. (ทุนประเภท 3) ซึ่งทุนสองประเภทหลังเปิดให้มีการแทรกแซงทางการเมืองได้ง่ายกว่า
    • การให้ทุนประเภท 2.2 กรณีทำความตกลงกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งเปิดให้หน่วยงานของราชการเสนอโครงการขอรับทุนโดยตรง ไม่เพียงมีปัญหาในแง่ข้อกฎหมาย แต่ยังเปิดให้หน่วยงานรัฐได้รับโครงการที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 52 และเป็นไปเพื่อสนองตอบเป้าหมายของหน่วยงานเท่านั้น เช่น การจัดประกวดร้องเพลง การผลิตอนิเมชันในรูปแบบ DVD Box Set การประกวดหนังสั้น การพัฒนาระบบฐานข้อมูล เป็นต้น
    • ทุนประเภท 3 หรือทุนที่ กสทช. ประกาศกำหนด ซึ่งได้รับงบประมาณมากที่สุด พบว่า หลายโครงการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามกฎหมายของกองทุนฯ และไม่ใช่โครงการที่จำเป็นเร่งด่วน รวมถึงบางโครงการมีการอนุมัติที่ดูเฉพาะเจาะจงที่ตัวผู้รับทุนมากกว่าคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร มูลนิธิโครงการหลวง เป็นต้น
    • หน่วยงานราชการได้งบประมาณต่อโครงการสูงเมื่อเทียบกับหน่วยงานประเภทอื่น รวมถึงจำนวนหน่วยงานราชการที่ได้รับทุนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐขอทุนสนับสนุนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณแผ่นดิน
  • การวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างและธรรมาภิบาลของ กทปส. มีประเด็นและข้อเสนอดังนี้
    • องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารและอนุกรรมการกองทุนฯ เป็นตัวแทนจากหน่วยงานรัฐเกือบทั้งหมด โดยประธาน กสทช. นั่งเป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ และกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยตำแหน่งก็นั่งเป็นอนุกรรมการกองทุนฯ หลายคณะ ซึ่งส่งผลต่อดุลยภาพในการตรวจสอบและถ่วงดุลการตัดสินใจในกระบวนการให้ทุน รวมถึงมีแนวโน้มสนับสนุนหน่วยงานรัฐเป็นพิเศษ จึงควรปรับแก้องค์ประกอบของคณะกรรมการในหลายด้าน เช่น การไม่ให้ประธาน กสทช. เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยตำแหน่ง การลดสัดส่วนตัวแทนของหน่วยงานรัฐและเพิ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้เสียในองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารและอนุกรรมการกองทุนฯ เป็นต้น
    • การเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ครอบคลุม เช่น ขาดข้อมูลความเห็นการให้ทุนของกรรมการบริหารกองทุนฯ อนุกรรมการกองทุนฯ และ กสทช. และยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น กทปส. ควรเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมาย รวมถึงยกระดับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เช่น การเปิดเผยข้อเสนอโครงการ รายงานประเมินผลรายโครงการ และผลงานโครงการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรายงานวิชาการ ผลงานสื่อ สิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น
    • แผนปฏิบัติการของกองทุนฯ ยึดโยงกับหน่วยงานรัฐ/นโยบายรัฐมากเกินไป เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นราชการในกระบวนการให้ทุน ดังนั้น กทปส. ควรดึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายในกระบวนการร่างแผนแม่บท รวมถึงสำรวจและศึกษาถึงความต้องการใช้และพัฒนาทรัพยากรสื่อสารในทางที่จะเป็นประโยชน์กับสาธารณะตามมาตรา 52

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

เงื่อนไขที่ควรเรียกร้อง หาก กสทช. ‘จำต้อง’ อนุญาตดีลทรู+ดีแทค

การควบรวมทรู+ดีแทคสร้างผลกระทบต่อตลาดและผู้บริโภคอย่างรุนแรง 101 PUB เสนอเงื่อนไขขั้นต่ำที่ กสทช. ควรกำหนหาก ‘จำต้อง’ อนุญาตให้ควบรวม

19 October 2022

5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช.

101 PUB ชวนตรวจสอบ ‘เรื่องเล่า vs เรื่องจริง’ กรณีควบรวมทรู-ดีแทค ผ่านข้อมูลและกฎหมาย เมื่อ ‘ดีลใหญ่’ ครั้งนี้ส่งผลต่อผู้ใช้โทรศัพท์หลายล้านคนและอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022

101 PUB ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว” และ “สามความฝันของเยาวชนไทย”

22 August 2022
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.